Haijai.com


ยาทาแก้ผื่นคันมีอะไรบ้าง


 
เปิดอ่าน 67588

ยาทาแก้ผื่นคัน

 

 

อาการผื่นคันเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากลมพิษ แพ้สารที่สัมผัส โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง ติดเชื้อรา เชื้อเริม ผดผื่นคันจารูเหงื่ออุดตัน ฯลฯ ยาทาแก้ผื่นคัน จึงเป็นที่เรียกหาตัวหนึ่งในร้านยา ซึ่งยาประเภทนี้มีให้เลือกมากมายหลายรูปแบบ ทั้งยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาน้ำโลชั่น และยาผงสำหรับใช้ภายนอก แต่ละประเภทมีหลักการใช้ทั้งเหมือนและแตกต่างกันไป ผู้ใช้จึงควรทำความเข้าใจเพื่อให้เลือกใช้ยาได้อย่างเหมาะสม

 

 

ยาทาแก้ผื่นคันมีอะไรบ้าง

 

ยาทาแก้ผื่นคันมีหลายรูปแบบ ทั้งยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาน้ำโลชั่น และยาผงสำหรับใช้ภายนอก มีตัวยาสำคัญหลายชนิด ได้แก่

 

 ยาทาสเตียรอยด์ มีคุณสมบัติต้านการอักเสบที่ผิวหนัง และช่วยบรรเทาอาการคัน ยากลุ่มนี้มีความแตกต่างกัน ตามความแรงของยา ซึ่งความแรงของยาทาสเตียรอยด์แบ่งได้ 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ยาที่มีความแรงสูง ได้แก่ augmented betamethasone dipropionate 0.05%, clobetasol propionate 0.5% และ desoximetasone 0.05% ยาที่มีความแรงปานกลาง ได้แก่ mometasone furoate 0.1%, hydrocortisone valerate 0.2% และ triamcinolone acetonide 0.1% และกลุ่มสุดท้าย ยาที่มีความแรงต่ำ ได้แก่ fluocinolone 0.01%, hydrocortisone butyrate 0.1% และ hydrocortisone 1% และ 2.5%

 

 

หลักในการเลือกใช้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย ถ้าเป็นเด็กและผู้สูงอายุควรใช้ยาที่มีความแรงต่ำ ตำแหน่งที่เป็นและต้องการทายาก็มีความสำคัญ ถ้าเป็นบริเวณผิวบาง เช่น ใบหน้า รักแร้ ข้อพับ บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ให้ใช้ยาที่มีความแรงต่ำ แต่ถ้าเป็นผื่นแห้งหนา ให้ใช้ยาที่มีความแรงสูง และควรเลือกยาทาชนิดที่เป็นขี้ผึ้งหรือครีม กรณีที่เป็นผื่นบริเวณผมหรือขน ควรเลือกยาทาที่เป็นเจลหรือโลชั่นใส ไม่ว่าจะใช้ยาความแรงเท่าใด ก็ควรหยุดทายา เมื่ออาการหายไป

 

 

 ยาทาสเตียรอยด์ชนิดผสมกับตัวยาอื่น อาจผสมเพื่อช่วยให้ฤทธิ์แรงขึ้น เช่น สเตียรอยด์ผสมกับกรดซาลิกไซลิก (salicylic acid) ยากลุ่มนี้เหมาะใช้ลอกผิวหนังที่มีสะเก็ดหนาและแห้งแข็ง ยาสเตียรอยด์ผสมกับยูเรีย (urea) ยูเรียจะช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น และเพิ่มการดูดซึมของยาทาสเตียรอยด์ ยากลุ่มนี้เหมาะกับผิวที่แห้งหนา เป็นต้น

 

 

 ยาทาสเตียรอยด์ชนิดผสมกับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ ยาสเตียรอยด์ผสมกับนีโอมัยซิน (neomycin) ยาสเตียรอยด์ผสมกับเจนตามัยซิน (gentamicin) ฯลฯ ยากลุ่มนี้เหมาะที่จะใช้กับผื่นแพ้ที่มีการติดเชื้อ แบคทีเรียแทรกซ้อน

 

 

 ยาทาสเตียรอยด์ชนิดผสมกับยาฆ่าเชื้อรา ได้แก่ ยาสเตียรอยด์ผสมกับโคลไตราโซล ยากลุ่มนี้เหมาะกับการติดเชื้อรารุนแรงที่ผิวหนัง และควรใช้ระยะเวลาสั้นๆ เพื่อลดอาการคันในระยะแรก เมื่ออาการทุเลาลงแล้ว ควรเปลี่ยนเป็นยาต้านเชื้อราที่ไม่ผสมสเตียรอยด์

 

 

 ยาคาลาไมน์ ประกอบด้วยตัวยาคาลาไมน์และตัวยาซิงค์ออกไซด์ มีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมานและป้องกันผิว ใช้บรรเทาอาการคันเนื่องจากผด ผื่นคัน และลมพิษ

 

 

 ยาทาเชื้อรา มีทั้งยาที่ออกฤทธิ์แคบ เฉพาะเชื้อ Dermatophytosis (กลาก) ได้แก่ ยากลุ่มไทโอคาร์บาเมต (thiocarbamates) และยาที่ออกฤทธิ์กว้าง ใช้ได้ทั้งเชื้อ Dermatophytosis เชื้อ Candida albicans และเชื้อ Pityrosporum furfur (เกลื้อน) ได้แก่ ยากลุ่มอะลิลเอมีนส์ (allylamine) ยากลุ่ม azoles ได้แก่ ยาโคลไตรมาโซล (1% clotrimazole cream) ยาไมโคนาโซล (2% miconazole cream) ยาคีโตโคนาโซล (3% ketoconazole cream) ยาอีโคนาโซล (1% econazole cream) ฯลฯ

 

 

 ยาทาเริม ยาที่ใช้ทั่วไปคือ ยาอะซัยโคลเวียครีม (5% acyclovir cream) และยาสมุนไพร 5% พญายอครีม ซึ่งยาทั้ง 2 ชนิดนี้ มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส และฆ่าเชื้อไวรัสเริมได้ การใช้ยาดังกล่าว ควรใช้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มเป็น จึงจะให้ผลดี ทำให้แผลหายเร็วขึ้น

 

 

ข้อแนะนำการใช้ยาทาแก้ผื่นคัน

 

 ยาทาสเตียรอยด์ประเภทต่างๆ และยาทาเชื้อราให้ทาบางๆ วันละ 1-2 ครั้งหลังอาบน้ำ และห้ามทาบริเวณใกล้ตา สำหรับยาทาเริม ให้ทาบางๆ วันละ 5 ครั้ง ทาห่างกันทุกๆ 3-4 ชั่วโมง สำหรับยาทาคาลาไมน์ ให้ทาบางๆ บริเวณที่คัน วันละ 3-4 ครั้ง

 

 

 ยาทาสเตียรอยด์ ควรทาเป็นหย่อมๆ ตรงบริเวณที่แพ้คัน โดยทั่วไปไม่ควรทาติดต่อกันเกิน 7 วัน เมื่ออาการดีขึ้น ควรลดการใช้ยาลง

 

 

 ยาทาเชื้อรา หลังจากทายาไปประมาณ 5-7 วัน ผื่นอาจจะยุบและหายคัน ไม่ควรหยุดทายาเชื้อรา เนื่องจากเชื้อราอาจยังตายไม่หมด ควรทายาต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก ถ้าเป็นที่ผิวหนังต้องใช้ยานาน 4-6 สัปดาห์ ถ้าเป็นที่เล็บมือ นิ้วมือ จะต้องใช้เวลารักษานาน 4-6 เดือน เนื่องจากเล็บจะยาวออกมาช้ามาก เป็นต้น

 

 

 ห้ามใช้ยาครีมสเตียรอยด์ทาทั่วตัว หรือทาบริเวณกว้าง เพราะจะเพิ่มการดูดซึมยาสเตียรอยด์เข้าสู่กระแสเลือดเพิ่มขึ้น อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น เกิดโรค Cushing’s syndrome

 

 

การใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดผลเสียเฉพาะที่ได้ เช่น ถ้าทายาบริเวณหน้า หน้าอก หลัง ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดตุ่มหนองหรือสิว หรือถ้าทายาสเตียรอยด์ที่ความแรงสูง หรือปานกลางติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้สีผิวบริเวณที่ทาเป็นด่างขาวได้ หรือถ้าทายาสเตียรอยด์ที่ความแรงสูง หรือปานกลาง ณ บริเวณข้อพับ รักแร้ ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดรอยแตกของผิวที่ทาได้ หากมีผื่นผิวหนังที่มีอาการคันและสงสัยว่าจะติดเชื้อรา ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง

 

 

ภญ.ผ่องศรี พัววรานุเคราะห์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)