© 2017 Copyright - Haijai.com
ยาเพิ่มเสรีภาพสตรี
ถ้ามีใครถามว่า “ยาอะไรเอ่ยที่ผลิตขึ้นมาให้คนปกติกิน ไม่ได้รักษาโรคใดๆ แต่กินแล้วทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงมีเสรีภาพมากขึ้น สนุกสนานกับชีวิตมากขึ้น” คำตอบคือ “ยาเม็ดคุมกำเนิด” ยาตัวนี้ได้รับการขนานนามจากนิตยสารอีโคโนมิสต์ว่าเป็น “นวัตกรรมที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 20” มันทำให้ผู้หญิงมีเสรีภาพจากการตั้งท้องไม่หยุดหย่อน มีการวางแผนครอบครัว สามารถออกไปทำงานนอกบ้าน เป็นสาวออฟฟิศ สาวโรงงาน ครูอาจารย์ ไม่ต้องวนเวียนวุ่นวายอยู่แต่กับผ้าอ้อมชั่วชีวิต แต่กว่าที่ยาคุมกำเนิดจะเกิดขึ้นมาแล้วพัฒนามาจนกระทั่งให้ผู้หญิงทั้งหลายหลุดพ้น ก็ต้องผ่านอุปสรรคมากมาย ซึ่งในการนี้จำเป็นต้องมีวีรบุรุษและวีรสตรีผู้มีความคิดสร้างสรรค์ร่วมด้วยช่วยกันผลักดัน
คาร์ล เจอราสซี่ เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการถือกำเนิดของยาเม็ดคุมกำเนิด โดยเขาได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาของยาคุมกำเนิด” คาร์ลมีเชื้อสายยิว ย้ายถิ่นฐานจากออสเตรียมาอยู่สหรัฐฯ ตอนอายุ 16 ปี เขาเป็นคนที่ยากจนข้นแค้น แต่มีความขยันหมั่นเพียรและมั่นใจในตัวเองมาก เขาได้เขียนจดหมายไปขอความช่วยเหลือจาก อีลีนอร์ รูสเวลท์ สตรีหมายเลขหนึ่งในสมัยนั้น ทำให้เขาได้รับทุนไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย จนได้เป็นนักเคมีชั้นยอด เป็นศาสตราจารย์ชั้นเยี่ยม เป็นนักปฏิรูป กล้าเสี่ยง กล้าลงทุน เขาได้ประดิษฐ์ยาแก้แพ้ เป็นนักเขียนนวนิยาย เขียนบทละคร ฯลฯ แต่ที่เด่นที่สุดในชีวิตเขาคือได้รับเกียรติให้เป็นบิดาของยาคุมกำเนิด เป็นผู้ปลดปล่อยให้ผู้หญิงมีเสรีภาพในการวางแผนครอบครัว ทำงานนอกบ้าน เป็นสาวโรงงาน สาวออฟฟิศ เป็นนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นผู้หญิงเป็นใหญ่ (feminist) แทบจะเรียกว่าทำให้สตรีมีเสรีภาพทางกายและใจมากกว่า ที่ได้รับจากบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกฉบับในโลกนี้รวมกัน (จากคำไวอาลัยของการจากไปของเขาเมื่อ 30 มกราคม 2558 สิริรวมอายุ 91 ปี)
แต่ยาเม็ดคุมกำเนิดไม่ใช่สิ่งเดียวที่ช่วยปลดปล่อยให้สตรีมีเสรีภาพในโลกนี้ ยังต้องมีคนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ต่อสู้ เอาชนะขวากหนามขวางกั้นทางสังคม ตอนที่ยาคุมกำเนิดออกมาใหม่ๆ มีการโต้เถียงกันมากในสังคมเหมือนกับยาไวอากราในสมัยนี้ ที่เมื่อตอนออกมาใหม่ๆ ก็มีคนออกมาต่อต้านกันมาก สมัยนั้นการคุมกำเนิดเป็นสิ่งที่ต้องพูดกันในที่ลับ คนหัวโบราณโบร่ำคร่ำครึ อนุรักษ์นิยมต่างออกมาต่อต้านว่า ยานี้จะทำให้คนสำส่อนทางเพศ ทำให้ศีลธรรมเสื่อมทรามฟอนเฟะ
ในช่วง ค.ศ. 1960 กว่าๆ ผู้หญิงที่จะใช้ยานี้ต้องเป็นคนที่แต่งงานแล้วเท่านั้น สังคมจึงจะไม่ว่าอะไร คนที่สนับสนุนยาคุมก็เห็นว่ายานี้ จะทำให้ชีวิตสมรสมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น เพราะไม่กลัวการมีลูกมากเกินไป ไม่วิตกกังวล ไม่กลัวการท้องแบบที่ไม่ได้ตั้งใจ สามารถเอ็นจอยไลฟ์ได้มากขึ้น
ยาเม็ดคุมกำเนิดค่อยๆ คืบคลานเข้ามาในสังคมมนุษย์จนฝรั่งเรียกขานมันว่า the Pill (สะกดด้วยตัวใหญ่ที่เดียว คล้ายคำว่า God) ซึ่งเป็นสิ่งปลดปล่อยให้ผู้หญิงเป็นอิสระจากผ้าอ้อม ผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1970 ผู้หญิงอเมริกัน 70% ทำงานบ้าน 30% ทำงานนอกบ้าน แต่สมัยนี้กลับตาลปัตร ทุกวันนี้ผู้หญิงในโลกนี้ราว 100 ล้านคนเริ่มชีวิตยามเช้าด้วยการกินยาเม็ดคุมกำเนิดนี้
มาร์กาเร็ต แซงเจอร์ เป็นวีรสตรีสำคัญอีกคนหนึ่งในเรื่องนี้ เธอเป็นคริสตัง (ที่เคร่งเรื่องต้านการคุมกำเนิด) คนแรกที่รณรงค์ส่งเสริมเรื่องการคุมกำเนิด เนื่องจากคุณแม่เธอตั้งท้อง 18 ครั้ง และเสียชีวิตเมื่ออายุ 50 ปี เธอจึงมีความรู้สึกว่า การตั้งท้องมากๆ เป็นสาเหตุที่ทำให้แม่ของเธอเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้เธอมีแรงใจคิดหาหนทางต่อสู้ และตอนหลังเธอได้ไปเรียนจบพยาบาลด้วย จึงทำให้มีพื้นฐานในการต่อสู้มากขึ้น ในปี ค.ศ. 1912 มาร์กาเร็ตคิดฝันไปว่าจะมี “ยาวิเศษ” ที่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ เธอเรียกมันว่า “birth control” (เป็นครั้งแรก) ในสมัยนั้น กฎหมายที่สหรัฐยังไม่เอื้อ เธอจึงเป็นคนแรกในปี ค.ศ.1914 ที่ถูกจับ เนื่องจากทำการเผยแพร่การคุมกำเนิดในนิตยสาร “Woman Rebel” ทางไปรษณีย์ หลังจากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเธอก็ฉวยโอกาสหนีประกันไปอยู่ยุโรป 2 ปี หลังจากนั้นจึงกลับมายังสหรัฐฯ แล้วเปิดคลินิกวางแผนครอบครัวเป็นแห่งแรกที่บรุคลิน แล้วก็โดนจับอีก แต่เธอก็ไม่ย่อท้อที่จะนำการเคลื่อนไหวกระบวนการผู้หญิงเป็นใหญ่ ในปี ค.ศ. 1917 เธอได้พบกับวีรสตรีอีกคน คือ แคทเธอรีน เด็กซ์เตอร์ แม็คคอร์มิก ซึ่งจบมาทางชีววิทยา M.I.T. แคทเธอรีนเป็นคนร่ำรวย เป็นทายาทของมหาเศรษฐี และเป็นแนวร่วมที่คอยให้ความช่วยเหลือในทางการเงิน ทำให้แซงเจอร์สามารถเปิดคลินิกวางแผนครอบครัวขึ้นมาได้อีกมากมายหลายแห่ง และตรงกับช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังตกต่ำครั้งใหญ่ การวางแผนครอบครัว จึงเป็นที่ต้องการอย่างมากสำหรับผู้คนในช่วงนั้น จำนวนคลินิกจึงเพิ่มจาก 55 แห่งในปี ค.ศ. 1930 เป็น 800 แห่งในปี ค.ศ. 1942 ในปีนั้นสมาคมของแซงเจอร์ที่ชื่อ Sanger’s Birth Control League ถูกเปลี่ยนมาเป็น Planned Parenthood Federation of America
วีรบุรุษคนสำคัญอีกท่านหนึ่งก็คือ เกรกอรี พินคัส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางสรีรวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นผู้ทดลองพบว่า ฮอร์โมนเพศหญิงสามารถป้องกันการตกไข่จากรังไข่ได้ เขาได้รับความร่วมมือจากนายแพทย์จอห์น ร็อค ซึ่งฝึกอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญการรักษาผู้มีบุตรยาก ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยนายแพทย์ร็อคช่วยทำการทดลองยาคุมกำเนิดทางคลินิกที่ปัวโตริโก เนื่องจากการทดลองยาคุมกำเนิดที่สหรัฐฯ ในสมัยนั้น เป็นเรื่องผิดกฎหมาย
ในปี ค.ศ. 1959 บริษัทเวชภัณฑ์ G.D.Searle & Co. ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ ให้ปล่อยยาคุมกำเนิดตัวแรกเข้าขายในตลาดสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1960 ซึ่งเป็นการเปิดศักราชของการใช้ยานี้ และการถกเถียงเรื่องยาคุมในแง่ต่างๆ อีกมากมาย เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้วงการผู้หญิงเป็นใหญ่ เจริญก้าวหน้ามากขึ้นอย่างมากมาย
สมัยนั้นผู้นำทางศาสนาคริสต์คือพระสันตะปาปาออก มาแสดงจุดยืนต่อต้านการคุมกำเนิด แต่ฝ่ายผู้หญิงเป็นใหญ่ก็ไม่ยั่นในปี ค.ศ. 1999 นิตยสารอีโนมิสต์ได้ยกย่องยาเม็ดคุมกำเนิดว่า เป็นนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20
อีก 5 ปี the Pill ก็จะมีอายุครบ 60 ปี ไม่ทราบว่าบรรดาผู้หญิงเป็นใหญ่ในเมืองไทย จะเห็นความสำคัญถึงกับจัดเฉลิมฉลองวันสำคัญของยาตัวนี้บ้างหรือไม่ ตอนที่ยาตัวนี้อายุครบ 50 ปีในปี ค.ศ. 2010 ในเมืองไทย ไม่มีสื่อใดๆ ให้เนื้อที่ ไม่มีการถกแถลง ไม่มีสัมมนา ที่สำคัญดูเหมือนว่าไม่มีหญิงใดในเมืองไทย ให้ความสำคัญกับมันเลย
นพ.นริศ เจนวิริยะ
ศัลยแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)