© 2017 Copyright - Haijai.com
ปัสสาวะเล็ดในผู้หญิง
ด้วยลักษณะทางกายวิภาคและสรีรวิททยาของระบบปัสสาวะ และฮอร์โมนสืบพันธุ์ที่แตกต่างจากเพศชาย ผู้หญิงจึงมีปัญหาปัสสาวะเล็ดราดมากกว่าผู้ชาย ความแตกต่างนี้ ได้แก่ การที่ผู้หญิงมีกล้ามเนื้อหูรูดแข็งแรงน้อยกว่าผู้ชาย หรือการที่อายุมากขึ้นแล้วฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้เยื่อบุช่องคลอดฝ่อตัว และแห้งจนเป็นปัจจัยเสี่ยง ทำให้เกิดภาวะปัสสาวะเล็ดราด เป็นต้น การทำความเข้าใจถึงสาเหตุการรักษา และวิธีการปฏิบัติตัวจึงทำให้ผู้หญิงโดยเฉพาะในวัยสูงอายุ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับเกียรติจาก ผศ.นพ.อภิรักษ์ สันติงามกุล ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาช่วยไขปัญหาในเรื่องนี้
สาเหตุของภาวะปัสสาวะเล็ดราด
ปัจจัยต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของภาวะปัสสาวะเล็ดราดในผู้หญิงมีดังนี้
• หูรูดทางเดินปัสสาวะปิดไม่สนิท ทำให้เวลาไอจามหรือมีแรงดันในช่องท้อง ปัสสาวะจึงเล็ดออกมา
• กระเพาะปัสสาวะมีการเคลื่อนที่หรือบีบตัวผิดปกติ
• กระเพาะปัสสาวะสะสมน้ำปัสสาวะเรื่อยๆ เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถขับปัสสาวะได้ พอสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ น้ำปัสสาวะก็จะล้นออกมาภายนอก
ผู้หญิงในแต่ละวัยจะมีสาเหตุของภาวะนี้ต่างกัน ผู้หญิงที่อายุน้อยมักปัสสาวะเล็ด เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะบีบตัวผิดปกติ ผู้หญิงวัยกลางคน (อายุ 40 ปีขึ้นไป) มักจะปัสสาวะเล็ด เนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดเริ่มไม่ปกติวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป มักมาจากทั้งปัญหาที่หูรูดและการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ และผู้หญิงที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป มักพบปัญหาปัสสาวะเล็ด เนื่องจากปัสสาวะล้นจากกระเพาะปัสสาวะ อนึ่ง ผู้สูงอายุอาจจะมีสาเหตุอื่นๆ นอกจากปัจจัย 3 ประการที่กล่าวในเบื้องต้น สรุปออกมาเป็นอักษรย่อว่า DIAPPERS ซึ่งตัวอักษรแต่ละตัวมีความหมายดังนี้
• Delirium ภาวะสับสน งงงวย จำผู้คนไม่ได้ จำไม่ได้ว่าตนเองอยู่ที่ไหน เวลาเท่าไหร่ สถานที่คืออะไร มักพบในผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลเป็นเวลานานๆ
• Infection การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
• Atrophic vaginitis ภาวะช่องคลอดแห้งเวลาหมดประจำเดือน พอแห้งมากๆ ก็จะอักเสบ แล้วเกิดการระคายเคือง กระตุ้นให้เกิดปัสสาวะเล็ด
• Pharmaceutical ยาบางตัว เช่น ยาขับปัสสาวะสามารถกระตุ้นให้ปัสสาวะเล็ดได้
• Psychological disorders ความผิดปกติทางจิตใจ
• Excessive urine output ปริมาณปัสสาวะมากเกินไป เนื่องจากได้รับน้ำมากกว่าปกติ
• Restricted mobility ผู้ป่วยไม่สามารถเดินได้ เช่น ผู้ป่วยขาหัก นอนบนเตียง ภาวะดังกล่าวทำให้ปัสสาวะเล็ด เนื่องจากผู้ป่วยต้องอยู่เฉยๆ ไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้
• Stool impaction ท้องผูก
การรักษา
ในกรณีปัสสาวะเล็ดเวลาไอจามหรือมีแรงดันในช่องท้องมาก ให้บริหารกล้ามเนื้อเชิงกราน เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ถ้าบริหารอย่างถูกต้องในระยะเวลาที่พอเหมาะ ภายใน 3 เดือน ผู้ป่วย 60-80% จะมีอาการดีขึ้น สตรีทุกคนที่มีบุตรควรบริหารกล้ามเนื้อเชิงกราน วิธีการบริหารมีหลายเทคนิค อาจทำวันละ 3 ชุด ชุดละ 20 ครั้ง แต่ละครั้งให้ทำนาน 6-8 วินาที นอกจากการฝึกขมิบค้างไว้ ก็มีการฝึกขมิบค้างไว้ ก็มีการฝึกขมิบแบบเร็วๆ ประมาณ 10-20 ครั้งต่อชุด การขมิบถี่ๆ ช่วยให้กระเพาะปัสสาวะที่บีบตัวกะทันหันคลายตัวได้ นอกจากการบริหารแล้ว ยังมีการผ่าตัดใส่เทปตรงท่อปัสสาวะ ซึ่งช่วยให้ท่อปัสสาวะนิ่ง การทำงานของหูรูดดีขึ้น การผ่าตัดนี้ใช้เวลา 15-20 นาที ในระยะยาวได้ผลดีมาก แต่ไม่แนะนำให้เป็นตัวเลือกอันดับแรก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง และการผ่าตัดมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปัสสาวะลำบาก
ส่วนผู้ที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ดเนื่องจากกระเพาะปัสสาวะมีการเคลื่อนที่หรือบีบตัวผิดปกติ ให้ปรับการดำเนินชีวิตโดยการงดเครื่องดื่มคาเฟอีน (ชา กาแฟ โกโก้ น้ำอัดลม) เนื่องจากคาเฟอีนมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ นอกจากนี้ไม่ควรดื่มน้ำมากเกินไป ปริมาณน้ำที่ควรดื่มต่อวันคือ 1-1.5 ลิตร โดยค่อยๆ แบ่งดื่มไปตลอดวัน นอกจากนี้ยังมียาที่ใช้รักษาภาวะปัสสาวะเล็ด เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะบีบตัวผิดปกติ แต่ยาดังกล่าวมีผลข้างเคียงคือ ทำให้ปากแห้งคอแห้งได้
ในผู้ที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ดทั้งจากการทำงานของหูรูด และการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะที่ผิดปกติ แพทย์จะรักษาทั้งสองภาวะไปด้วยกัน โดยดูว่าภาวะไหนเด่นที่สุด ในขณะที่ผู้ที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ด เนื่องจากปัสสาวะล้นจากกระเพาะปัสสาวะนั้น แพทย์จะให้การรักษาโดยการสวนปัสสาวะที่ค้างอยู่มากผิดปกติออกมา เนื่องจากผู้ป่วยต้องสวนปัสสาวะเป็นประจำ แพทย์จะสอนให้ผู้ป่วยและญาติสามารถทำการสวนปัสสาวะได้ด้วยตนเอง
ผู้สูงอายุที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ด เนื่องจากความผิดปกติอย่างอื่น เช่น DIAPPERS นั้น ถ้าสามารถแก้ไขความผิดปกติเหล่านั้นได้ อาการปัสสาวะเล็ดก็จะดีขึ้นหรือหาปในที่สุด
การรักษาอาการปัสสาวะเล็ดให้ได้ผลดีนั้น นอกจากอาศัยการปฏิบัติตนที่ดีของผู้ป่วย การรักษาจากแพทย์แล้ว ลูกหลานและคนรอบข้างผู้ป่วยก็มีส่วนสำคัญต่อการรักษา การหมั่นสังเกตอาการโดยทั่วไปและความผิดปกติของปัสสาวะ ตลอดจนให้ข้อมูลประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยแก่แพทย์ จะช่วยให้การรักษาเป็นไปด้วยดี
ผศ.นพ.อภิรักษ์ สันติงามกุล
ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ คณะแพทย์ศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)