Haijai.com


กินถนอมไตป้องกันความเสี่ยงโรคไต


 
เปิดอ่าน 15567

กินถนอมไต

 

 

ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อการควบคุมสมดุลของน้ำ แร่ธาตุ ความเป็นกรดด่างของร่างกาย ตลอดจนยังมีบทบาทในการสังเคราะห์สารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาหารที่รับประทานสามารถมีผลต่อไตได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคไต สารอาหารที่ควรจำกัดปริมาณไม่ให้มากเกินไป ได้แก่ โปรตีน ซึ่งผู้ป่วยโรคไตต้องการโปรตีนในขนาด 0.4-0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โซเดียมไม่เกินวันละ 2,400 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัสไม่เกินวันละ 800-1,000 มิลลิกรัม การควบคุมสารอาหารดังกล่าว อาจทำได้ด้วยการจำกัดปริมาณเนื้อสัตว์ นม ถั่ว ผักสีเขียว เหลือง ส้ม แดง ม่วงเข้ม ตลอดจนงดการรับประทานอาหารเค็มจัด งดการปรุงรสอาหารเพิ่มและอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง ก่อนเลือกรับประทานอาหาร

 

 

โซเดียม

 

การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมอย่างเพียงพอ ไม่มากหรือน้อยไป ทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสม ช่วยให้ไตแข็งแรง ชะลอความเสื่อมของไต เพราะไตไม่ต้องทำงานหนัก เพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย การควบคุมอาหารที่ถูกต้องช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อน ร่างกายต้องการโซเดียมวันละ 2,400 มิลลิกรัม โดยโซเดียมที่ได้รับส่วนหนึ่งมีในธรรมชาติจากผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ ที่ยังไม่ผ่านการปรุงรสวันละ 800-1,000 มิลลิกรัม ดังนั้น จึงเหลือปริมาณโซเดียมจากอาหารและเครื่องปรุงรสต่างๆ เช่น ซีอิ๊ว น้ำปลา เกลืออีกวันละ 1,400-1,600 มิลลิกรัม เครื่องปรุงรสแต่ละชนิดจะมีปริมาณโซเดียมที่แตกต่างกัน การรับประทานอาหาร โดยไม่เติมเครื่องปรุงรส ร่วมกับการปรุงอาหารโดยใช้น้ำปลา ซีอิ๊ว น้ำมันหอย ซอสถั่วเหลือง เพียงมื้อละ 1 ช้อนชา (มีโซเดียมเฉลี่ย 500 มิลลิกรัม) จะช่วยลดการทำงานของไต ที่ต้องขับโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกาย ถ้าไตเสื่อมมากจะขับถ่ายของเสียออกไม่หมด เกลือหรือโซเดียมที่คั่งอยู่ในเลือดทำให้ตัวบวม เท้าบวม ระบบการทำงานของสมอง หัวใจ และไตจะทำงานผิดปกติ

 

 

การอ่านฉลากโภชนาการสำหรับผู้ที่รักสุขภาพและไม่มีความเสี่ยงต่อโรคไต นอกจากต้องอ่านค่าโซเดียมแล้ว ควรสังเกตปริมาณโซเดียมที่แฝงมาในรูปแบบอื่น เช่น ผงชูรส (โมโนโซเดียมกลูตาเมต : MSG) เบกกิ้งโซดา (โซเดียมไบคาร์บอเนต) ซึ่งเป็นโซเดียมอีกประเภทหนึ่ง แต่มีรสชาติแตกต่างจากโซเดียมทั่วไป คือ ไม่มีรสเค็ม หรือที่เราเรียกว่าเกลือจืด เพราะหากอาหารหรือผลิตภัณฑ์นั้น มีส่วนผสมของผงชูรส หรือเบกกิ้งโซดาในปริมาณมาก ร่างกายจะได้รับปริมาณโซเดียมเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

 

 

สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตและมีความเสี่ยงต่อโรคไต เช่น มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และผู้สูงอายุที่ไตจะเสื่อมลงตามวัย นอกจากต้องอ่านค่าของโซเดียมทุกประเภทแล้ว ควรพิจารณาปริมาณของสารอาหรและเกลือแร่อื่นๆ ที่ทำให้ไตต้องทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อขับของเสียจากร่างกาย แนวทางในการลดการรับประทานโซเดียมมีดังต่อไปนี้

 

 ลดการบริโภคอาหารรสเค็มจัด เช่น อาหารตากแห้ง อาหารหมักดอง อาหารแปรรูป อาหารฟาสต์ฟู้ด

 

 

 กินอาหารรสใกล้เคียงธรรมชาติ ลด เลิกการใส่ผงชูรสในอาหาร

 

 

 ควรชิมอาหารก่อนเติมเครื่องปรุงรสต่างๆ

 

 

 ไม่กินอาหารกรุบกรอบ เช่น มันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบ

 

 

 ใช้สมุนไพรที่มีกลิ่นหอมมาปรุงอาหาร เช่น ตะไคร้ ใบมะกรูด และเพิ่มรสเปรี้ยวจากธรรมชาติ เช่น มะนาว มะดัน มะขาม มาปรุงรสแทนรสเค็ม

 

 

 สมาชิกทุกคนในบ้านควรเป็นกำลังใจให้ผู้ที่เป็นโรคไต เช่น ไม่ซื้ออาหารที่มีรสเค็ม ไม่เก็บอาหารที่มีโซเดียมสูงไว้บนโต๊ะอาหาร

 

 

โปแตสเซียม

 

ไตทำหน้าที่ขับโปแตสเซียมที่เราได้รับเกินความต้องการ ออกจากร่างกายในรูปของเหงื่อและปัสสาวะ ถ้าไตเสื่อมการกินอาหารที่มีโปแตสเซียมสูง ทำให้ไตขับออกมาไม่ได้ ระดับสารเคมีในเลือดจะไม่สมดุล การจำกัดโปแตสเซียมในอาหาร แพทย์จะเป็นผู้กำหนดปริมาณที่ร่างกายควรได้รับใสแต่ละวัน เช่น 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้น การอ่านฉลากโภชนาการจะทำให้เราทราบปริมาณของโปแตสเซียมที่มีในอาหารแต่ละชนิด ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อได้อย่างถูกต้อง

 

 

ฟอสฟอรัส

 

ฟอสฟอรัสจากอาหารจะถูกดูดซึมผ่านลำไส้ส่วนหนึ่งของฟอสฟอรัส จะถูกส่งผ่านออกมาทางปัสสาวะ ถ้าไตทำงานได้ไม่ดี ฟอสฟอรัสจะสะสมในเลือดสูง เกิดภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ การควบคุมปริมาณของฟอสฟอรัสในอาหารช่วยให้ไตไม่ต้องทำงานหนัก ช่วยชะลอความเสื่อมของไต ปริมาณของฟอสฟอรัสที่แนะนำให้บริโภคไม่ควรเกินวันละ 800-1,000 มิลลิกรัม เพื่อรักษาระดับของฟอสฟอรัสในเลือดให้มีค่าปกติ อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ปลากระป๋อง ข้าวโพด งา ถั่วเปลือกแข็ง เป็นต้น

 

 

โปรตีน

 

ไตทำหน้าที่ขับของเสีย ที่เกิดจากการกินอาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม การกินโปรตีนปริมาณมาก ทำให้ไตทำงานหนักเพิ่มขึ้น ระดับค่าของเสียที่ไตขับออกมา เรียกว่า ค่าครีเอตินิน จะสูงกว่าระดับปกติ ในภาวะปกติร่างกายต้องการโปรตีนวันละ 0.8-1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น น้ำหนัก 60 กิโลกรัม ต้องการโปรตีนวันละ 48-60 กรัม สำหรับผู้ที่เป็นโรคไต ระดับโปรตีนที่ร่างกายต้องการจะลดลงเหลือเท่ากับ 0.4-0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทั้งนี้ขึ้นกับระยะความเสื่อมของไต การอ่านฉลากโภชนาการ จึงต้องสังเกตค่าของโปรตีนเสมอ

 

 

การเลือกอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต ควรพิจารณาอะไรบ้าง

 

เนื่องจากความเสื่อมของไตมีหลายระยะ แต่ละระยะก็มีการควบคุมที่เข้มงวดต่างกัน แต่ก็มีข้อมูลพื้นฐานคล้ายๆ กัน คือ ควรจำกัดปริมาณโซดียมและฟอสฟอรัสในอาหาร งดอาหารเค็ม นม ถั่ว สำหรับการจำกัดโปรตีนและโปแตสเซ๊ยม ควรสอบถามแพทย์และนักโภชนาการว่า ในขณะนั้น ผู้ป่วยมีความต้องการในระดับใด หากไม่ทราบควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์จำนวนมาก และอาหารที่มีโปแตสเซียมสูง เช่น ผลไม้แห้ง น้ำผลไม้เข้มข้น ผักและผลไม้ทุกชนิดมีโปแตสเซียมมากน้อยต่างกัน วิธีสังเกตง่ายๆ คือ ให้ดูที่สี ถ้ามีสีเหลือง สีส้ม สีม่วงเข้ม สีแดง มักมีปริมาณโปแตสเซียมสูง เช่น มะเขือเทศ ฟักทอง มันเทศ ผักโขม ตำลึง มะเขือม่วง มะละกอ ทุเรียน กล้วย พริกหวาน การต้มผักก่อนนำไปปรุงอาหารจะช่วยลดปริมาณโปแตสเซียมได้ประมาณ 50% ผักและผลไม้บางชนิดที่ต้องการรับประทานแบบสด ควรแช่น้ำก่อนบริโภค 3-4 ชั่วโมง เพื่อให้โปแตสเซียมละลายไปกับน้ำ

 

 

นอกจากนี้โปแตสเซียมยังเป็นแร่ธาตุที่มีมากในข้าว ที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวมันปู ข้าวไรซ์เบอรี่ ขนมปังโฮลวีท ถ้าผู้ป่วยต้องจำกัดปริมาณโปแตสเซียมควรเลือกข้าวชนิดที่ขัดขาวเท่านั้น

 

 

ความเชื่อผิดๆ ของญาติหรือผู้ป่วยโรคไต

 

 ยาสมุนไพร ส่วนใหญ่มักทำจากพืชตากแห้ง หรือต้มสกัดน้ำเข้มข้น จึงมีปริมาณโปแตสเซียมสูง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อไตได้

 

 

 การกินเกลือเทียมหรือสารให้รสเค็มแทนเกลือโซเดียม เกลือเทียมมีรสเค็มน้อยกว่าเกลือปกติ มีปริมาณโซเดียมคลอไรด์ประมาณ 33% และส่วนที่เหลือเป็นโปแตสเซียมคลอไรด์ การรับประทานเกลือเทียมทำให้ระดับโปแตสเซียมในเลือดสูงมากขึ้น ผู้ป่วยโณคไตห้ามรับประทาน

 

 

 การกินเซ่งจี้หรือไตสัตว์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของไต ในความเป็นจริงแล้ว เครื่องในสัตว์ทุกชนิดเป็นอาหารประเภทโปรตีน มีพิวรีนสูง ซึ่งจะถูกขับออกทางไต ถ้ารับประทานปริมาณมากทำให้ระดับของเสียในเลือดเพิ่มขึ้น และทำให้ไขมันในเลือดสูง เป็นสาเหตุของหลอดเลือดแข็งตัว

 

 

 ดื่มน้ำแร่ทานน้ำเปล่า น้ำแร่จะมีแร่ธาตุมากกว่าน้ำเปล่า สำหรับผู้ป่วยโรคไต ถ้าได้รับแร่ธาตุมากเกินความต้องการ เป็นผลเสียต่อไตที่ต้องขับออก ทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น

 

 

 ซุปไก่สกัดเข้มข้น แม้จะมีปริมาณโปรตีนน้อย แต่มีโซเดียมสูง นอกจากนี้ การแต่งสีและกลิ่น รวมทั้งวัตถุกันเสีย ทำให้ไตต้องทำหน้าที่ขับของเสียที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อไตได้

 

 

 การกินเจ ถึงแม้จะเป็นโรคไต แต่ร่างกายยังต้องการสารอาหารครบถ้วนจากอาหารหลักทั้ง 5 หมู่เหมือนปกติ เพียงแต่จำกัดปริมาณสารอาหารบางชนิด การกินเจทำให้ร่างกายได้รับโปแตสเซียมจากผักผลไม้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้เต้าหู้ ถั่วต่างๆ เป็นแหล่งอาหารของฟอสฟอรัส ซึ่งผู้เป็นโรคไตควรหลีกเลี่ยง

 

 

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อไต ช่วยชะลอความเสื่อมของไตให้เป็นตามธรรมชาติของวัย ทำให้คุณภาพชีวิตที่ดี และช่วยยืดระยะเวลาที่ต้องฟอกเลือดออกไปให้นานที่สุด

 

 

แววตา เอกชาวนา

นักโภชนาการ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)