
© 2017 Copyright - Haijai.com
ไอโอดีน
ไอโอดีน (iodine) เป็นแร่ธาตุที่พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ รวมถึงอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวัน ขนาดของไอโอดีนที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันแตกต่างกันไปตามเพศ อายุ และสถานภาพของร่างกาย (เช่น ตั้งครรภ์ ให้นมบุตร) เด็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบ จะต้องการไอโอดีนในปริมาณสูง (ประมาณ 110-130 ไมโครกรัม) ในผู้ใหญ่ปริมาณไอโอดีนที่ควรได้รับในแต่ละวันมีค่าเฉลี่ย 150 ไมโครกรัม โดยความต้องการจะเพิ่มมากขึ้นอีกในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร (โดยเฉลี่ย 250 ไมโครกรัม) ผลิตภัณฑ์ไอโอดีนอยู่ในรูปเกลือโซเดียมหรือเกลือโปแตสเซียมของไอโอดีน มีจำหน่ายในรูปแบบยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสูตรอาหารสำหรับทารก ไอโอดีนในรูปแบบยาโปแตสเซียมไอโอไดด์ ใช้เป็นยาสำหรับยับยั้งการดูดซับไอโอดีนกำมันตรังสีในผู้ที่สัมผัสกัมมันตภาพรังสี
แหล่งของไอโอดีน
ไอโอดีนเป็นสารอาหารที่พบได้มากในสาหร่ายทะเล อาหารทะเล (เช่น ปลาทะเล กุ้ง) ผลิตภัณฑ์จากนม ธัญพืช (เช่น ข้าวโพด) ไข่ ผักและผลไม้ ปริมาณไอโอดีนในอาหารแตกต่างกันไปตามปริมาณไอโอดีนในแหล่งเกษตรกรรมหรือแหล่งปศุสัตว์ นมแม่เป็นแหล่งไอโอดีนที่สำคัญสำหรับทารก แหล่งสำคัญของไอโอดีนอีกแหล่งคือ เกลือสมุทรและเกลือเสริมไอโอดีน อาหารบางชนิดสามารถยับยั้งการขนส่งไอโอดีนเข้าสู่ต่อมไทรอยด์ได้ เช่นถั่วเหลือง มันสำปะหลัง กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี ไชเท้า คะน้า
ผลของไอโอดีนต่อสุขภาพ
ไอโอดีนจำเป็นต่อการสังเคราะห์ฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน และปฏิกิริยาเคมีในร่างกาย เช่น การสังเคราะห์โปรตีน การทำงานของเอนไซม์บางชนิด และเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมเมตาบอลิซึมของร่างกาย ฮอร์โมนไทรอยด์มีความสำคัญต่อการสร้างระบบกระดูก และระบบประสาทในตัวอ่อนในครรภ์และทารก สตรีมีครรภ์หรือทารกในระยะแรกที่ขาดไอโอดีน จะเห็นผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของตัวอ่อนและทารกอย่างถาวร เช่น เกิดภาวะปัญญาอ่อน นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ เนื่องจากการขาดไอโอดีน ภาวะดังกล่าวจะเกิดเมื่อร่างกายได้รับไอโอดีนต่ำกว่า 10-20 ไมโครกรัมต่อวัน โดยอาการแรกเริ่มของภาวะขาดไอโอดีนคือคอพอก ในสตรีมีครรภ์การขาดไอโอดีนอย่างมาก และต่อเนื่องจะให้ตัวอ่อนในครรภ์ผิดปกติ โดยเกิดภาวะครีตินิสม์ (cretinism) ซึ่งประกอบไปด้วยอาการปัญญาอ่อน หูหนวก กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวหดเกร็ง การเจริญเติบโตหยุดชะงัก การเจริญทางเพศล่าช้า และมีความผิดปกติทางร่างกายและระบบประสาทอื่นๆ สำหรับในทารกและเด็ก จะทำให้พัฒนาการทางระบบประสาทผิดปกติ เด็กอาจมีความฉลาดต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ เกิดภาวะสมาธิสั้น ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะขาดไอโอดีน ได้แก่ สตรีมีครรภ์ ผู้ที่เสี่ยงต่อการขาดไอโอดีน และผู้ที่รับประทานอาหารที่ยับยั้งการดูดซึมไอโอดีน
การได้รับไอโอดีนมากเกินไป ทำให้เกิดกลุ่มอาการเช่นเดียวกับภาวะขาดไอโอดีน โดยทำให้เกิดอาการคอพอก ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ หรือทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูงได้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบและมะเร็งต่อมไทรอยด์ ภาวะพิษเฉียบพลันจากไอโอดีนพบได้ไม่บ่อย โดยเกิดจากการรับประทานไอโอดีนมากในปริมาณหน่วยกรัม อาการ ได้แก่ ปาก คอ กระเพาะอาหารไหม้ มีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ปฏิกิริยาระหว่างยา
ไอโอดีนสามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาหลายชนิด เช่น ยาต้านไทรอยด์ (เช่น methimazole) ซึ่งเป็นยาสำหรับรักษาภาวะฮอร์โมนไทรอยด์สูง การรับประทานยาโปแตสเซียมไอโอไดด์ จะมีปฏิกิริยากับยาที่ทำให้โปแตสเซียมสูง เช่น ยาความดันกลุ่ม ACE inhibitor หรือยาขับปัสสาวะบางชนิด
การรับประทานไอโอดีนจากอาหารแลเกลือสมุทร เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายตามปกติ หากแพทย์ไม่ใช่ผู้สั่งยา ไม่ควรซื้อหรือรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนเอง เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อภาวะได้รับไอโอดีนเกินได้
ข้อมูลอ้างอิง
-Dietary Fact Sheet: Iodine, Office of Dietary Supplement. Nation Institutes of Health. Reviewed June, 2011.
ภก.ณํฐวุฒิ ลีลากนก
(Some images used under license from Shutterstock.com.)