© 2017 Copyright - Haijai.com
กระดูกพรุน ลดความเสี่ยง เลี่ยงการล้ม
ภาวะกระดูกพรุนที่มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความเสื่อมตามวัย เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะเริ่มเข้าสู่ช่วงวิกฤตตั้งแต่วัยใกล้หมดประจำเดือน และความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น แต่ก็มีบางกรณีที่การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเกิดขึ้นก่อนวัยอันควร เช่น ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนวัย เนื่องจากมีความจำเป็นต้องตัดมดลูกและรักไข่ออกตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นต้น เหตุผลหลักที่ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาสนใจภาวะกระดูกพรุน ก็เพราะไม่ต้องการให้กระดูกหัก อันจะนำมาซึ่งความสูญเสียในหลายด้าน ดังนั้นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่มีความสำคัญและสัมพันธ์กับภาวะกระดูกพรุนที่เราไม่ควรมองข้ามก็คือเรื่อง “การล้ม” เพราะถึงแม้ว่าจะมีภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุนแต่ถ้าไม่ล้ม อุบัติการณ์ของการเกิดกระดูกหักก็จะลดน้อยลงได้
ลดความเสี่ยงจากการล้ม
เราสามารถลดความเสี่ยงจากากรล้มได้ด้วยการดูแล 2 องค์ประกอบหลักๆ ให้พร้อมอยู่เสมอ ได้แก่ สิ่งแวดล้อมและตัวเราเอง
• องค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นด้วยการปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เข้ากับวิถีการดำรงชีวิตตั้งแต่เรื่องพื้น ควรให้ความระมัดระวังเรื่องพื้นลื่น (ติดตั้งแผ่นกันลื่นหรือราวจับในห้องน้ำ) พื้นต่างระดับการวางข้าวของ สายไฟ ปลั๊กต่างๆ ระเกะระกะตามพื้นเหล่านี้ ต้องดูแลจัดการให้เรียบร้อย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสะดุดล้ม รวมทั้งเรื่องของแสงสว่าง และการเลือกเตียงนอนที่มีความสูงในระดับพอดี ไม่ต่ำติดพื้นเกินไป เพราะจะทำให้ลุกนั่งลำบาก เป็นต้น
• องค์ประกอบจากตัวเราเอง ตัวเรารวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกันกับเรา ควรต้องมีความรู้ในการป้องกันตนเองจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการล้ม เช่น การตรวจสุขภาพดวงตา การฝึกการทรงตัว ในที่นี้ขอแนะนำ “ไทเก๊ก” รูปแบบการออกกำลังกายที่หลายคนมองว่าเชื่องช้าและน่าเบื่อ แต่ในความเป็นจริงแล้วในความเชื่องช้านั้น กลับมีองค์ประกอบที่โดดเด่นในเรื่องของสมาธิ การเคลื่อนไหวแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ร่างกายเกิดสมดุลและมีความมั่นคงในการทรงตัว จึงไม่อยากให้ทุกคนมองข้าม
นอกจากลดความเสี่ยงจากการล้มแล้ว เรายังจำเป็นต้องรู้หลักการปฏิบัติตัวเพื่อชะลอภาวะกระดูกพรุนไม่ให้แย่ลงไปมากกว่าเดิม ถ้าพบว่าตนเองมีภาวะกระดูกพรุน เราต้องรู้ว่ามีภาวะของโรคเพิ่มขึ้นหรือเปล่า เบื้องต้นอาจสังเกตจากส่วนสูงว่าลดลงมากน้อยเพียงใด ถ้าความสูงลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ควรปรึกษาแพทย์
ปัจจุบันมีเครื่องมือตรวจวัดมวลกระดูกอยู่หลายแบบ ซึ่งมีทั้งแม่นยำและคลาดเคลื่อน เครื่องตรวจวัดมวลกระดูกที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความแม่นยำในขณะนี้ ได้แก่ เครื่อง DEXA (Dual Energy Xray Absorptionmetry) อย่างไรก็ตามการจะตรวจวัดมวลกระดูกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าเป็นสำคัญ เพราะต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจ วิธีการเบื้องต้นที่ง่ายและคุ้มที่สุดคือ การหาความรู้ ดูว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้จัดทำแบบประเมินความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหัก (FRAX) ซึ่งสามารถเข้าไปค้นหาและทำการทดสอบได้ในอินเตอร์เน็ต โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นการประเมินเบื้องต้นว่า เราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ แต่ถ้าทดสอบแล้วยังรู้สึกไม่สบายใจ ต้องการตรวจเพิ่มเติมก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของตัวเราเอง
ในยุคสมัยที่ผู้คนในสังคมเริ่มหันมาให้ความสนใจในเรื่องคุณภาพชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คุณผู้อ่านจะให้ความสำคัญกับปัญหากระดูกพรุน และพยายามดูแลตัวเองอย่างดีที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะนี้ รวมไปถึงปัญหาสุขภาพในด้านอื่นๆ ด้วย การตระหนักรู้และหาทางป้องกันเป็นเรื่องดี แต่ควรอยู่ในขอบเขตของความพอเหมาะ ไม่มากเกินไปจนกลายเป็นความตระหนกหวั่นวิตกเกินกว่าเหตุ ทั้งนี้เพื่อที่เราทุกคนจะไดรับประโยชน์จากการดูแลสุขภาพอย่างคุ้มค่า และไม่สิ้นเปลืองเกินพอดี
รู้หรือไม่
ร่างกายของแต่ละคนมีความสามารถในการดูดซึมแคลเซียมแตกต่างกัน การที่เรารับประทานแคลเซียมเข้าไป 1,000 มิลลิกรัม ไม่ได้หมายความว่าร่างกายจะสามารถดูดซึมไปใช้ได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับปัจจัยร่วมอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น วิตามินดี ฮอร์โมนบางชนิด เป็นต้น แต่อาจนำไปใช้ได้เพียง 2-10% ของปริมาณที่บริโภคเข้าไปการบริโภคแคลเซียมในปริมาณมาก จึงไม่ใช่ตัวชี้วัดความแข็งแรงของกระดูก อย่างไรก็ตามแคลเซียมยังคงเป็นวัตถุดิบสำคัญ ที่ร่างกายต้องได้รับอย่างสม่ำเสมอในทุกช่วงอายุ โดยค่าเฉลี่ยที่ควรได้รับในแต่ละวันของทุกวัยอยู่ที่ 1,000 มิลลิกรัม
รศ.นพ.สมศักดิ์ คุปต์นิรัติศัยกุล
ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)