© 2017 Copyright - Haijai.com
ชะลอข้อเสื่อม เราทำได้
ข้อเสื่อมเป็นภาวะที่การทำงานของข้อมีความผิดปกติ ซึ่งข้อที่มีการทำงานเป็นปกติต้องเป็นข้อที่เคลื่อนไหวได้อย่างมั่นคง และปราศจากความเจ็บปวด ความผิดปกติของข้อเสื่อมอาจเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ เช่น รู้สึกฝืดๆ ที่ข้อ ปวดข้อ ข้อผิดรูป เป็นต้น แต่ละอาการจะมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย พยาธิสภาพของข้อเสื่อมจะอยู่บริเวณผิวข้อ ซึ่งมีหน้าที่ทำให้เกิดความลื่น คล่องแคล่วในการเคลื่อนไหว ทนทานต่อการสึกหรอ โดยมีกระดูกอ่อนเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมต่อตรงตำแหน่งนี้ เพราะฉะนั้น หากกระดูกอ่อนเสียหายไป จะทำให้เกิดอาการต่างๆ ดังกล่าวตามมา
ข้อเสื่อมเกิดขึ้นได้อย่างไร สามารถป้องกันได้หรือไม่ มีประเด็นใดบ้างที่เราควรรู้ รศ.นพ.สมศักดิ์ คุปต์นิรัติศัยกุล ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ให้เกียรติมาช่วยอธิบายให้เราได้ทราบกัน
สาเหตุของข้อเสื่อม
ส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมตามอายุ อย่างไรก็ตามพบว่า มีข้อเสื่อมที่เกิดขึ้นเนื่องจากความเสื่อมไปก่อนเวลาอันควร โดยมีสาเหตุมาจากการได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ ทำให้กระดูกอ่อนได้รับความเสียหาย หลังจากนั้นร่างกายจะสร้างกระดูกอ่อนที่มีคุณภาพไม่เทียบเท่าของเดิมขึ้นมาแทนที่ สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ข้อเสื่อมก่อนวัยอันควร เช่น โรคที่ส่งผลให้กระดูกอ่อนถูกทำลาย อาทิ โรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์และข้ออักเสบชนิดอื่นๆ เป็นต้น
ข้อที่มักเกิดปัญหา
อันที่จริงข้อเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกข้อในร่างกาย โดยจุดที่พบว่ามีข้อเสื่อมมากที่สุดคือ “ข้อนิ้วมือ” เนื่องจากเป็นอวัยวะที่มีจำนวนข้อมากที่สุด คือ มีมากถึง 18 ข้อ และถ้านับรวมทั้งมือและนิ้วจะมีทั้งหมด 28 ข้อ ผู้ป่วยมักจะสังเกตเห็นอาการข้อนิ้วเสื่อมในช่วงที่ข้อเริ่มผิดรูปหรือมีลักษณะบวมโต แต่ถ้าจะกล่าวถึงข้อที่เป็นปัญหามากในผู้ป่วยก็คือ “ข้อเข่า” รองลงมาได้แก่ ข้อสะโพก ข้อหัวไหล่ ข้อศอก ข้อเท้า และข้อมือ ตามลำดับ
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า อาการของโรคข้อเสื่อมมีหลายระดับแตกต่างกันไป ในผู้ป่วยแต่ละราย การที่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์หรือไม่ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยบางราย มีข้อผิดรูปไปมากแล้ว แต่ไม่มีอาการปวดและสามารดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นปกติ จึงไม่มาพบแพทย์ก็มี ทั้งหมดนี้การศึกษาหาความรู้ เพื่อดูแลตนเองในระดับเบื้องต้นนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องใช้วิจารณญาณในการตัดสินความถูกต้องเหมาะสมของข้อมูลด้วยเช่นกัน กล่าวโดยสรุปคือ การจะมาพบแพทย์หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า อาการข้อเสื่อมที่เกิดขึ้นสร้างปัญหาให้กับผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน นอกจากปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันแล้ว ควรคำนึงถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตร่วมด้วย หากรักษาจะเป็นอย่างไร และถ้าไม่รักษาจะเกิดอะไรหรือไม่ ปัจจุบันผู้ป่วยที่มารักษาโรคข้อเสื่อมส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งก็เป็นไปตามแนวโน้มของประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามหากเกิดความเจ็บปวดบริเวณข้อ อย่าพึ่งวิตกกังวลว่าจะมีสาเหตุมาจากข้อเสื่อมแต่เพียงอย่างเดียว เพราะอาจเป็นข้ออักเสบจากสาเหตุต่างๆ ก็เป็นได้ โดยให้สังเกตดูอาการเบื้องต้นก่อน ถ้ามีอาการบวม แดง รู้สึกอุ่นๆ บริเวณที่บวมขณะใช้มือคลำเบาๆ อย่างนี้ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจมีการติดเชื้อในข้อ ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ การรักษาอาจไม่ได้ผลดีเท่ากับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ถ้ารู้สึกเจ็บๆ ขัดๆ โดยไม่มีอาการบวม แดง อุ่น อาจรอดูอาการไปก่อนก็ได้ เพราะบางครั้งอาการเจ็บที่เกิดขึ้น อาจมีสาเหตุมาจากการใช้งานที่มากเกินไป ให้พักการใช้งานข้อที่เจ็บ พร้อมกับประคบเย็นสัก 1-2 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ให้ปรึกษาแพทย์
การรักษาและป้องกัน
การรักษาโรคข้อเสื่อม ลำดับแรกแพทย์จะทำการวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ออกไปก่อน เนื่องจากอาการเจ็บปวดของข้อเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากโรคข้ออักเสบแบบเฉียบพลัน เอ็นเข่าขาด ข้อหลวม เป็นต้น เนื่องจากแต่ละโรคจะมีขั้นตอนในการรักษาที่แตกต่างกันไปแล้ว แต่กรณีในกรณีที่เข้าข่ายโรคข้อเสื่อม คือ กระดูกอ่อนเกิดความเสียหาย ข้อผิดรูป หรือมีอาการปวดร่วมด้วย แพทย์จะทำการวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ และเริ่มการรักษาตามลำดับขั้นตอนที่เหมาะสม
ในปัจจุบันด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น อุบัติการณ์ของโรคข้อเสื่อม จึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย วงการแพทย์ได้เล็งเห็นปัญหาในจุดนี้เช่นกัน จึงมีการพัฒนาวิธีการรักษาแบบใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถแบ่งการรักษาออกได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ ได้แก่ การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด และการรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด
1.การรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด เป็นหลักเบื้องต้นในการรักษาทางการแพทย์ ที่ปฏิบัติมาตั้งแต่อดีต การรักษาโรคข้อเสื่อมโดยไม่ผ่าตัดแบ่งเป็น การรักษาแบบไม่ใช้ยา และการรักษาแบบใช้ยา
• การรักษาแบบไม่ใช้ยา จะเน้นในเรื่องของการป้องกันโดยอาศัยความรู้ทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู การรักษาเน้นการสร้างความแข็งแรงให้กับข้อ ให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างมั่นคง ปราศจากอาการเจ็บปวด การที่ข้อจะมั่นคงได้นั้น โครงสร้างอื่นๆ รอบข้อ ได้แก่ เอ็นและกล้ามเนื้อ ต้องมีความแข็งแรงเป็นปกติ การสร้างความแข็งแรงให้กับเอ็นและกล้ามเนื้อ ทำได้โดยอาศัยการทำกายภาพบำบัด โดยแพทย์กลุ่มเวชศาสตร์ฟื้นฟูจะเป็นผู้ดูแลหลักในด้านนี้
นอกจากนี้ยังมีการนำเครื่องมือหรืออุปกรณ์อื่นๆ มาใช้ร่วมในการรักษา อาทิ การใช้เครื่องช็อกเวฟ เพื่อรักษาอาการเอ็นอักเสบรอบข้อเสื่อม การใช้เครื่องช่วยพยุงข้อปรับที่ผิดรูปให้ดีขึ้น การประคบเย็นเพื่อลดอาการปวดบวมอักเสบ เป็นต้น ข้อดีของการรักษารูปแบบนี้คือ มีความเสี่ยงต่ำ แต่ต้องอาศัยความสม่ำเสมอในการปฏิบัติ
• การรักษาแบบใช้ยา เนื่องจากโรคข้อเสื่อมส่วนใหญ่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่ออายุมากขึ้น ความเสื่อมก็ตามมา ในอดีตยาที่ใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อม จึงเป็นยาเพื่อบรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบของข้อ แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยาที่ช่วยถนอมข้อไม่ให้ผิดรูปไปเร็ว ช่วยทำให้พิสัยการเคลื่อนไหวดีขึ้น เรียกยากลุ่มนี้ว่า Disease modifying anti-osteoarthritis drugs (DMOADs) ปัจจุบันมีการสั่งจ่ายยากลุ่มนี้ในสถานพยาบาลของรัฐแล้ว แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
2.การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด การรักษาโรคข้อเสื่อมในเบื้องต้น แพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด อย่างไรก็ตามสุดท้ายอาจต้องตามมาด้วยการผ่าตัด ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อกังวลใจของผู้ป่วย ทว่าถ้าดูในแง่ของกลุ่มประชากรจะพบว่า มีผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมจำนวนมากที่ตลอดช่วงชีวิต ไม่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อ ทั้งนี้ต้องพิจารณาจากข้อบ่งชี้รวมทั้งความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดร่วมด้วย
การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดในปัจจุบันมีทั้งการผ่าตัดล้างข้อด้วยวิธีการส่องกล้อง ช่วยล้างน้ำไขข้อที่อักเสบ เศษกระดูก กระดูกอ่อน และเยื่อบุข้อที่หลุดร่อนออก การผ่าตัดเปลี่ยนข้อ และการผ่าตัดแก้ไขแนวรับน้ำหนักข้อ เพื่อปรับมุมให้ข้อส่วนที่ยังดีอยู่กลับมารับน้ำหนักแทนส่วนที่เสียหายไป เป็นต้น ข้อเสียของการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดคือ มีความเสี่ยงมากกว่า แต่ผลที่ได้อาจจะลงลึกไปได้มากกว่าการรักษาโดยไม่ผ่าตัด
ในแง่ของการป้องกัน เราทุกคนควรหมั่นหาความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพกันไว้บ้าง ในกรณีของข้อเสื่อมควรมีความรู้เรื่องการปฏิบัติตน เพื่อไม่ให้ข้อเสื่อมก่อนวัยอันควร เช่น หลีกเลี่ยงท่าทางที่จะเพิ่มความดันในข้อเข่า ได้แก่ การนั่งยองๆ คุกเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิ เป็นต้น ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพราะน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้กระดูกอ่อนถูกทำลาย และทำให้ข้อเกิดการเสื่อมเร็วกว่าคนที่มีน้ำหนักน้อย หลีกเลี่ยงการยกของหนัก และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และควรเลือกรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสม
ความเข้าใจผิดที่พบบ่อย
• เชื่อมั่นในการผ่าตัดจนลืมนึกถึงการรักษาเบื้องต้น เนื่องจากปัจจุบันมีการพูดถึงการรักษาข้อเสื่อมด้วยวิธีการผ่าตัดอันทันสมัยกันมาก ทำให้ผู้ป่วยบางส่วนมองข้ามการดูแลรักษาข้อเสื่อมในระดับเบื้องต้นไป ทั้งที่ถ้าหากรักษาด้วยการใช้ยา ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด หลีกเลี่ยงการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อข้อ ผู้ป่วยก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการผ่าตัด
• กลัวการผ่าตัดมากเกินไปจนเกิดปัญหาบานปลาย ผู้ป่วยบางรายกลัวว่าถ้าผ่าตัดแล้วจะเดินไม่ได้ เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย จึงปฏิเสธการรักษายอมทนปวด ยอมให้ข้อผิดรูป ปล่อยให้อาการเป็นมากขึ้น จนในที่สุดต้องนอนอยู่แต่บนเตียง เมื่อกล้ามเนื้อไม่ได้ใช้งานนานๆ เข้าก็เกิดปัญหากล้ามเนื้อลีบ เอ็นยึด ข้อเข่าติด และอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย การฟื้นฟูก็ทำได้ยากและซับซ้อนกว่าการรักษาข้อเข่าเสื่อมเพียงอย่างเดียว เป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการรักษา
• การรักษาตามความเชื่อหรือคำชักชวน มีผู้ป่วยบางรายไปรักษาตามความเชื่อหรือคำชักชวน เช่น การแทงเข็มที่ข้อ เพิ่มความเสี่ยงต่อการทำให้ข้อเกิดการอักเสบติดเชื้อตามมา เป็นอุปสรรคต่อการรักษาที่เป็นปัจจุบัน จึงควรใช้วิจารณญาณให้ดี ฟังหู ไว้หู และศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ
แม้เทคโนโลยีการรักษาจะมีความก้าวหน้ามาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “เราต้องรู้จักดูแลตัวเราเอง” เพื่อที่จะชะลอการเสื่อมของข้อให้ได้นานที่สุด หมั่นเสริมความรู้เรื่องการดูแลรักษาสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันมีข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทางวิชาการเผยแพร่สู่สาธารณชนมากขึ้น อย่างไรก็ตามบางเรื่องก็ยังไม่ควรนำออกสู่สังคมวงกว้าง เนื่องจากยังมีประเด็นข้อถกเถียงกันอยู่ การนำออกเผยแพร่ไม่ว่าจะด้วยเจตนาดีหรือหวังผลทางธุรกิจ อาจก่อให้เกิดผลลบต่อคนในสังคมตามมาได้ ดังนั้น ผู้รับสื่อจึงควรมีวิจารณญาณในการรับข้อมูล ในขณะเดียวกันผู้ให้ข้อมูลเอง ก็ควรต้องมีจริยธรรมและคำนึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น จากการเผยแพร่ข้อมูลที่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด และยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในวงวิชาการ
รศ.นพ.สมศักดิ์ คุปต์นิรัติศัยกุล
ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)