© 2017 Copyright - Haijai.com
สมองเสื่อมจากบุหรี่อาจฟื้นคืนได้
รายงานการวิจัยกล่าวว่า สมองส่วนเปลือก (cortex) ที่เสียหายจากการสูบบุหรี่ อาจกลับคืนมาได้ถ้าเลิกบุหรี่ แต่อาจต้องใช้เวลานานในการฟื้นสภาพ นักวิจัยรายงานว่าการถ่ายภาพสมอง (Brain Scan) ของชาวสก๊อตแลนด์วัย 70 ปี จำนวน 500 คน ยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่กับการบางลงของเปลือกสมอง ที่เนื่องกับอายุอย่างรวดเร็ว เปลือกสมองของอดีตนักสูบดูเหมือนจะฟื้นตัวบางส่วนในแต่ละปีที่เลิกสูบบุหรี่ รายงานนี้เป็นผลงานของนักวิจัยหลายประเทศที่ตีพิมพ์ในวารสาร Molecular Psychiatry โดยนักวิจัยยังเตือนด้วยว่า การฟื้นตัวนี้เป็นไปอย่างช้าๆ มีหลายรายงานที่พบความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ กับการเสื่อมของสมองในการเรียนรู้ จดจำ และคิด (cognitive) การเสื่อมของการทำงานของสมองทั่วไป (dementia) และการเสียหายทางกายภาพของสมอง (degeneration)
เคยมีหลักฐานชี้ให้เห็นว่า โดยเฉลี่ยนักสูบมีความสามารถในการเรียนรู้จดจำและคิดแย่ลง ในช่วงหลังของชีวิต มีคะแนนการทดสอบการเรียนรู้จดจำลดลง แต่ไม่เคยกล่าวถึงเรื่องการอาจจะฟื้นกลับคืนมา สำหรับการศึกษาใหม่นี้ นักวิจัยใช้คนที่เคยร่วมโครงการศึกษา Scotish Mental Survey ตอนที่เป็นเด็กนักเรียนในปี ค.ศ. 1947 ซึ่งเป็นตอนที่เขาได้รับการทดสอบการทำงานของสมองในแง่ของการเรียนรู้ จดจำ และคิด คนที่รอดชีวิตมาได้รับการถ่ายภาพสแกนสมอง โดยเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ MRI อีกครั้งในปี ค.ศ. 2007 แล้วเอาผลการตรวจ 504 รายนี้มาวิเคราะห์ ในจำนวนนี้มีคนที่ยังสูบอยู่ 36 ราย คนที่เคยเป็นนักสูบ 223 ราย คนที่มีเคยสูบเลย 245 ราย คนเหลานี้มีอายุเฉลี่ย 73 ปี ในกลุ่มนี้ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างอายุ IQ ในวัยเด็ก และจำนวนหญิงชาย
จากการวิเคราะห์พบว่า สำหรับคนที่ยังสูบบุหรี่อยู่ โดยเฉลี่ยแล้วมีความหนาของเปลือกสมองน้อยกว่าคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย สำหรับคนที่เลิกสูบบุหรี่ ซึ่งสูบโดยเฉลี่ย 1 ซองต่อวัน เป็นเวลา 30 ปี ต้องใช้เวลาประมาณ 25 ปี ในการฟื้นคืนความหนาของเปลือกสมอง จนไม่เห็นความแตกต่างระหว่างคนเลิกสูบกับคนไม่เคยสูบ และสำหรับคนสูบจัด ก็ยังคงมีเปลือกสมองบางที่อายุ 73 ปี แม้ว่าจะเลิกมาแล้ว 25 ปี ก็ตาม
ผลการศึกษานี้อาจหมายความว่า การเลิกสูบบุหรี่ลดการบางลงของสมอง ที่เนื่องกับอายุให้ช้าลง กว่าการบางลงตามปกติ ซึ่งทำให้ความหนาตามไปทันกับการบางลงตามอายุของคนไม่สูบบุหรี่ หรืออาจจะหมายความว่า เปลือกสมองอาจจะหนาขึ้นหรือถูกสร้างขึ้นใหม่ก็ได้
นักสูบบุหรี่ควรได้รับข้อมูลว่า การสูบบุหรี่สามารถทำให้เปลือกสมองบางลงมากกว่าอัตราปกติ ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดทางชีวะของความเสื่อมทางการเรียนรู้ จดจำ และหลังเลิกบุหรี่แล้ว การบางของสมองยังจะคงอยู่อีกหลายปี คนเราถ้าขาดสมองแล้วไซร้ ความเป็นคนก็หมดไป การเสื่อมของสมองดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือผลักดันที่ดีในด้านจิตใจ สำหรับการเลิกบุหรี่
(Some images used under license from Shutterstock.com.)