© 2017 Copyright - Haijai.com
บ้านน่าอยู่ เจ้าหนูสุขภาพดี
ปัจจุบันสภาพอากาศมีการแปรเปลี่ยนไปเยอะมาก ทั้งฝุ่นละออง ควันจากท่อไอเสีย มลพิษจากการเผาป่าหรือขยะมูลฝอย ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้หากเราออกไปข้างนอกก็ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้เมื่ออยู่ในบ้านของเราเอง ใช่แล้วค่ะ! คุณแม่บ้านสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้อยู่อาศัยภายในบ้านได้ โดยการหมั่นทำความสะอาด จัดบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและน่าอยู่ค่ะ
มารู้จัก ‘ไรฝุ่น’ เจ้าวายร้ายประจำบ้าน
ไรฝุ่นที่อาศัยอยู่ตามบ้านเรานั้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dermatophagoides pteronyssinus เป็นภัยใกล้ตัวที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ หอบหืด หรืออาการแพ้ต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ไรฝุ่นแล้วประมาณ 18 ล้านคน (รพ.ศิริราช) ดังนั้นถึงเวลาที่เราต้องรู้เท่าทันไรฝุ่นให้มากขึ้นแล้วค่ะ
• ไรฝุ่นมีขนาดเล็กมาก มันจึงสามารถติดมากับนก หนู แมว สุนัข ลมพัดเข้ามาในบ้าน และอาจติดมากับเสื้อผ้าของแขกผู้ที่มาเยี่ยมเยียนก็ได้
• ไรฝุ่นกินสะเก็ดผิวหนัง เศษขี้ไคล และเศษรังแคของเราเป็นอาหาร โดยเศษผิวหนังเพียง 1 กรัมก็สามารถเลี้ยงไรฝุ่นได้ถึง 1,000,000 ตัวเป็นเวลาถึง 1 สัปดาห์เต็ม ๆ รวมทั้งน้ำในอากาศที่มีเพิ่มมากขึ้น เช่น จากการใช้ฝักบัวของเรา ทำให้ความชื้นในบ้านเพิ่มมากขึ้นอย่างเพียงพอที่จะทำให้ไรฝุ่นมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้น หลังอาบน้ำเสร็จเราควรเปิดหน้าต่างหรือใช้พัดลมดูดอากาศออกก่อนนะคะ
• องค์การอนามัยโลกได้กำหนดระดับสารก่อภูมิแพ้ไว้ที่ 2 ไมโครกรัม ต่อฝุ่น 1 กรัม หรือไรฝุ่น 100-500 ตัวต่อฝุ่น 1 กรัม เป็นระดับมาตรฐานที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืดในผู้ป่วยภูมิแพ้ได้ แต่ในประเทศไทยกลับตรวจพบสารก่อภูมิแพ้เฉลี่ยถึง 11 ไมโครกรัมต่อฝุ่น 1 กรัม และในกรุงเทพฯ พบปริมาณของสารก่อภูมิแพ้เฉลี่ย 5 ไมโครกรัมต่อฝุ่น 1 กรัมเลยนะคะ
‘ไรฝุ่น’ ต้นกำเนิดโรคภูมิแพ้
จากข้อมูลของกองกีฏวิทยาทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ฝุ่นละอองในเขตกรุงเทพฯ ปริมาณ 1 กรัม จะมีไรฝุ่นอาศัยอยู่ถึง 228 ตัว ไรฝุ่นที่อาศัยตามเสื้อผ้าจะมีการขับสารพิษออกมาปนเปื้อนอยู่ตามเส้นใยผ้า ในระยะแรกสารพิษจะยึดกันอยู่ด้วยสารเมือก ต่อมาเมื่อสารเมือกแห้งจะทำให้สารพิษแยกกันเป็นอนุภาคเล็กๆ และกลายเป็นฝุ่นละอองสารพิษแพร่ในอากาศ เมื่อเราหายใจนำสารพิษเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานานๆ จะก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ เช่น โรคหอบหืดหรือเยื่อบุจมูกอักเสบ อาการที่ปรากฏ ได้แก่ เวียนศีรษะ จาม ตาแดง น้ำตาไหล หายใจไม่สะดวก แน่น อึดอัด บวมในคอ หรือทางเดินหายใจ ถ้าหากอาการรุนแรงอาจถึงขั้นช็อคได้
จัดบ้านให้น่าอยู่ แถมเจ้าหนูยังสุขภาพดีอีกด้วย
เริ่มจากห้องนอนก่อน เพราะเราคลุกคลีและใช้ชีวิตในห้องนอนประมาณ 2 ใน 3 ของวันเลยทีเดียว
• โดยห้องนอนควรเป็นห้องที่มีไว้สำหรับนอนจริงๆ คือ มีเตียงนอน หมอน และผ้าห่มเท่านั้น ยิ่งมีของน้อยเท่าไรก็ยิ่งดีต่อสุขภาพค่ะ
• ไม่ควรมีชั้นวางหนังสือ ตุ๊กตาขนฟูๆ ไว้ในห้องนอน เพราะเป็นแหล่งสะสมฝุ่นชั้นเยี่ยมเลยล่ะค่ะ แต่หากเลี่ยงไม่ได้ ก็ให้เก็บไว้ในกล่องพลาสติกแบบมีฝาปิด หรือเก็บไว้ในตู้กระจกก็ได้ เพราะจะสะดวกในการทำความสะอาดค่ะ
• ควรตั้งเตียงนอนไว้ในตำแหน่งที่แสงแดดส่องถึง และเปิดหน้าต่างให้เกิดการถ่ายเทของอากาศ จะช่วยลดปริมาณไรฝุ่นได้
• ไม่ควรตั้งตู้เสื้อผ้าไว้ในห้องนอน เนื่องจากฝุ่นจากเส้นใยผ้า อาจจะก่อให้เกิดอาการแพ้
• ไม่ควรปลูกต้นไม้ไว้ในห้องนอน เพราะอาจมีเชื้อราในดินได้
นอกจากนั้น ห้องอื่นๆ ภายในบ้าน เช่น ห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ คุณแม่ต้องหมั่นเปิดหน้าต่างให้มีการถ่ายเทของอากาศ โดยเฉพาะห้องครัวและห้องน้ำ ให้เปิดหน้าต่างช่วงที่มีแดดจ้าทิ้งไว้ อย่างน้อยครั้งละ 1 ชั่วโมง วันละ 2 ครั้ง ก็จะยิ่งดี และเช่นเดียวกันก็ไม่ควรตากผ้าไว้ในห้องนั่งเล่น เพราะไรฝุ่นจะเติบโตได้ดีในที่ที่เย็นและชื้น อันนี้สำคัญมากค่ะ คือไม่ควรเลี้ยงสัตว์ที่มีขนไว้ในบ้าน โดยเฉพาะในห้องนอน เพราะลูกเสี่ยงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ได้มากค่ะ แต่หากอยากเลี้ยงจริงๆ ก็ควรสร้างบ้านให้อยู่ต่างหากบริเวณนอกบ้าน และหมั่นอาบน้ำ และรักษาความสะอาดด้วยค่ะ
ขยันทำความสะอาด เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกน้อย
• หมั่นทำความสะอาดบ้านให้เป็นกิจวัตร ไรฝุ่นจะได้ไม่สะสม ถ้าคุณแม่สามารถทำได้ทุกวันก็จะยิ่งดีค่ะ
• หมั่นซัก หรือเปลี่ยนเครื่องนอน เช่น ผ้าปู ผ้าห่ม ปลอกหมอน สัปดาห์ละครั้ง ที่นอนหรือฟูก ก็ควรนำมาตากแดดบ่อยๆ ค่ะ
• ผ้าม่าน ควรเลือกแบบที่ถอดซักได้ง่าย และหมั่นซักเดือนละครั้ง
• เลือกใช้ที่นอน หมอนที่ผลิตจากวัสดุสังเคราะห์ หลีกเลี่ยงที่ทำจากนุ่นหรือสำลี เพราะเป็นตัวสะสมไรฝุ่นชั้นเยี่ยม ในปัจจุบันมีเครื่องนอนป้องกันไรฝุ่นจำหน่าย คุณแม่สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป
• ให้คุณแม่ซักผ้าม่าน ผ้าปู ผ้าห่ม ที่นอนและปลอกหมอนของลูกน้อยด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิสูง 65 องศาขึ้นไป ประมาณ 30นาที (กรณีใช้เครื่องซักผ้าให้ซักประมาณ 15 นาที) หรืออาจต้มผ้าปู ที่นอน และหมอนอย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ก็ได้ค่ะ หากคุณแม่ซักเครื่องนอนด้วยวิธีธรรมดา หลังจากผ้าแห้งแล้วให้รีดด้วยความร้อนสูง 140 องศา เท่านี้ไรฝุ่นก็ไม่สามารถมีมีชีวิตอยู่ได้แล้วค่ะ
ข้อควรรู้
• เด็กที่ดื่มนมแม่โอกาสเป็นโรคภูมิแพ้น้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้ดื่ม
• สภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูเด็กในขวบปีแรกมีความสำคัญมาก หากเด็กวัยนี้ได้สัมผัสควันบุหรี่ ไรฝุ่น การใช้ยาปฏิชีวนะ หรือการรับประทานอาหารสำเร็จรูป จะทำให้เด็กเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ มากกว่าเด็กที่คลุกคลีหรือเล่นดินอยู่ตามชนบท เพราะร่างกายจะมีการสร้างภูมิต้านทานที่ดี และไม่ค่อยเป็นโรคภูมิแพ้
• คนในเมืองเป็นโรคภูมิแพ้มากกว่าคนในชนบท เพราะคนในเมืองมักชอบอยู่ภายในบ้าน ติดเครื่องปรับอากาศ ไม่ออกกำลังกาย ทานอาหารที่ผ่านการแปรรูปหลายขั้นตอน แถมยังนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในบ้านอีกด้วย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ระบบภูมิต้านทานไม่ดี
• มีงานวิจัยหลายชิ้นสนับสนุนว่าเชื้อ Lactobacillus ในลำไส้กระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานที่ดีกับเด็ก
• การอยู่บนเตียงนานๆ ทำให้ที่นอนมีอุณหภูมิสูงขึ้นซึ่งไรฝุ่นไม่ชอบ แม้ว่าความชื้นส่วนเกินจะถูกสร้างมาจากร่างกายของเราขณะนอนก็ตาม การที่อุณหภูมิในห้องนอนเพิ่มขึ้นจาก 16 ไปเป็น 18 องศาเซลเซียส จะสามารถลดจำนวนไรฝุ่นลงได้
• จะมีไรฝุ่นมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาความสะอาด และอายุการใช้งานของเครื่องเรือนเป็นหลัก โดยที่นอนหรือฟูกที่ทำจากนุ่นและใยสังเคราะห์ที่มีอายุการใช้งานนานกว่า 6 ปี ก็จะมีความเสี่ยงจากไรฝุ่นจนเกิดโรคภูมิแพ้ได้มากที่สุด
(Some images used under license from Shutterstock.com.)