© 2017 Copyright - Haijai.com
มะเร็งปากมดลูกในหญิงตั้งครรภ์
มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดเป็นอันดับสองของสตรีทั่วโลกนะครับ ในแต่ละปีมีคนไข้ที่ถูกค้นพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกถึง 500,000 ราย และกว่า 250,000 ต้องเสียชีวิตลงในแต่ละปีด้วยมะเร็งปากมดลูก แต่เนื่องจากกว่า 80% ของผู้ป่วยซึ่งเสียชีวิตเกิดขึ้นในประเทศที่ยากจน นอกจากนี้เรายังพบว่ากว่า 70%ของมะเร็งปากมดลูกมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ Human Papilloma Virus (HPV) ซึ่งปัจจุบันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเราก็ได้มีการนำเข้าวัคซีนซึ่งช่วยเราในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้แล้ว ดังนั้นมะเร็งปากมดลูกจึงเป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามในสตรีที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนนี้มาก่อน และไม่เคยรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยก็ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก สถิติของการเกิดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยจึงยังคงสูงอยู่คือประมาณ 6,000 รายต่อปี และเสียชีวิตจากโรคนี้ปีละกว่า 3,000 รายเลยทีเดียว
มะเร็งปากมดลูกยังเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในมะเร็งที่เกิดขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ด้วย อุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกพบได้ 1.6 -10.6 รายต่อผู้ป่วยตั้งครรภ์ 10,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้นครับ ผู้ที่เป็นมะเร็งปากมดลูกก็มักไม่มีอาการใดๆ แต่จะมาพบแพทย์ด้วยการมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ซึ่งเมื่อได้รับการตรวจ Pap Smear แล้วอาจพบว่ามีความผิดปกติของเซลล์ที่ปากมดลูก แพทย์ก็จะทำการตัดชิ้นเนื้อที่บริเวณปากมดลูกไปทำการตรวจยืนยันอีกครั้งหนึ่ง
หากพบว่าเป็นมะเร็งจริงก็ต้องทำการรักษาตามภาวะของโรค อายุครรภ์ขณะที่พบโรค และความต้องการบุตร หากตรวจพบในระยะแรกของการตั้งครรภ์ และเป็นมะเร็งที่ยังไม่ลุกลาม อาจให้ตั้งครรภ์ต่อไปได้แต่ต้องตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดจนกระทั่งคลอด และหลังคลอด แต่ถ้าเป็นระยะที่เริ่มจะลุกลามแล้วและพบในระยะแรกของการตั้งครรภ์ ควรจะต้องทำการรักษาเลยโดยไม่คำนึงถึงการตั้งครรภ์ แต่ถ้าเป็นระยะหลังของการตั้งครรภ์ แพทย์ต้องประเมินว่าสามารถรอให้ปอดทารกมีความสมบูรณ์ก่อนพอที่จะมีชีวิตรอดเมื่อคลอดออกมาได้หรือไม่ ส่วนมากจะไม่รอเกินกว่า 8 สัปดาห์ ซึ่งการคลอดทารกต้องทำการผ่าตัดทารกออกทางหน้าท้องเสมอ เพื่อป้องกันการตกเลือด และการกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ส่วนการรักษามะเร็งปากมดลูกในแม่นั้นก็ใช้วิธีเดียวกันกับในหญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ ได้แก่
1.การผ่าตัด ถ้ามะเร็งอยู่เฉพาะปากมดลูกอาจจะตัดแค่บริเวณปากมดลูก แต่ถ้ามะเร็งแพร่กระจายมากแพทย์อาจจะตัดมดลูก ท่อรังไข่ รังไข่ รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
2.การให้รังสีรักษาทำได้ 2 วิธี
• โดยการให้รังสีรักษาจากเครื่อง แพทย์จะให้รังสีเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง 5วัน/สัปดาห์เป็นเวลา 5-6 สัปดาห์
• โดยการฝังแร่อาบรังสีบริเวณปากมดลูกฝังแต่ละครั้งนาน 1-3 วันต้องอยู่โรงพยาบาลใช้เวลารักษา 1-2 สัปดาห์
3.การให้เคมีบำบัด โดยการให้เคมีเข้าในเลือดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
4.การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้ภูมิคุ้มกันทำลายมะเร็ง ยาที่ใช้บ่อยคือ Interferon
การป้องกันมะเร็งปากมดลูกทำได้โดย 4 วิธี
1.ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการทำ Pap test สำหรับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว หรืออายุ 30 ปีขึ้นไปควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละครั้ง และผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อจะได้พบการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกตั้งแต่ในระยะแรก ซึ่งจะสามารถรักษามะเร็งก่อนลุกลามได้
2.ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆได้แก่ การสูบบุหรี่ การมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากเชื่อว่าเชื้อ Human Papilloma Viruses ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งปากมดลูกติดต่อทางเพศสัมพันธ์
3.ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV (Human Papilloma Viruses) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งปากมดลูก
มรว.นพ.ทองทิศ ทองใหญ่
(Some images used under license from Shutterstock.com.)