Haijai.com


พ่อแม่จ๋า อย่ารังแกหนู พ่อแม่รังแกฉัน


 
เปิดอ่าน 2508

พ่อแม่จ๋า อย่ารังแกหนู

 

 

‘ลูกเศรษฐีฟังว่าน้ำตาหลั่ง ตอบเสียงดัง “พ่อแม่รังแกฉัน!”
ร้องไห้โฮซบหน้าพลางจาบัลย์ คนบ้านนั้นต่างพากันมาดู
ท่านเจ้าข้า! พ่อแม่รังแกฉัน เขาใฝ่ฝันฟูมฟักฉันอักขู
ฉันทำผิดคิดระยำกลับค้ำชู จะว่าผู้รักลูกถูกหรือไร’
(พ่อแม่รังแกฉัน โดย พระยาอุปกิตศิลปสาร)

 

 

Problem

 

ไม่ว่ายุคไหน สมัยไหน คำว่า พ่อแม่รังแกฉัน ก็ยังมีให้ได้ยินและเห็นอยู่เสมอๆ ‘ลูกใครๆ ก็รัก’ แต่คุณพ่อคุณแม่รักลูกถูกทางหรือเปล่า แน่ใจไหมว่าสิ่งที่คุณเลือกและมอบให้ลูกนั้น เขาชอบหรือต้องการจริงๆ ไม่แน่นะคะ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ ‘หวังดี’ แต่สำหรับลูกมันอาจจะกลายเป็น ‘หวังร้าย’ ก็ได้ค่ะ เราลองมาดูพฤติกรรมที่เข้าข่าย ‘พ่อแม่รังแกฉัน’ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรพึงระวังที่จะปฏิบัติกับลูก และวิธีฝึกฝนลูกน้อยให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ค่ะ

 

 

พ่อแม่รังแกหนูอีกแล้ว

 

 ตามใจลูกมากเกินไป การที่คุณทำให้ลูกทุกอย่าง หรือให้ทุกสิ่งที่ลูกต้องการเพื่อแลกกับการหยุดร้องไห้ หรืออาละวาดของลูก ทำให้ลูกติดเป็นนิสัย “ถ้าฉันร้องไห้ ฉันก็จะได้ของนั้น” สุดท้ายจะทำให้ลูกติดนิสัยใจร้อน รอคอยไม่เป็น และเอาแต่ใจตัวเองในที่สุด

 

 

 เมื่อลูกทำผิด เช่น รังแกเพื่อน หรือแอบหยิบของโดยไม่บอก แล้วพ่อแม่ไม่ยอมลงโทษ หรือว่ากล่าวตักเตือนลูก ให้รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นสิ่งที่ผิด และไม่ควรทำอีก ลูกก็จะคิดว่าเขาไม่ได้ทำผิดอะไร และยังทำอีกจนติดเป็นนิสัย

 

 

 ผิดสัญญาที่ให้ไว้กับลูก เมื่อคุณมีสัญญากับลูก เช่น หากเขาทานข้าวหมดจาน เขาก็จะได้กินไอศกรีมด้วย คุณควรทำตามสัญญานั้น เพราะสำหรับเด็กๆ แล้วเขาจะจริงจังและยึดมั่นในคำสัญญานั้น หากเขาไม่ได้ในสิ่งที่คุณสัญญาไว้ เขาก็จะจำฝังใจและจะเป็นฝ่ายผิดสัญญาเองในครั้งต่อไป

 

 

Solution

 

หากคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากทำให้ลูกมีนิสัยที่ไม่พึงประสงค์ติดตัวเขาจนโตเป็นผู้ใหญ่แล้วล่ะก็ ควรฝึกนิสัยต่อไปนี้ให้ลูกตั้งแต่ยังเล็กๆ อยู่ เพราะไม้อ่อนดัดง่าย

 

 

ไม้แก่ดัดยากค่ะ

 

 ฝึกให้ลูกรู้จักเข้าใจอารมณ์ หัดยับยั้งอารมณ์ของตนเอง เช่น เมื่อเหตุการณ์ไม่ตรงกับสิ่งที่เขาคาดหวังไว้ เขาจะแสดงปฏิกิริยาทางอารมณ์ออกมาทันที เช่น โกรธ น้อยใจ กลุ้มใจ หรือหงุดหงิด ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกเข้าใจอารมณ์ และหัดยับยั้งอารมณ์ของตัวเอง แต่การที่จะฝึกสอนลูกได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก เพราะหากคุณเจ้าอารมณ์ ลูกก็จะเจ้าอารมณ์ตาม คุณโมโหแล้วขว้างของ เวลาที่ลูกโมโหเขาก็จะขว้างของตาม เพระเห็นในสิ่งที่พ่อแม่ทำ ก็เลยคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง พ่อแม่ทำได้เขาก็สามารถทำได้เช่นกัน

 

 

 ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองได้ เปิดโอกาสให้ลูก ช่วยตัวเองขึ้นมาตามวัย ทำให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้ และหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้

 

 

 ฝึกให้ลูกยอมรับความจริง เช่น ในการเล่นเป็นกลุ่ม ย่อมต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะ หรือสอนให้เขารู้ว่ามีสมหวัง ก็ย่อมมีความผิดหวัง ไม่มีใครได้ในสิ่งที่ต้องการทั้งหมด เพื่อให้ลูกยอมรับข้อผิดพลาด ความผิดหวังหรือเสียใจได้ เมื่อลูกยอมรับความจริงได้ เขาก็จะสามารถแก้ปัญหานั้นได้ด้วยตัวเอง

 

 

 ไม่ให้ความสนใจหรือเข้าไปห้ามปราม เวลาที่ลูกร้องเอาแต่ใจหรืออาละวาด เพราะอยากได้ของอะไรสักอย่าง แต่ให้อธิบายด้วยเหตุผลจนกว่าลูกจะหยุดไปเอง ห้ามใจอ่อนเด็ดขาด และต้องไม่ให้ความสำคัญต่อพฤติกรรมนี้โดยเด็ดขาด

 

 

 คอยให้กำลังใจ และให้ความสนใจแก่เด็กในช่วงที่เด็กพยายามฝึกฝน พร้อมทั้งชมเชยหรือให้รางวัลเมื่อเขาทำได้ แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตามค่ะ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)