Haijai.com


โรคท้องร่วงในเด็กเล็กและวิธีสังเกต


 
เปิดอ่าน 3639

ระวังร้อนนี้มันมากับอาหาร

 

 

หน้าร้อนกับโรคท้องร่วงเป็นของคู่กันมาแต่ไหนแต่ไรแล้วค่ะ เพราะเมืองไทยเป็นเมืองร้อน ซึ่งอุณหภูมิที่สูงๆ นี่แหละที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคเป็นอย่างดี โรคท้องร่วงที่เกิดในหน้าร้อนมักจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือปาราสิต เช่น เชื้ออหิวาต์ เชื้อบิดชนิดมีตัวและไม่มีตัว เชื้ออีโคไล และเชื้อสแตฟฟีโลคอคคัส เป็นต้น โดยเชื้อเหล่านี้มักจะปะปนมากับอาหาร และน้ำดื่มที่เรารับประทานเข้าไปนั่นเองค่ะ

 

 

โรคท้องร่วงในเด็กเล็กๆ มักจะมีอาการรุนแรงกว่าในผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กยังไม่มีภูมิต้านทานที่มากพอ หากลูกท้องร่วงคุณพ่อคุณแม่จึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะ ‘อาการขาดน้ำ’ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งถ้าได้รับการรักษาพยาบาลไม่ทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นการรักษาความสะอาดของอาหาร น้ำ และภาชนะของลูก จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่คุณแม่สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ ‘เอาใจใส่’ ให้มากๆ ค่ะ

 

 

อาหารไม่สะอาดเกี่ยวอะไรกับท้องร่วง

 

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ในอาหาร น้ำดื่ม หรือภาชนะเข้าไป เชื้อโรคก็จะเพิ่มจำนวนในเยื่อบุลำไส้เล็ก ทำให้เยื่อบุลำไส้ที่ติดเชื้อถูกทำลาย เป็นผลให้การทำหน้าที่ย่อยอาหารและดูดซึมสูญเสียไป ทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวมากกว่าปกติ จึงยังไม่ทันที่จะดูดซึมสารอาหารกลับสู่ร่างกายก็ถ่ายออกมา ลำไส้จึงไม่มีอุจจาระกักเก็บไว้ อุจจาระที่ถ่ายออกมาจึงเหลวมีน้ำมาก เกิดการเสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ซึ่งหากได้รับการรักษาพยาบาลไม่ทันท่วงที อาจทำให้เด็กช็อกเสียชีวิตได้จากการขาดน้ำ

 

 

อาการท้องร่วงและวิธีสังเกต

 

หากลูกถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งต่อวันหรือมากกว่า หรือถ่ายมีมูกเลือดปนออกมาด้วย มีไข้ อ่อนเพลีย อาเจียน ปัสสาวะน้อย

 

 

ลูกท้องร่วง แม่รับมือได้

 

1.ป้องกันการขาดน้ำ โดยให้ลูกดื่มของเหลวเพิ่มขึ้น เช่น น้ำข้าว น้ำแกงจืด (ที่คุณแม่ปรุงเอง) หรือสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ โอ อาร์ เอส เพื่อป้องกันการขาดน้ำในร่างกาย โดยให้ทานทีละน้อย และทานบ่อยๆ

 

 

2.ให้อาหารและนมตามปกติ ลูกยังต้องการอาหารและนมขณะที่ยังมีอาการท้องร่วงอยู่ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหารที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นคุณแม่ควรปรุงอาหารด้วยตัวเอง และภาชนะที่ประกอบอาหารให้ลูกควรผ่านการล้างทำความสะอาดเป็นพิเศษค่ะ  นอกจากนี้ควรงดนมที่มีน้ำตาลแลคโตส

 

 

3.รีบพาลูกไปพบแพทย์ หากภายใน 12 ชั่วโมงลูกอาการยังไม่ดีขึ้น คุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

 

 

จะรู้ได้อย่างไรว่า ‘ลูกขาดน้ำ’

 

หากลูกร้องไห้แล้วไม่มีน้ำตาไหลออกมา ไม่ถ่ายปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง แก้มตอบ ตาลึกกลวง มีไข้สูง งอแงผิดปกติ ผิวแห้ง ปากและลิ้นแห้ง เหล่านี้คืออาการเบื้องต้นของ การขาดน้ำ ค่ะ ดังนั้นหากลูกของคุณมีอาการขาดน้ำให้รีบพาไปพบแพทย์โดยด่วนค่ะ

 

 

ป้องกันได้ก่อนเกิดเหตุ

 

 ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนที่คุณแม่จะลงมือเตรียมอาหาร ป้อนข้าวหรือชงนมให้ลูกค่ะ เพราะเชื้อโรคอาจติดอยู่ที่มือแล้วปนเปื้อนไปในอาหารก็ได้ค่ะ รวมทั้งฝึกให้เจ้าตัวเล็กล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำให้ติดเป็นนิสัย

 

 

 ภาชนะที่ใส่อาหารสำหรับลูกต้องสะอาดอยู่เสมอ เช่น จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ รวมไปถึงขวดนม ของใช้ประจำตัวของลูกให้คุณแม่ล้างก่อนนำมาใช้ทุกครั้ง เพราะฝุ่นหรือเชื้อโรคที่ติดอยู่อาจทำให้เจ้าตัวเล็กได้รับเชื้อโรคไปสะสมในร่างกายก็ได้ คุณแม่อย่าลืม! นะคะว่า เด็กเล็กๆ ยังมีภูมิต้านทานที่ไม่แข็งแรงพอที่จะต้านทานเชื้อโรคบางประเภทได้

 

 

 ผักและผลไม้ เครื่องปรุงที่ใช้ประกอบอาหารต้องสด ใหม่ และล้างให้สะอาด ก่อนเลือกซื้อผักผลไม้ และเครื่องปรุงที่ใช้ประกอบอาหารคุณแม่ต้องสังเกตดูให้ดี เช่น กระเทียม ถั่วลิสงป่นขึ้นราหรือเปล่า ผักและผลไม้มีสภาพสด ใหม่หรือเปล่า เนื้อสัตว์ไม่มีกลิ่นเหม็น สีสดเป็นธรรมชาติไหม ฯลฯ และก่อนที่จะนำมาประกอบอาหารต้องล้างให้สะอาดก่อนทุกครั้งค่ะ

 

 

 ปรุงอาหารด้วยตัวเองดีที่สุด ปัจจุบันคุณแม่บ้านมักจะซื้ออาหารที่ทำสำเร็จแล้วรับประทาน ซึ่งเราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า การปรุงอาหารนั้นสะอาด ปลอดภัยทุกขั้นตอนหรือเปล่า ดังนั้นถ้าพอมีเวลาคุณแม่ควรทำอาหารด้วยตัวเอง นอกจากจะได้อาหารที่รสชาติถูกใจและมีคุณค่าสารอาหารครบถ้วนแล้ว ยังรับรองได้ด้วยว่า ‘สะอาดและปลอดภัยแน่นอน’ ค่ะ

 

 

แพทย์หญิงปวินทรา หะริณสุต สมนึก

กุมารแพทย์

โรงพยาบาลบีเอ็นเอช

(Some images used under license from Shutterstock.com.)