© 2017 Copyright - Haijai.com
5 วิธีหยุดลูกอาละวาด
ลูกจ๋า ทำไมอาละวาดแบบนี้ คุณแม่คงเคยเจอกับสถานการณ์ที่ลูกน้อยของคุณแม่ มักจะมีอาการอาละวาดบ้านแทบแตก เวลาที่เขาไม่พอใจหรือไม่ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ การอาละวาดออกมาของลูกแสดงถึงพฤติกรรมที่ซ่อนอยู่ในตัวของลูก และหากพฤติกรรมนี้ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนไปในทางที่ถูกต้อง ลูกก็อาจมีพฤติกรรมอาละวาดแบบนี้ติดนิสัยไปจนโตได้ค่ะ
1.คุณแม่ควรมีความสุขและสนุกสนานเวลาอยู่กับลูก เพราะการที่คุณโมโหอยู่ตลอดเวลา เมื่ออยู่กับลูกแล้วลูกไม่ได้ดั่งใจจะไม่ส่งผลดีทั้งต่อคุณและลูกค่ะ ลองหาโอกาสพากันไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ หรือปลูกต้นไม้ร่วมกัน ก็จะช่วยให้ทั้งอารมณ์ของลูกเย็นลง และคุณแม่ก็จะสบายใจขึ้นด้วย
2.คุณแม่ลองทบทวนดูว่า คุณห้ามลูกด้วยคำว่า “อย่า” บ่อยเพียงใด พยายามลดคำว่าอย่ากับลูกลง โดยหลีกเลี่ยงไปใช้คำพูดว่า “ไว้เราค่อยมาเล่นกันทีหลัง” หรือ “ไว้ครั้งหน้าเราค่อยไปกันใหม่” แทนการพูดว่า “ไม่” หรือ “อย่า” เพราะคำพูดเหล่านี้อาจจะเข้าข่ายยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุ ลูกยิ่งอาละวาดเข้าไปใหญ่ค่ะ
3.คุณลองหาสาเหตุดูว่าลูกกำลังเผชิญกับความเครียดอะไรอยู่หรือไม่ เช่น การเปลี่ยนโรงเรียน หรือได้ยินพ่อแม่ทะเลาะกัน หรือคุณกำลังมีลูกคนเล็กอีกคน ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดอาการอาละวาดขึ้นได้ ดังนั้นคุณควรที่จะให้ความสำคัญกับต้นเหตุของปัญหาและหาทางแก้ พูดให้ลูกเข้าใจและสบายใจขึ้น มากกว่าสนใจกับการอาละวาดของลูกอย่างเดียว โดยที่ไม่ดูเรื่องราวรอบข้างตัวลูก
4.คุณแม่ต้องรู้จักสังเกตและจดบันทึกว่าลูกอาละวาดตอนไหนบ้าง เพื่อดูการอาละวาด ช่วงเวลาและเหตุผลที่ทำให้ลูกอาละวาดมากขึ้น เช่น ลูกงอแงตอนง่วงนอน หรือตอนที่หิวจนหงุดหงิด เป็นต้น
5.สุดท้าย คุณแม่ต้องจำไว้เสมอว่า ห้ามลงโทษลูกที่กำลังอาละวาดเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่และเลวร้ายลงไปได้ค่ะ
รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี คืออะไร
เป็นสุภาษิตไทยที่ฟังกี่ครั้งก็สามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับการเลี้ยงดูลูกได้ทุกยุคทุกสมัยเลย เพราะลูกกว่าจะเติบโตเป็นคนดีได้ต้องอบรมสั่งสอน มีการลงโทษตามความเหมาะสมลูกถึงจะได้ดี ถูกก็ว่าไปตามถูก ผิดก็ว่าไปตามผิด แต่ถ้าไม่มีการลงโทษลูกในเรื่องที่ทำผิด ลูกอาจจะเอาแต่ใจตัวเองได้ อย่างไรก็ดี ในยุคสมัยนี้อาจต้องปรับใช้คำสุภาษิต โดยคำว่า “ตี” อาจสื่อความหมายรวมไปถึงการลงโทษ ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องตีลูกเสมอไป การลงโทษมีหลายวิธี คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะมีวิธีที่จะลงโทษลูกได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์นะคะ จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลัง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)