Haijai.com


พัฒนาการเด็กด้วยทฤษฎีพหุปัญญา


 
เปิดอ่าน 3073

ทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences)

 

 

ศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยา นักการศึกษา และศาสตราจารย์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard University, USA เจ้าของ “ทฤษฎีพหุปัญญา” (Theory of Multiple Intelligences) ผู้ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์โดยปกตินั้นมีปัญญา ความสามารถในตัวตนอยู่หลายด้านด้วยกัน ซึ่งปัญญา ความสามารถแต่ละด้านนั้นจะมีความโดดเด่นในตัวตนคนหนึ่งที่แตกต่างกันออกไป โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ เชื่อว่าความสามารถของคนมีหลายด้าน ไม่ได้มีเฉพาะด้านคณิตศาสตร์ หรือภาษาเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น นักเรียนในห้องเรียนเดียวกัน เรียนหนังสือเรื่องเดียวกัน จากครูคนเดียวกัน แต่มีคนหนึ่งเก่งเลข อีกคนไม่เก่งเลขแต่เล่นกีฬาเก่ง เป็นต้น โดยพหุปัญญานี้ในตัวตนคนหนึ่งจะมีความโดดเด่นในด้านต่างๆ แตกต่างกันออกไปด้วยทฤษฎีพหุปัญญานี้เอง จะทำให้เราทราบได้ว่าเราที่เป็นพ่อแม่จะสามารถพัฒนาลูกของเราได้อย่างไร จากด้านใดบ้างที่ลูกมีความเด่นหรือถนัด ทฤษฎีนี้ไม่ได้มุ่งหวังที่จะชี้วัดความฉลาดหรือความเก่งของเด็ก แต่ทฤษฎีนี้เป็นตัวชี้ให้พ่อแม่เข้าใจถึงความเป็นตัวตนของลูกมากขึ้น

 

 

โฮวาร์ด การ์ดเนอร์นั้นได้ค้นพบพหุปัญญาเบื้องต้นอย่างน้อย 8 ด้านด้วยกัน ดังนี้

 

 ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence) ความสามารถในการใช้ภาษารูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ภาษาพื้นเมือง รวมถึงภาษาอื่นๆ ที่มีอยู่บนโลกใบนี้ด้วย สามารถรับรู้เข้าใจภาษา และสามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจตามที่ต้องการ ในตัวเด็กที่มีความโดดเด่นในด้านนี้ มักจะเป็นกวี นักเขียน นักพูด นักหนังสือพิมพ์ ครู ทนายความ หรือนักการเมือง เป็นต้น

 

 

 ปัญญาด้านตรรกศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence) ความสามารถในการคิดแบบมีเหตุและผล การคิดเชิงนามธรรม การคิดคาดการณ์และการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ ในตัวเด็กที่มีความโดดเด่นในด้านนี้มักที่จะเป็นนักบัญชี นักสถิติ นักคณิตศาสตร์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเขียนโปรแกรม หรือวิศวกร เป็นต้น

 

 

 ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Visual-Spatial Intelligence) ความสามารถในการรับรู้ทางสายตาได้ดี สามารถมองเห็นพื้นที่ รูปทรง ระยะทางและตำแหน่งอย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แล้วถ่ายทอดแสดงออกมาอย่างกลมกลืน มีความไวต่อการรับรู้ในเรื่องทิศทาง ในตัวเด็กที่โดดเด่นด้านนี้จะมีทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ สายวิทย์มักที่จะเป็นนักประดิษฐ์ วิศวกร ส่วนสายศิลป์ก็มักเป็นศิลปินในแขนงต่างๆ เช่น จิตรกร วาดรูป ระบายสี เขียนการ์ตูน นักปั้น นักออกแบบ ช่างภาพ หรือสถาปนิก เป็นต้น

 

 

 ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily Kinesthetic Intelligence) ความสามารถในการควบคุมและแสดงออกซึ่งความคิด ความรู้สึก โดยใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงความสามารถในการใช้มือประดิษฐ์ ความคล่องแคล่ว ความแข็งแรง ความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น ความประณีตและความไวทางประสาทสัมผัส เด็กที่มีความโดดเด่นด้านนี้มักจะเป็นนักกีฬา หรือไม่ก็ศิลปินในแขนงนักแสดง นักฟ้อน นักเต้น นักบัลเล่ย์ หรือนักแสดงกายกรรม เป็นต้น

 

 

 ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence) ความสามารถในการซึมซับ และเข้าถึงสุนทรียะทางดนตรี ทั้งการได้ยิน การรับรู้ การจดจำและการแต่งเพลง สามารถจดจำจังหวะ ทำนอง และโครงสร้างทางดนตรีได้ดี และถ่ายทอดออกมาโดยการฮัมเพลง เคาะจังหวะ เล่นดนตรี และร้องเพลง เด็กที่มีความโดดเด่นด้านนี้มักจะเป็นนักดนตรี นักประพันธ์เพลง หรือนักร้อง เป็นต้น

 

 

 ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence) ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ทั้งด้านความรู้สึกนึกคิด อารมณ์และเจตนาที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน มีความไวในการสังเกต สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง สามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม สร้างมิตรภาพได้ง่าย เจรจาต่อรอง ลดความขัดแย้ง สามารถจูงใจผู้อื่นได้ดี เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคน เด็กที่มีความโดดเด่นในด้านนี้มักที่จะเป็นครู อาจารย์ ผู้ให้คำปรึกษา นักการทูต เซลล์แมน พนักงานขายตรง พนักงานต้อนรับ ประชาสัมพันธ์ นักการเมือง หรือนักธุรกิจ เป็นต้น

 

 

 ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence) ความสามารถในการรู้จัก ตระหนักรู้ในตนเอง สามารถเท่าทันตนเอง ควบคุมการแสดงออกอย่างเหมาะสมตามกาลเทศะและสถานการณ์ รู้ว่าเมื่อไรควรเผชิญหน้า เมื่อไรควรหลีกเลี่ยง เมื่อไรต้องขอความช่วยเหลือ มองภาพตนเองตามความเป็นจริง รู้ถึงจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของตนเอง ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าตนมีจุดแข็งหรือความสามารถในเรื่องใด มีความรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความคาดหวัง ความปรารถนา และตัวตนของตนเองอย่างแท้จริง เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคนเช่นกัน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความสุข เด็กที่มีความโดดเด่นด้านนี้มักจะเป็นนักคิด นักปรัชญา หรือนักวิจัย เป็นต้น

 

 

 ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence) ความสามารถในการรู้จักและเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เข้าใจกฎเกณฑ์ ปรากฏการณ์ และการรังสรรค์ต่างๆ ของธรรมชาติ มีความไวในการสังเกตเพื่อคาดการณ์ความเป็นไปของธรรมชาติ มีความสามารถในการจัดจำแนก แยกแยะประเภทของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ เด็กที่มีความโดดเด่นด้านนี้มักจะเป็นนักธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย หรือนักสำรวจธรรมชาติ เป็นต้น

 

 

ผลจากทฤษฎีพหุปัญญานี้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้จักสังเกต และนำมาวิเคราะห์ถึงเหตุและผลที่จะเกิดขึ้นได้กับลูกๆ ของเราที่มักจะแสดงออกทางปัญญา 1 ใน 8 ด้านนี้ที่มีความโดดเด่นออกมาไม่ว่าด้านใดด้านหนึ่ง ถ้ารู้แล้วก็จะง่ายต่อการนำมาพัฒนาแนวในการเลี้ยงดู และการพัฒนาในส่วนที่ลูกมีความถนัดให้มีประสิทธิภาพพร้อมที่จะได้เรียนรู้ให้มีความเก่ง และความสามารถต่อไปได้ในอนาคต

(Some images used under license from Shutterstock.com.)