
© 2017 Copyright - Haijai.com
สอนลูกคิดบวก Positive Thinking good for kids
เด็กกับความอยากรู้ อยากเห็นเป็นของคู่กันเสมอๆ จนบางครั้งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่หัวหมุนได้เหมือนกัน แต่ถ้าลองมองอีกด้านหนึ่งแล้ว นี่เป็นโอกาสที่ดีหากคุณอยากจะปลูกฝังนิสัยที่ดีให้กับลูก เช่น ความมีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย หรือแม้กระทั่งอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเขาเอง หากเขาขาดความระมัดระวัง และไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ ดังสถานการณ์ตัวอย่างต่อไปนี้ค่ะ
DON’T
1.หากคุณแม่กำลังทำความสะอาดบ้านอยู่ แล้วเขาขอช่วยทำหรืออาจจะทำเลียนแบบตามคุณ จับนู่น จับนี่ก็อย่าเพิ่งไล่เขาไปนะคะ ถึงแม้นั่นจะหมายถึงความวุ่นวายและงานจะเสร็จล่าช้าลงก็ตาม
2.หากคุณแม่กำลังรีดผ้าอยู่แล้วเจ้าตัวยุ่งมาป้วนเปี้ยนใกล้ๆ เตารีดที่กำลังร้อน พอไล่ก็ไม่ไปแถมยังมีท่าทีจะจับด้วยมือเปล่าอีกด้วย ถ้าเหตุการณ์เป็นในลักษณะนี้คุณแม่อย่าห้ามเขานะคะ
DO
1.ถ้าเจ้าตัวยุ่งอยากช่วยทำนู่นทำนี่ คุณแม่ควรลืมความเป็นระเบียบเรียบร้อยไว้ชั่วคราวนะคะ แล้วเปิดโอกาสให้เขาได้ทำบ้าง ที่สำคัญทุกคนในบ้านควรมีส่วนร่วมด้วย โดยอาจเริ่มจากงานง่ายๆ ก่อน และถ้าจะให้ดีให้หาอุปกรณ์ชิ้นจิ๋วเตรียมไว้สำหรับเขา ทุกอย่างจะได้ดูง่ายขึ้นสำหรับเด็กเล็กๆ และเขาจะมีความกระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้นด้วยค่ะ
2.คุณแม่ไม่ควรห้ามเขาด้วยคำว่า “อย่า” เพราะจะเข้าทำนอง “ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ” ดังนั้นหากเขาอยากรู้ อยากเห็นก็ให้คุณแม่ใช้เตารีดรีดที่รองรีดแล้วให้เขาเอามือแตะตรงนั้นดูว่าความร้อนเป็นอย่างไร แต่คุณแม่ควรตรวจสอบก่อนว่าไม่ร้อนจนเกินไปสำหรับเขานะคะ จากนั้นให้คุณแม่พูดคุยกับเขาว่า “นี่ไม่ได้โดนเตารีดโดยตรงนะ ยังร้อนขนาดนี้เลย แล้วถ้ามือไปโดนล่ะจะร้อนขนาดไหน เพราะฉะนั้นเวลาที่แม่รีดผ้าหนูยังไม่ต้องช่วย รอให้หนูโตก่อนนะ”
Positive Thinking
1.เพราะงานบ้านถือเป็นกิจกรรมอย่างดีที่ช่วยสอนและฝึกฝนให้เขารู้จักดูแลตนเองและผู้อื่น ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันด้วยการร่วมมือร่วมแรงระหว่างคนในครอบครัว ได้รู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบและการแบ่งงานกันทำ การช่วยเหลือกัน นับเป็นการฝึกฝนอย่างหนึ่งที่สำคัญสำหรับเด็กทีเดียวเชียว
2.ถ้าเขาเรียนรู้ด้วยตนเองว่าความร้อนทำให้รู้สึกเป็นอย่างไรแล้ว เขาก็จะมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น และไม่กล้าเข้าใกล้ความร้อนอีกเลยค่ะ
นอกจากการคิดบวกแล้ว คุณแม่ควรมีคำพูดเชิงบวกด้วย เช่น เมื่อเห็นลูกถือแก้วน้ำแทนที่จะพูดว่า “อย่าให้หกนะ” ก็พูดว่า “จับแน่นๆ นะลูก” ก็จะช่วยให้เขาไม่เกร็งและสามารถถือแก้วน้ำไว้ด้วยความมั่นใจ พูดชมเชยเมื่อเขาทำสำเร็จและลองให้เขาพยายามทำใหม่ เมื่อเขาทำอะไรผิดพลาดไม่ควรดุด่า หรือตะคอกลูกเด็ดขาด ควรหมั่นให้กำลังใจและคำชมเชยเพื่อกระตุ้นให้เขารู้สึกอยากลองทำสิ่งใหม่ๆ และมีแรงฮึดที่จะพยายามใหม่อีกครั้ง แล้วเขาก็จะประสบความสำเร็จเองในที่สุดค่ะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)