© 2017 Copyright - Haijai.com
5 วิธีฝึกลูกให้หลับได้ด้วยตัวเอง
จริงๆ แล้วเด็กวัยแรกเกิดไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างกลางวันและกลางคืนได้ จึงทำให้เขาตื่นนอนคืนละหลายๆ ครั้งและเข้านอนไม่เป็นเวลา นอกจากจะส่งผลให้คุณพ่อคุณแม่เหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า หงุดหงิดง่ายแล้ว ยังทำให้เจ้าตัวเล็กหงุดหงิดง่ายอีกด้วย ดังนั้นการฝึกลูกให้หลับได้ด้วยตัวเองจึงมีความสำคัญและต้องอาศัยความมุ่งมั่นของคุณพ่อคุณแม่ หากยอมแพ้ตั้งแต่สองวันแรกลูกจะต่อต้านการฝึกครั้งต่อไปมากขึ้น
ก่อนจะฝึกลูกให้หลับได้ด้วยตัวเอง เราไปรู้จักหลักพื้นฐานกันก่อนดีกว่าค่ะ ซึ่งควรปฏิบัติก่อนเลือกวิธีฝึกลูกเข้านอนวิธีใดวิธีหนึ่งค่ะ
1.พาลูกไปนอนบนเตียงขณะที่เขายังตื่นอยู่ทุกครั้ง
2.พูดกับลูกด้วยประโยคเดิมทุกครั้งตอนพาลูกไปนอนบนเตียง เพื่อเตือนให้เขารู้ว่า ‘ได้เวลาเข้านอนแล้ว
3.ให้ลูกหลับเองด้วยวิธีเดียวกันเสมอ ไม่ว่าจะนอนกลางวันหรือกลางคืน
4.หากต้องไปดูลูกที่เตียง พยายามทำให้ลูกหลับโดยไม่ต้องอุ้มขึ้นจากเตียง
5.อย่าทำให้สภาพของห้องนอนลูกเปลี่ยนไปขณะที่เขานอนหลับ เช่น เปิดหรือปิดไฟ ย้ายของในห้อง เพราะถ้าเขาตื่นมาตอนดึกระหว่างช่วงเปลี่ยนระยะของการนอน จะทำให้เขาไม่คุ้นกับห้องและอาจทำให้เขาหลับต่อเองยาก
วิธีฝึกลูกให้หลับได้ด้วยตัวเอง
1.วิธีหักดิบ นำลูกไปนอนที่เตียง กล่าวราตรีสวัสดิ์แล้วปล่อยเอาไว้อย่างนั้น โดยไม่กลับไปหาลูกอีก
ถึงแม้เขาจะร้องไห้ก็ตาม เพราะหากไม่ได้รับการตอบสนองจากพ่อแม่ ลูกก็จะยอมแพ้และหลับไปเองในที่สุด วิธีนี้เป็นวิธีใช้ไม้แข็ง มีประสิทธิภาพสูง เห็นผลชัดเจนภายในเวลาประมาณ 3 วัน และต้องการความหนักแน่นจากพ่อแม่ เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ยอมแพ้หลังเวลาผ่านไปเพียงครึ่งชั่วโมง หรือล้มเลิกการฝึกตั้งแต่ 2 คืนแรกแล้วล่ะก็ ลูกจะเรียนรู้วิธีเอาชนะในครั้งต่อๆ ไป
2.วิธีควบคุมการร้องของลูก นำลูกไปนอนที่เตียง กล่าวราตรีสวัสดิ์แล้วออกจากห้อง ก่อนจะใช้วิธีนี้ควร
กำหนดเวลาว่าจะปล่อยให้ลูกร้องกี่นาทีก่อนกลับเข้าไปหาเขา ถ้าลูกร้องไห้หลังจากออกมาแล้วให้รอถึงเวลาที่กำหนดไว้แล้วค่อยกลับเข้าไปหาเขา และเมื่อออกมาอีกครั้งหากเขายังร้องไห้อยู่ให้ทิ้งระยะนานกว่าครั้งแรกแล้วค่อยเข้าไปหาเขา ทำแบบนี้และค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาให้นานขึ้น จนเขาหลับไปในที่สุด วิธีนี้เป็นวิธียอดนิยมและได้ผลภายใน 2-3 คืน แต่ช่วงแรกๆ อาจต้องใช้เวลาติดต่อกันนานถึง 2 ชั่วโมง และจำไว้ว่า "ทุกครั้งที่กลับเข้าไปหาลูก ไม่ควรอุ้มเขาขึ้นมาปลอบโดยเด็ดขาด ควนปลอบขณะที่เขานอนอยู่บนที่นอนเท่านั้น"
3.วิธีสร้างความมั่นใจให้กับลูก ให้ลูกรู้สึกว่า พ่อแม่อยู่ใกล้ๆ แต่ต้องหนักแน่นเพื่อให้ลูกรู้ว่า ถึงเวลาต้อง
นอนแล้ว โดยพาลูกไปนอนที่เตียง กล่าวราตรีสวัสดิ์แล้วเดินไปที่ประตู หากเขาร้องให้กลับเข้าไปหาเขาพูดประโยคเดิมแล้วเดินออกไปอีก ทำซ้ำแบบนี้จนเขาหลับ วิธีนี้เหมาะสำหรับพ่อแม่ที่ใจไม่แข็งพอ ไม่อาจทำใจปล่อยให้ลูกร้องได้ ช่วงแรกต้องใช้เวลามาก มักจะเห็นผลภายในหนึ่งสัปดาห์
4.วิธีให้รางวัลล่อใจ หลังจากพาลูกไปนอนที่เตียงแล้วให้หอมหน้าผากลูก แล้วบอกว่า เดี๋ยวจะกลับมา
หอมอีก จากนั้นให้หอมเขาอีกทีแล้วค่อยๆ ถอยออกมา กลับไปหอมเขาอีกที และออกจากห้องไป ซักพักกลับเข้าไปหอมเขาใหม่ทำซ้ำๆ จนเขาหลับ เป็นวิธีสร้างความมั่นใจให้กับลูก เหมาะสำหรับเด็กวิตกกังวลง่ายโดยเฉพาะเรื่องนอน มักเห็นผลภายในหนึ่งสัปดาห์
5.วิธีค่อยเป็นค่อยไป พาลูกเข้านอนแล้วนั่งเงียบๆ ข้างเตียงลูก ขณะที่เขากำลังเคลิ้มหลับให้ขยับเก้าอี้ห่างจากเตียงขึ้นเรื่อยๆ ค่อยๆ เพิ่มระยะขึ้นทุกวัน จนในที่สุดสามารถออกจากห้องได้ระหว่างที่เขากำลังจะหลับ วิธีนี้เป็นวิธีที่นุ่มนวล เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับพ่อแม่ที่ยังต้องนอนด้วยกันลูกถึงจะหลับ ใช้หลักการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย ทำให้คุ้นเคยได้ง่ายกว่าการหักดิบ แต่อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์จึงจะประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตามทั้ง 5 วิธีที่กล่าวมานั้น ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะเลือกใช้วิธีไหน อย่าใช้ความรู้สึกเพียงอย่างเดียวหรือเชื่อตามคนอื่นที่เขาทำแล้วประสบผลสำเร็จ เมื่อเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งแล้วต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ต้องอาศัยความหนักแน่น ความมุ่งมั่นของพ่อแม่ ห้ามใจอ่อนเมื่อเห็นลูกร้องไห้เด็ดขาด หากยอมแพ้ตั้งแต่สองวันแรกลูกจะต่อต้านการฝึกครั้งต่อไปและฝึกยากมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ต้องเลือกแล้วล่ะค่ะ ระหว่างความสงสารเมื่อเห็นลูกร้องไห้หรือยอมทน เพื่อให้ลูกน้อยนอนหลับสบายและฝันดีตลอดคืนค่ะ
ข้อควรรู้
• จากการวิจัยพบว่า หากทารกนอนหลับสบายตอนกลางคืนก็จะมีความสุขในตอนกลางวัน ส่วนทารกซึ่งนอนไม่เต็มที่มักหงุดหงิดง่าย
• หากคุณพ่อคุณแม่กังวลว่า การร้องจะเป็นการทำร้ายลูกหรือเปล่านั้น ไม่ต้องกังวลค่ะเพราะยังไม่มีงานวิจัยสนับสนุนความคิดนี้ ในความเป็นจริงการร้องของลูกเป็นสิ่งบ่งบอกว่าลูกมีสุขภาพดี และเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งของเด็กค่ะ
• Growth Hormone เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายจะสร้างตอนกลางคืนเท่านั้น ถ้าเด็กคนไหนตื่นบ่อย Growth Hormone ก็จะถูกรบกวนการสร้าง เด็กที่หลับสนิท หลับยาวต่อเนื่องทั้งคืนจะทำให้ร่างกายเขาเจริญเติบโตสมวัยและมีความสุขค่ะ
• การเล่นกับลูกช่วงกลางวัน จะช่วยให้เขาเพลียจนหลับได้ง่ายในตอนกลางคืน
• เมื่ออายุ 2 เดือน เด็กส่วนใหญ่กล่อมตัวเองให้นอนหลับต่อไปหลังตื่นขึ้นกลางดึกได้
• การฝึกให้ลูกรู้ว่า กลางคืนเป็นเวลานอนเป็นพื้นฐานของการนอนหลับฝันดีตลอดคืน
• ถ้าอุ้มลูกไว้จนหลับคาอ้อมกอด เวลาตื่นขึ้นมากลางดึก ลูกก็จะให้อุ้มแบบเดิมจึงจะหลับต่อไปได้ค่ะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)