© 2017 Copyright - Haijai.com
การได้ยินของลูกตัวน้อย
ที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องให้ความสนใจและเอาใจใส่ให้มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องของพัฒนาการการได้ยินของหูลูกน้อย วัยทารกนั้นเรื่องของการได้ยินถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการไม่ได้ยินจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการต่างๆ ได้ ที่สำคัญในช่วงอายุขวบปีแรกหากไม่ได้รับการกระตุ้นหรือทดสอบการได้ยินก็อาจส่งผลต่อการออกเสียง และการพูดของลูกได้ในอนาคตต่อไป
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกได้ยินเสียงหรือเปล่า
คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกไปทดสอบสมรรถภาพทางการได้ยินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ง่ายๆ โดยการใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า OAE (Otoacoustic emission) ซึ่งเป็นเครื่องที่ใช้ตรวจวินิจฉัยปัญหาการได้ยินของลูกได้ตั้งแต่แรกเกิด คุณพ่อคุณแม่ก็จะทราบว่าลูกมีปัญหาเรื่องการได้ยินหรือไม่อย่างไร หากเกิดปัญหาขึ้นก็จะสามารถแก้ไขได้โดยเร็ว ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป
การทดสอบสมรรถภาพการได้ยินของลูก ทำได้ 2 วิธี
• การทดสอบการได้ยินโดยการใช้อุปกรณ์ OAE (Otoacoustic) เป็นการทดสอบโดยให้ทารกฟังเสียงจากหูฟังเล็กๆ โดยคอมพิวเตอร์จะทำการวัดระดับความดังของเสียงที่หูทารกได้สะท้อนกลับมา การทดสอบจะทำในขณะที่ทารกยังหลับอยู่
• การทดสอบการได้ยินด้วยอุปกรณ์ ABR (Auditory Brainstem Response Test) การทดสอบโดยให้ทารกได้ยินเสียงผ่าน Head Phone การทดสอบนี้จะสามารถวัดการได้ยินของทารก
สังเกตการได้ยินของลูก
อายุ |
พฤติกรรมตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยิน |
0-3 เดือน |
เมื่อลูกได้ยินเสียงที่ดังๆ เช่นเสียงที่คุณแม่เรียก หรือพูดด้วย ลูกก็จะมีอาการเงียบลงเมื่อได้ยินเสียง |
6-10 เดือน |
ลูกจะหันศีรษะมองหาต้นเสียงที่เขาคุ้นเคย เช่นเสียงของพ่อแม่ที่เรียกเขา โดยที่ลูกจะทำเสียงดังหรือมีเสียงจากลำคอ อย่างเสียงคราง |
10-15 เดือน |
ลูกสามารถทำเสียงที่ซ้ำๆ กันได้ และก็จะเลียนแบบเสียงที่คุณแม่ทำ สามารถชี้หรือเข้าหาสิ่งของที่คุ้นเคย อย่างตุ๊กตาหมี ของเล่นเขย่ามีเสียงกรุ๊งกริ๊ง |
ลูกจะได้ยินเสียงตั้งแต่ตอนนอนอยู่ในครรภ์คุณแม่
นักวิจัยได้ทำการศึกษาการได้ยินของทารกในครรภ์ด้วยวิธีต่างๆ เพื่อศึกษาถึงการได้ยินของทารก โดยเริ่มจากการดูการเคลื่อนไหวของทารกจากการอัลตราซาวนด์ เมื่อทารกถูกกระตุ้นด้วยเสียงเพลงที่เปิดไมโครโฟนที่ติดไว้บนหน้าท้องของแม่ พบว่าทารกจะกระพริบตาแสดงการตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยิน และอีกวิธีคือสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นของหัวใจ เมื่อกระทารกด้วยเสียง ผลจากการศึกษาสรุปได้ว่าทารกเริ่มได้ยินเมื่ออายุประมาณ 24 สัปดาห์ แต่ยังไม่สามารถจำแนกเสียงได้จนกว่าจะย่างเข้าอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ทารกก็จะมีพัฒนาการการแยกเสียงได้ พออายุครรภ์ 35 สัปดาห์ขึ้นไปทารกจะแยกเสียงต่ำและเสียงสูงได้
ทารกที่อยู่ในครรภ์จะได้ยินอะไร
จริงๆ แล้วต้องบอกให้ทราบกันคะว่าเสียงต่ำของคุณพ่อนั้นสามารถที่จะผ่านหน้าท้องของแม่ไปถึงลูกได้ดีมากๆ คุณพ่อควรที่จะพูดคุยกับลูกตั้งแต่ลูกอยู่ในครรภ์เพราะถือเป็นการพัฒนาการการได้ยินของลูกได้เป็นอย่างดี และเสียงที่คุณแม่พูดคุยกับลูกขณะอยู่ในท้องนั้นสามารถทำให้ลูกได้ยินเสียงของแม่ได้ชัดเจนและเกิดความคุ้นเคยใกล้ชิดกับเสียงแม่มากๆ นอกจากนี้ทารกยังได้ยินเสียงที่เกิดจากเลือดไหลในหลอดเลือดเข้ามาที่มดลูกตลอดเวลาอีกด้วย ซึ่งเสียงของคุณพ่อ คุณแม่ เสียงเพลงที่เปิดให้ลูกฟัง เสียงจะไปช่วยกระตุ้นพัฒนาการสมองของทรกตั้งแต่ก่อนทารกเกิด ระบการได้ยินของทารกซึ่งพัฒนาได้ก่อนการเห็นจึงกระตุ้นปมประสาท(Synapse) และระบบสมองเกี่ยวกับการได้ยิน(Tonotopic map) ของสมองทารกเกือบจะเต็มที่ทารกหลังเกิดจึงสามารถจะจำได้ว่าเป็นเสียงของแม่ที่ได้ยินอยู่ทุกวันเมื่อครั้งอยู่ในท้อง จึงช่วยให้ทารกรู้สึกอบอุ่นเมื่อลืมตาออกมาสู่โลกกว้างแล้วได้ยินเสียงที่คุ้นๆ หู อย่างเสียงของพ่อกับแม่
ประสาทหูรับคลื่นเสียงได้อย่างไร
เสียงที่เกิดขึ้นเมื่อผ่านรูหูเข้าไปกระทบกับแก้วหู ซึ่งส่งแรงสั่นสะเทือนไปยังกระดูกหูเล็กๆ 3 ชิ้น ซึ่งจะเรียกตามรูปร่าง คือ กระดูกรูปทั่ง กระดูกรูปค้อน และกระดูกรูปโกน และจะส่งแรงสั่นสะเทือนส่งต่อเข้าไปทางช่องเล็กๆ ให้ผ่านแรงสั่นสะเทือนไปยังขนเส้นเล็กๆ ซึ่งรับแรงสั่นสะเทือนแล้วเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าประสาท เป็นการสื่อสารข้อมูลรายละเอียดของเสียงเดินทางผ่านเส้นประสาทไปยังสมองคะ
เรื่องของเสียงที่ได้ยิน
พัฒนาการเรื่องการได้ยินนั้น เราทุกคนต่างก็ทราบกันแล้วว่าสามารถที่จะได้ยินกันได้ตั้งแต่ตอนเป็นทารกที่อยู่ในครรภ์ของแม่ ซึ่งเสียงที่ได้ยินนั้นก็จะมีพัฒนาการโดยตรงเกี่ยวกับการได้ยินของหู ซึ่งจะจำแนกได้ดังนี้
• ทารกสามารถได้ยินเสียงที่ความถี่ 30,000 Hertz
• ระดับเสียงที่วัยรุ่นตอนปลายได้ยินนั้น จะลดลงเป็น 20,000 Hertz
• ในคนอายุวัย 60 ปี จะได้ยินเสียงที่ความถี่ 12,000 Hertz
• หากเปิดเครื่องเสียงในระบบ Hi-fi Stereo คลื่นเสียงจะแผ่ประมาณ 25,000 Hertz ซึ่งเด็กจะได้ยินเสียงที่มีความถี่นี้ได้ดีมากกว่าที่ผู้ใหญ่จะได้ยิน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)