© 2017 Copyright - Haijai.com
เตรียมพร้อมลูกอย่างไรก่อนไปโรงเรียน
โรงเรียนเป็นสังคมใหม่ที่เด็กเกือบทุกคนต้องเข้าไปสัมผัส ปัจจุบันเริ่มกันตั้งแต่วัยอนุบาลเลยทีเดียว แน่นอนโรงเรียนไม่มีอะไรที่เหมือนบ้าน ไม่มีคนที่เด็กรู้จักคุ้นเคยมาก่อน ไม่มีคนคอยเอาอกเอาใจคอยช่วยเหลือไปเสียทุกอย่าง สังคมใหม่นี้มีเพียงครู พี่เลี้ยง เพื่อนวัยเดียวกัน รุ่นพี่ หรือ รุ่นน้อง การไปโรงเรียนครั้งแรกย่อมเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตและน่าหนักใจสำหรับเด็ก เป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่ดูเหมือนจะโดดเดี่ยว ต้องพึ่งพาตัวเองเพราะไม่มีพ่อแม่อยู่เคียงข้าง อาการร้องงอแงอาจเกิดขึ้นกับเด็กบางคน จริงๆ แล้วความต้องการพื้นฐานหลักๆ ของเด็กอนุบาลก็คือ ต้องการนมหรืออาหารเมื่อหิว ต้องการเข้าห้องส้วมเมื่อขับถ่าย ต้องการนอนพักผ่อนเมื่อเหนื่อยล้า ต้องการความเห็นอกเห็นใจเมื่อรู้สึกเศร้า และที่สำคัญธรรมชาติของเด็กทุกคนต้องการเล่นเพื่อให้ตนเองเพลิดเพลินสนุกสนาน คุณครูเด็กเล็กทุกคนก็พร้อมที่จะเข้าใจเด็กและตอบสนองสิ่งที่เด็กต้องการ แต่บางครั้งเด็กไม่พูด ไม่บอก เอาแต่ร้องไห้อย่างเดียว สื่อสารกันไม่รู้เรื่องทำให้คุณครูต้องใช้เวลานานกว่าจะเข้าใจกัน ทำให้เด็กต้องใช้เวลานานในการปรับตัว
พฤติกรรมเหล่านี้เป็นเพียงแค่เป็นกระบวนในการปรับตัวระยะแรก เป็นการเรียนรู้การแยกจากพ่อแม่ หรือบุคคลที่รัก และเพื่อช่วยเหลือลูกให้ผ่านจุดนี้ไปได้ด้วยดี พ่อแม่ต้องใจเย็น มองสิ่งเหล่านั้นว่าไม่เป็นปัญหา แล้วตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะช่วยลูก เด็กทุกคนต้องการกำลังใจ การปลอบโยน และการชมเชยโดยเฉพาะจากพ่อแม่ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เพื่อให้ก้าวแรกสู่รั้วโรงเรียนเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ คุณพ่อคุณแม่นั่นแหละที่เป็นกำลังสำคัญ ที่จะช่วยให้ลูกประสบความสำเร็จ มั่นใจในความสามารถของตน และเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง และเมื่อใจเด็กพร้อม กายก็พร้อมเช่นกัน ทำให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว และพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยอนุบาลอย่ารอช้า ต้องเตรียมการล่วงหน้า และรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อลูกไปโรงเรียน ดังนี้ค่ะ
กรณีเป็นน้องใหม่วัยเตรียมอนุบาล หรือวัยอนุบาล ควรเริ่มต้นด้วย
1.เตรียมร่างกายลูกให้แข็งแรงมีสุขภาพดี เท่ากับมีเครื่องมือในการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ นั่นหมายถึง อวัยวะรับสัมผัสทุกส่วนใช้ได้ดี ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว
2.สร้างประสบการณ์เรียนรู้ตั้งแต่อยู่ที่บ้าน โดยหาของเล่นที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก ใหญ่ ได้แก่ ปั้นแป้ง ร้อยลูกปัด ระบายสี ละเลงสีด้วยมือ หรือประยุกต์ของใช้ในบ้านเป็นของเล่น เช่น ใช้ช้อนตักมักกะโรนีใส่ถ้วย เล่นทราย เทน้ำกรอกน้ำใส่ขวด เป็นต้น แค่นี้มือไม้ก็พร้อมที่จะหยิบจับสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่กลัวเปื้อนเปรอะ
3.ให้ลูกได้เล่นกับเด็กวัยเดียวกัน หรือวัยใกล้เคียง พ่อแม่อาจเตรียมขนม ของเล่นให้ลูกไปแบ่งปันเด็กคนอื่น โดยพาไปบ้านญาติบ้านเพื่อนที่มีเด็ก หรือ เล่นกับเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียง เด็กจะได้เรียนรู้วิธีการผูกมิตร รู้จักเล่นกับผู้อื่น รู้จักเอื้อเฟื้อ รอคอย รวมทั้งรู้จักแยกตนเองจากพ่อแม่แค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ
4.สร้างทัศนคติที่ดีต่อการไปโรงเรียน อาจหานิทานที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการไปโรงเรียน การเล่นและทำกิจกรรมกับเพื่อน มาเล่าให้เด็กฟัง หรือชวนลูกไปดูบรรยากาศในโรงเรียนอนุบาลจริงๆ ว่าเด็กๆ ได้ทำกิจกรรม ได้เล่นสนุกกับเพื่อนอย่างไร ถ้าเลือกโรงเรียนได้แล้วควรพาลูกไปคุ้นเคยกับโรงเรียนใหม่ ได้พบปะ พูดคุยกับครู เดินดูสนามเด็กเล่น ดูบรรยากาศรอบๆ โรงเรียนเมื่อถึงวันเปิดเทอม จะได้ไม่ประหม่า
5.ฝึกให้ลูกสามารถช่วยเหลือตัวเองในการทำกิจวัตรประจำวัน ได้แก่ รับประทานอาหารด้วยช้อนส้อม ดื่มนมจากแก้วหรือนมกล่อง ใช้อุปกรณ์ในห้องน้ำ เช่น สายชำระ เปิด- ปิดก๊อกน้ำ ถอดเสื้อกางเกง ติดกระดุม รูดซิป สวมถุงเท้า รองเท้า ค่อยๆ ฝึกทีละอย่างอย่ารีบร้อน ฝึกอย่างสม่ำเสมอลูกจะเกิดความชำนาญทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แนะนำว่าควรฝึกก่อนไปโรงเรียนสัก 1-2 เดือน และที่สำคัญชมเชย ให้กำลังใจลูกทุกครั้งที่ทำได้
6.ฝึกลูกเรื่องการสื่อสาร บอกความต้องการ บอกความรู้สึกนึกคิดของตน ให้คนอื่นเข้าใจ เช่น หนูหิว หนูอยากเข้าห้องน้ำ
7.ปรับเวลาเข้านอน ให้ลูกนอนแต่หัวค่ำ จะได้พักผ่อนเต็มที่ ตื่นเช้าจะได้ไม่งอแงเพราะง่วงนอน
8.บอกลูกให้รู้ตัวก่อน เช่น “พรุ่งนี้หนูจะไปโรงเรียนแล้วนะ จะได้รู้จักเพื่อนใหม่ เล่นกับเพื่อนที่โรงเรียนให้สนุกนะคะแล้วแม่จะรีบมารับ” หรือบอกลาก่อนถึงเวลาส่งลูกเข้าห้องเรียนอย่าเดินหนีไปเฉยๆ
9.คุณพ่อหรือคุณแม่ควรลาพักร้อนไว้ล่วงหน้าสัก 2 – 3 วัน สละเวลาให้ลูกในวันแรกๆ ของการไปโรงเรียน พาลูกไปทำความรู้จักคุณครู ถ้าที่โรงเรียนเปิดโอกาสให้คุณพ่อคุณแม่ส่งลูกที่ห้องเรียนได้ ก็รีบถือโอกาสนี้หาเพื่อนใหม่ให้ลูกเข้าไปทักทายเด็กคนอื่นในห้อง หรือชวนเพื่อนให้เล่นกับลูก เพื่อทำความรู้จักมักคุ้นกันไว้ก่อน พอถึงเวลาเลิกเรียนก็รีบไปรับ อย่าให้ลูกคอยนานจนรู้สึกกังวลใจเหมือนถูกทอดทิ้ง เพราะเห็นเพื่อนๆ ได้กลับบ้านไปกับพ่อแม่ทีละคน (เมื่อลูกปรับตัวได้ค่อยเลื่อนเวลาให้ลูกอยู่โรงเรียนนานขึ้น)
10.สิ่งที่เด็กคุ้นเคย เช่น ผ้าเหม็น หรือหมอนเน่า ควรเตรียมไปให้ในยามคับขัน บางทีสิ่งเหล่านี้เป็นตัวแทนพ่อแม่ได้ดีในยามที่ลูกรู้สึกเหงา คุณพ่อคุณแม่ควรบอกคุณครูเพื่อจะได้อนุโลมให้ในช่วงแรกๆ
11.ช่วงแรกถ้าลูกยังปรับตัวไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าซักถามเรื่องโรงเรียนให้เด็กกังวลใจ เมื่อลูกปรับตัวได้ลูกจะเล่าเรื่องที่โรงเรียนให้ฟังเองโดยที่เราไม่ได้ถาม
12.กำลังใจจากพ่อแม่ และคนในครอบครัว จะช่วยสร้างความเข้มแข็งและความมั่นใจให้ลูกได้ ช่วงนี้ต้องให้เวลาใกล้ชิดกับลูกมากขึ้น
13.คุณพ่อ คุณแม่ รวมทั้งคนในบ้านต้องอดทน ถ้าลูกงอแงอย่าโกรธ หรือลงโทษลูกรุนแรงเพราะจะทำให้มีทัศนคติไม่ดีต่อโรงเรียน หรือไม่ใจอ่อน สงสารลูกที่ร้องไห้ถึงกับให้หยุดเรียนเป็นอันขาดเพราะในวันต่อไปลูกจะใช้วิธีนี้ต่อรองกับพ่อแม่อีก
14.พยายามหาวิธีสื่อสารกับคุณครูประจำชั้นที่ไม่เป็นการรบกวนจนเกินไป จะด้วยการพูดคุย ใช้สมุดบันทึกโต้ตอบระหว่างบ้านกับโรงเรียน หรือจดหมายน้อย เพื่อจะได้ทราบถึงพฤติกรรมของลูกในช่วงปรับตัวและร่วมมือกับครูในการช่วยเหลือลูกให้ปรับตัวได้เร็วขึ้น
ทีนี้เป็นคำแนะนำสำหรับเด็กที่หยุดเรียนไปนาน เคยชินกับการอยู่บ้าน กินนอนไม่เป็นเวลา ควรช่วยลูกปรับตัวก่อนถึงวันเปิดเทอมสัก 1 สัปดาห์ โดยเริ่มจาก
1.ปรับตารางเวลากิน นอน เล่น ของเด็ก ให้เหมือนกับช่วงก่อนปิดเทอม ยิ่งใกล้วันเปิดเทอมควรให้นอนแต่หัวค่ำ จะได้ตื่นนอนแต่เช้า
2.ควรลดเวลาในการดูทีวี หรือเล่นคอมพิวเตอร์ ที่เด็กส่วนใหญ่มักติดงอมแงมในช่วงปิดเทอม หันมาชวนลูกทำกิจกรรมสนุกเช่น ออกกำลังกายวิ่งเล่น ขี่จักรยาน ดูแลสัตว์เลี้ยงหรือต้นไม้ในบ้าน ชวนกันวาดๆ เขียนๆ ประดิษฐ์สิ่งของ เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศให้ลูกนึกถึงกิจกรรมยามอยู่โรงเรียน
3.ทบทวน เรื่องที่โรงเรียน พูดคุยถึงเพื่อนที่ลูกสนิทสนม เช่น “อยากรู้จังน้องต้าไปเที่ยวที่ไหนมาตอนปิดเทอม”
4.ให้ลูกช่วยเตรียมของใช้ก่อนเปิดเทอม เช่น ไปเลือกซื้อรองเท้านักเรียนคู่ใหม่เพราะคู่เก่าคับแล้ว ช่วยกันจัดของใส่กระเป๋า หรือเตรียมของฝากจากการท่องเที่ยวช่วงปิดเทอมไปให้เพื่อนซี้
ทั้งหมดที่กล่าวมาคือบทบาทส่วนใหญ่ในการช่วยเหลือลูกที่ตกเป็นของคุณพ่อคุณแม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว เพราะลูกเปรียบดั่งแก้วตาดวงใจ คงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากเห็นลูกนอนร้องไห้ สะดุ้ง ผวา ละเมอตอนดึกๆ แค่สนใจและให้เวลากับลูกสักนิด และต้องเข้าใจด้วยว่า การปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ๆ ของเด็กแต่ละคนอาจใช้เวลาไม่เท่ากัน ช้าบ้าง เร็วบ้าง คุณพ่อคุณแม่ควรอดทนสักนิดอย่าเร่งรัดลูกจนเกินไป ไม่นานหรอกค่ะ ลูกก็จะเป็นคนใหม่ พูดคุยถึงเรื่องราวในโรงเรียนที่มีแต่ความประทับใจ ให้คุณพ่อคุณแม่ฟังแทบทุกวัน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)