© 2017 Copyright - Haijai.com
พูดม่ายช๊าดดด ปัญหาหรือว่าเรื่องปกติ
Problem
คุณแม่หลายๆ ท่านคงปวดหัวไม่น้อยกับการออกเสียงของเจ้าตัวเล็กไม่แหมมมม… ไม่ค่อยชัดเอาซะเลยนะจ๊ะ ทั้งๆ ที่เด็กคนอื่นพูดจาค่อนข้างชัดเป็นถ้อยเป็นคำแล้ว แต่ลูกเรานี่สิ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีอวัยวะอะไรผิดปกติ ลิ้นไก่ไม่สั้น ฟันหน้าไม่หาย ไม่ติดดูดนิ้ว แต่ทำไม๊…ทำไม พูดไม่ชัดกับเค้าเสียที อีกไม่นานก็จะเข้าอนุบาลแล้ว จะโดนเพื่อนล้อ จะถูกครูว่าไหมเนี่ย
ไม่ต้องคิดมากขนาดนั้นค่ะ คุณแม่คะ เรามาทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่าค่ะ ว่าเด็กทุกคนจะมีระยะเวลาของช่วงพัฒนาการทางภาษาและการพูดที่ต่างกัน ในบางครั้งที่คุณแม่กังวลว่าลูกพูดไม่ชัด แต่จริงๆ แล้วลูกอาจยังอยู่ในระยะพัฒนาการการพูดปกติ เช่น เด็กเล็กๆ ที่ยังควบคุมอวัยวะในการพูดได้ไม่ดี พูดแล้วอาจมีเสียงขึ้นจมูกบ้าง ไม่ชัดบ้าง แต่ก็ยังไม่จัดว่าลูกมีปัญหาพูดไม่ชัด
และในบางบ้านที่ต้องสื่อสารกันมากกว่า 1 ภาษา ปัญหาที่มักพบเจอบ่อยคือ การที่เด็กสับสนและขาดทักษะในการออกเสียงพยัญชนะ บางตัวในภาษาไทยไม่ได้ เช่น เสียง ง. งู หรือ ท. ทหาร พยัญชนะแต่ละตัวมีฐานของการออกเสียงต่างที่กันค่ะ หากเด็กมีความผิดปกติของอวัยวะที่ใช้ในการออกเสียงไมว่าจะเป็น ปาก ฟัน ลิ้น กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ลำคอ เส้นเสียง กล่องเสียง แล้วล่ะก็คุณแม่ไม่ต้องวิตกไปค่ะ
ยิ่งโดยเฉพาะเสียง “ร. เรือ” ที่กว่าเด็กจะออกเสียงได้อย่างชัดเจนนั้นต้องมีอายุ 10 ปีขึ้นไปทีเดียว ตามตารางนี้ค่ะ
อายุ |
เสียงที่พูดได้ในระดับคำ |
2 ปี – 2 ปี 6 เดือน |
เสียง / ค, น, ม, ย, ห, อ / |
2 ปี 7 เดือน – 3 ปี |
เพิ่ม เสียง / ก, บ, ป, ว / |
10 ปี ขึ้นไป |
เพิ่มเสียง / ร / |
ที่มา ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกระโหลกศีรษะ จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
เมื่อเข้าใจพัฒนาการด้านการพูดแล้ว สิ่งที่ควรสนใจไม่แพ้กันคือ พัฒนาการทางภาษาที่ต้องหมั่นสังเกตควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากพัฒนาการด้านภาษาที่มีสองด้าน ทั้งการรับรู้และการแสดงออก โดยดูจากพฤติกรรมการแสดงออกของลูก ที่เป็นอาการเตือนของพัฒนาการทางภาษาที่เหมาะสมกับวัยหรือไม่ ซึ่งมีหลักคร่าวๆ สำหรับเด็กในวัยอนุบาลให้คุณแม่สามารถสังเกตได้ตามตารางนี้ค่ะ
อาการเตือนที่แสดงว่า เด็กจะมีพัฒนาการทางภาษาช้าไม่เหมาะสมกับวัย
อายุ |
อาการเตือน |
2 ปี 6 เดือน |
ไม่ถามคำถาม และไม่ตอบสนองต่อคำถาม “ใช่” “ไม่ใช่” |
3-4 ปี |
ไม่พูดเป็นประโยค และพูดแล้วคนอื่นฟังไม่รู้เรื่อง |
ที่มา ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกระโหลกศีรษะ จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
Solution
• ห้าม พูดตามหรือพูดล้อที่ลูกพูดไม่ชัด เพราะนั่นจะยิ่งทำให้ลูกคิดว่าการพูดแบบไม่ชัดนี้เป็นการพูดที่ถูกต้องแล้ว และไม่คิดที่จะพูดให้ชัด
• ให้ ฟังลูกพูด ให้เวลารับฟังเวลาลูกพูดด้วย ใช้ตัวคุณแม่เป็นเครื่องมือให้ลูกเรียนรู้การพูดอย่างถูกต้อง ใช้วิธี “พูดช้า และชัด” เน้นการขยับริมฝีปากที่ชัดเจนเวลาพูดกับลูก อาจจะจับมือลูกมาไว้ที่หน้าคุณเพื่อเพิ่มความสนใจให้กับเขาด้วยก็ได้
• ห้าม เปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น เพราะเด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการทางการพูดที่ต่างกัน การพูดจาเปรียบเทียบกับเด็กอื่นมีแต่จะทำให้ลูกรู้สึกว่าการพูดไม่ชัดนั้นเป็นปมด้อยและไม่มีแรงผลักดันที่จะพูดให้ชัด
• ให้ แบบอย่างที่ดีในการพูด ไม่จำเป็นต้องรบเร้าให้ลูกพูดตามทุกครั้งที่พูดไม่ชัดหรือพูดผิด แต่คุณแม่ต้องพูดอย่างชัดเจนถูกต้องและเป็นแบบอย่างที่ดีในการพูดให้กับลูกค่ะ
ที่สำคัญที่สุดคือการสังเกตพฤติกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พัฒนาการทางภาษา การโต้ตอบคำถาม คำสั่งต่างๆ แต่ถ้าหากคุณแม่ยังมีความกังวลใจต่อการพูดและการใช้ภาษาของลูกอยู่อีก ควรพาลูกไปพบนักอรรถบำบัดเพื่อรับการประเมินการพูด และรับคำแนะนำ เพื่อนำมาปฏิบัติหรือแก้ไขต่อไปค่ะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)