Haijai.com


พฤติกรรมอาการเอาแต่ใจตัวเองของเด็ก


 
เปิดอ่าน 3911

เอาแต่ใจ เกินไปหรือเปล่าจ๊ะ

 

 

อันโน่นก็ไม่ได้  อันนี้ก็ไม่เอา มีไก่จะกินปลา พอเอากุ้งมาก็จะกินหมู ใครขัดใจไม่ได้ ต้องมีงอน มีงอแง ปัญหาเหล่านี้เชื่อแน่ค่ะว่าไม่มีบ้านไหนไม่เคยเจอเรื่อง “เอาแต่ใจ” ถือเป็นอีกปัญหาใหญ่ของเจ้าตัวเล็กประจำบ้านทีเดียว วันนี้เรามีวิธีแก้นิสัยแบบนี้ได้ไม่ยากมาฝากกันค่ะ

 

 

PROBLEM

 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “อาการเอาแต่ใจตัวเอง” ส่วนหนึ่งเกิดจากการเลี้ยงดู และส่วนหนึ่งก็เกิดจากพัฒนาการตามวัยของเด็กเองในช่วงอายุ 1 ขวบครึ่ง ถึง 3 ปี เป็นวัยที่กำลังดื้อไม่ทำตามผู้ใหญ่ เอาแต่ใจตัวเองเพราะเขาเริ่มรู้ว่า ตนเองแตกต่างจากผู้อื่น มีความสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้เอง เช่น การกิน ถ่าย ฯลฯ จึงเริ่มแสดงวิธีการของตนเอง และไม่ทำตามที่ผู้ใหญ่บอกเสมอไป

 


SOLUTION

 

นักจิตวิทยาพัฒนาการเด็กเชื่อกันว่า พฤติกรรมของเด็กจะสามารถควบคุมได้จากภายนอก แต่การที่เด็กจะสามารถบังคับหรือควบคุมพฤติกรรมของตนได้ดีเพียงใด ขึ้นอยู่กับการออกคำสั่งและการใช้เหตุผลของพ่อแม่ด้วย และออกคำสั่งและให้คำแนะนำแก่ตนเองเพื่อควบคุมพฤติกรรมของตน โดยในบางครั้งจะบริหารตนเอง ด้วยการสร้างเงื่อนไขให้กับตนเอง มีการให้รางวัลเมื่อทำสำเร็จและลงโทษเมื่อทำไม่สำเร็จ แต่ก่อนที่เด็กจะควบคุมตนเองได้ จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนจากพ่อแม่

 

 มีกฎมีเกณฑ์ ในกรณีที่จะให้เด็กเล่นหรืออะไรก็แล้วแต่ ควรจะมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์บ้าง ส่วนหนึ่งให้ลูกเริ่มชินกับการมีกฎระเบียบ และส่วนหนึ่งเป็นการฝึกวินัยให้กับลูกด้วย

 

 

 หนักแน่น ทั้งคุณพ่อคุณแม่ต้องหนักแน่น เวลาที่ลูกเรียกร้องสิ่งต่างๆ เอาแต่ใจตัวเอง ต้องพยายามที่จะไม่ตามใจ และต้องจัดการในแบบเดียวกันทั้งที่บ้านและสถานที่อื่นๆ

 

 

 ร่วมมือร่วมใจ สอนเด็กให้รู้จักร่วมมือกับผู้อื่น โดยต้องให้เขารู้สึกว่า ได้รับความร่วมมือจากผู้ใหญ่เช่นกัน ไม่ควรเอาชนะเด็กตรงๆ แต่ให้รู้สึกว่าการทำด้วยกัน ช่วยเหลือกัน มีน้ำใจแบ่งปันกัน เด็กอายุเข้าปลายขวบที่ 2 สามารถแสดงความเห็นใจผู้อื่นได้แล้ว เช่น แบ่งขนม โอ๋แม่ที่ไม่สบาย เป็นต้น

 

 

 มีเหตุมีผล คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติต่อลูกด้วยความมีเหตุมีผล ลูกจะค่อยๆ เรียนรู้ และเลียนแบบจากพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่และในที่สุดจะยอมฟังเหตุผลมากขึ้น

 

 

 นึกถึงคนอื่นบ้าง เมื่อลูกเริ่มแสดงการช่วยเหลือผู้อื่น ควรแสดงการยอมรับ และชื่นชมการกระทำของเขา จะช่วยให้ลูกนึกถึงตัวเองน้อยลง และนึกถึงคนอื่นมากขึ้น

(Some images used under license from Shutterstock.com.)