
© 2017 Copyright - Haijai.com
ลูกติดเค็ม
ลูกติดเค็มค่ะ ตอนนี้ 8 ขวบ ทานอะไรต้องใส่น้ำปลาเพิ่มตลอดเลยค่ะ ทั้งๆ ที่สอน อธิบายก็แล้ว ดุก็แล้ว เอาน้ำปลาไปซ่อนก็เคยค่ะ กลัวลูกจะเป็นโรคไตค่ะ จะทำอย่างไรดีคะ
ตอบ ลูกติดรสเค็ม ชอบเติมน้ำปลาตลอด การกินเกลือเกินตั้งแต่เด็กมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะความดันเลือดสูงตั้งแต่อายุน้อย คือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนหลายเรื่องเช่นโรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรังตามมา การแก้ไขควรนำลูกไปตรวจว่ามีปัญหาทางด้านต่อมไร้ท่อหรือไม่ ถึงแม้จะพบน้อยแต่หมอเคยพบเด็กที่เสียเกลือไปทางไตเนื่องจากต่อมหมวกไตทำงานน้อย ร่างกายปรับตัวด้วยการอยากกินเกลือหรือกินของเค็มจัด เพื่อชดเชยเกลือส่วนที่เสียไปทางปัสสาวะ โรคนี้พบน้อยมากคิดว่าคงไม่เป็นโรคดังกล่าวแต่ตรวจเสียหน่อยก็ดี
การแก้ไขเด็กชอบเติมเครื่องปรุงอาหารทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ชิมอาหารว่ารสเดิมเป็นอย่างไร ต้องพยายามแก้ไข มีบริษัทใหญ่บางบริษัทใช้วิธีสังเกตพฤติกรรมการกินอาหารว่าตักเครื่องปรุงก่อนชิมอาหารหรือเปล่า คนที่เติมก่อนชิมแสดงว่าเป็นคนที่ไม่ศึกษาปัญหา เข้าลุยเลยอาจไม่ถูกต้อง เขาจะไม่รับเข้าทำงาน นั่นเป็นตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น เด็กกินเค็มดังนั้นต้องรีบแก้ไขเพื่อสุขภาพของลูกระยะยาวโดยอาจใช้วิธีตกลงกันก่อนว่าจะไม่เติมน้ำปลาถ้ายังไม่ได้ชิม เตือนอย่างนุ่มนวลและถ้าเติมควรเติมเล็กน้อยไม่เกิน 1/4 ช้อนชา อาหาร 3 มื้อไม่ควรเกิน 3/4 ช้อนชา เมื่อทำตามข้อตกลงก็ให้รางวัลหรือให้ลูกให้ดาวตัวเองในปฏิทิน คุณแม่ได้ทำการแก้ไข ทั้งปลอบทั้งขู่ เก็บขวดน้ำปลาแล้วแล้วไม่ได้ผล เด็กอายุ 8 ปี โตพอที่จะพูดให้เข้าใจได้แต่อาจไม่มีเหตุผลหรือเห็นความสำคัญในอนาคต เด็กวัยนี้เชื่อครู คุณแม่ลองให้ครูที่โรงเรียนช่วยพูดกับลูกและช่วยควบคุมเรื่องการเติมน้ำปลาที่โรงเรียนด้วย ลองทำดูก่อนนะคะ บางทีการแก้ไขอาจทำได้ยาก เพราะนิสัยการกินเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่อายุก่อน 5 ปี
การศึกษาการกินอาหารของคนไทยพบว่าได้รับเกลือเกิน คือกินกันมากกว่า 10 กรัมต่อวัน ปริมาณเกลือที่ควรได้รับประมาณ 6 กรัมต่อวัน อาหารฟ๊าสฟู้ดเช่นแฮมเบอร์เกอร์ ไส้กรอกก็มีเกลือสูง คนที่ชอบกินอาหารประเภทนี้จึงเป็นทั้งโรคอ้วนและ ความดันเลือดสูงตั้งแต่วัยรุ่น
การกินเค็มมีผลต่อไตและความดันเลือดได้คือ เมื่อร่างกายได้รับเกลือเกินความต้องการของร่างกาย เกลือพร้อมกับน้ำเมื่อดูดซึมเข้าร่างกายแล้วซึมกระจายเข้าไปในของเหลวของร่างกายและหลอดเลือดทำให้ปริมาตรเลือดเพิ่ม ร่างกายต้องรักษาปริมาตรเลือดให้เป็นปกติโดยการขับเกลือพร้อมน้ำออกทางไต การทำงานหนักของไตทำให้เนื้อเยื่อไตปล่อยสารที่มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัวออกมาด้วย ความดันเลือดจึงสูงขึ้น ส่งผลให้คนไทยวัยกลางคนเกิดโรคความดันเลือดสูงกันมาก โรคนี้เป็นแล้วไม่หายกับมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ความดันเลือดสูงเป็น 1 ใน 4 ของโรคเรื้อรัง ซึ่งมีโรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคพิการต่างๆ โรคเรื้อรังต้องรับการรักษาต่อเนื่อง ทำให้เสียเศรษฐกิจของครอบครัวและประเทศชาติอย่างมาก
(Some images used under license from Shutterstock.com.)