Haijai.com


เสริมสมองของเด็กวัยอนุบาล


 
เปิดอ่าน 1656

เสริมสมองของวัยอนุบาล

 

 

วัยอนุบาลเป็นวัยที่เด็กเริ่มเรียนรู้ในเรื่องของทักษะทางสังคม การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ อย่างโรงเรียน และบุคคลรอบกายใหม่ๆ อย่างเพื่อนและคุณครูยิ่งทำให้เกิดการเรียนรู้และเชื่อมโยงของเซลล์สมองให้วงจรที่มีอยู่ทั้งเพิ่มมากขึ้น

 

 

ช่วงนี้สมองของเด็กโตมีขนาดเป็น 9 ใน 10 ของขนาดสมองผู้ใหญ่ การเพิ่มขึ้นของกระบวนการรับข้อมูลภายนอกรับเข้าสู่ระบบประสาทได้อย่างรวดเร็ว ทักษะเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและจังหวะของเด็กจะดีขึ้นด้วย เมื่ออายุ 3 ปี เด็กๆ เคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่ออายุ 4 ปีขึ้นไป เด็กจะพอใจกับกิจกรรมเคลื่อนไหว ที่มีบรรยากาศผจญภัย การเคลื่อนไหว เป็นทั้งผลลัพธ์จากการพัฒนาของสมอง และเป็นทั้งตัวกระตุ้นการพัฒนาสมองอีกด้วย

 

 

การเล่นของเด็กวัยนี้ คือการซักซ้อมและพัฒนาทักษะที่ก่อรูปขึ้นมาแล้วในวงจรการเรียนรู้ของสมอง ให้หนาแน่นขึ้น

 

 

กิจกรรมเสริมสมองของวัยอนุบาล

 

 กิจกรรมซ้ำๆ การให้เด็กทำกิจกรรมซ้ำๆ เพื่อให้เขาได้ซึมซับทบทวนองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาไปพร้อมๆ กัน เช่น การปั้น-พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และกล้ามเนื้อมัดเล็ก เล่นเครื่องดนตรี-พัฒนาการได้ยิน

 

 

 เล่นนอกบ้าน การได้เล่นนอกบ้านบ้างจะช่วยให้เด็กได้เปลี่ยนบรรยากาศและใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น เพื่อเอื้อต่อบรรยากาศในการเรียนรู้ค่ะ

 

 

 อ่านหนังสือให้หลากหลาย นอกจากจะกระตุ้นในเรื่องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้ว หนังสือเป็นเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาทักษะสื่อสารได้เป็นอย่างดี นอกจากการอ่านธรรมดาๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถใช้เสียงพูดสร้างถ้อยคำให้เขาเรียนรู้ เช่น เสียงสัตว์ร้อง เสียงของธรรมชาติ ได้อีกค่ะ

 

 

 ฝึกลูกคิดอย่างมีระบบ ในวัยนี้ลูกสามารถเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ อย่างเป็นระบบได้แล้วนะคะ จากวัยเล็กที่ริเริ่มเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสในขั้นต้น ขยับมาเรียนรู้ผ่านการคิดและการวางแผน สมองจะเกิดการเรียนรู้ที่ต้องเชื่อมโยงความคิด กับใช้งานอวัยวะหลายส่วนมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้สมองที่รับผิดชอบทักษะต่างๆ เกิดการเชื่อมโยงกันมากขึ้น และเด็กสามารถปฏิบัติกิจกรรมที่ยากและซับซ้อนขึ้นได้ค่ะ

 

 

 มีกฎมีเกณฑ์ ลูกเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นและกฎกติกาบ้างแล้วจากโรงเรียน การนำมาใช้ที่บ้านบ้างคงไม่ใช่เรื่องยาก การบอกขอบเขตของสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำนั้น ลูกจะสามารถเข้าใจได้ดีขึ้นถ้าคุณแม่บอกและอธิบายด้วยเหตุผลง่ายๆ และผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การเล่นโยนบอลในบ้านที่อาจทำให้กระจกแตก หรือไม่ควรเล่นในครัวเพราะมีของมีคมอยู่มาก ไม่ควรใกล้เตาเพราะความร้อนอาจจะลวกตัวได้  

 

 

อย่างไรก็ตามการเสริมสมองของลูกน้อยนั้น ควรเป็นไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และเป็นไปตามวัยและพัฒนาการของลูก ที่สำคัญต้องไม่ไปเปรียบเทียบลูกกับเด็กอื่น เพราะเด็กแต่ละคนนั้นก็อาจจะมีรายละเอียดของพัฒนาการที่ต่างกันออกไป ที่สำคัญคือการหัดสังเกตพฤติกรรมลูก เพราะทุกพฤติกรรมเป็นตัวสะท้อนถึงพัฒนาการ และแน่นอนสะท้อนถึงการพัฒนาของสมองด้วยค่ะ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)