© 2017 Copyright - Haijai.com
“ให้” รางวัลเมื่อลูกทำดี
แม่จ๋า ให้หนูเถอะนะ หนูสัญญาว่าจะเป็นเด็กดี
ทุกครั้งที่มีโอกาสหรือวาระอะไรพิเศษ ตั้งแต่เล็กน้อยอย่างวันหยุดยาว วันเกิด หรือปีใหม่ เด็กๆ ก็มักจะร้องขออะไรที่เป็นพิเศษ เป็นชิ้นสำคัญที่หมายตามานาน หรือเพิ่งสะดุดตาในขณะนั้น เวลานี้เองที่ไม้ตายมากมายสารพัดจะถูกงัดขึ้นมา สุดท้ายที่จะได้ยินบ่อยก็คือ “ถ้าแม่ซื้อให้ หนูจะเป็นเด็กดีและตั้งใจเรียน” เอาละสิเจอแบบนี้แล้วคุณแม่จะทำอย่างไรดีล่ะ
ทำไมแม่ต้องให้หนูด้วยล่ะ
• ก็การให้ของขวัญ ให้รางวัลน่ะ คุณแม่ก็แฮปปี้ คุณลูกก็สุขใจ คนรับยิ้มได้ คนให้ก็ยิ้มออก
• รางวัล ของขวัญ ไม่ว่าจะเล็กน้อย หรือใหญ่โตก็ช่วยสร้างความรักความผูกพันระหว่างแม่กับลูกได้ทั้งนั้นแหละ
• เด็กจะเกิดความภาคภูมิใจว่าสิ่งที่เขาได้รับนั้นน่ะมาจากการทำดี
• คุณแม่เองก็จะมองหาแต่ข้อดีในตัวลูก เลิกเป็นแม่ใจร้ายที่วันๆ เอาแต่คอยจับผิดลูก
รางวัลหมายถึงความสุขใจด้วย ไม่ใช่แค่สิ่งของ
ก่อนจะให้สิ่งของอะไรกับลูกไป สำหรับคนเป็นพ่อแม่ที่คาดหวังว่าลูกจะมีความประพฤติที่ดีขึ้น แต่อย่าลืมนะคะว่าความประพฤติที่ดีนั้นคุณเองก็ต้องแน่ใจว่าลูกดีทั้งต่อหน้าและลับหลังคุณ ไม่ใช่ดีเพียงเพราะว่าอยากได้รางวัลหรือสิ่งของ ต้องนึกถึงด้วยนะคะว่าลูกจะต้องเป็นเด็กดีได้ด้วยแม้จะไม่มีรางวัลก็ตามเถอะ และเพื่อให้เด็กๆ เป็นเด็กดีได้โดยไม่หวังแค่สิ่งของ สิ่งที่คุณจะให้เขานั้นมันก็ควรจะเป็นความรักและความเอาใจใส่ ความภาคภูมิใจ และความยินดี พูดเรื่องความสุขทางใจให้ลูกฟังบ่อยๆ ค่ะ แทนที่จะบอกว่าจะพาไปเที่ยวนั่น เที่ยวนี่
แม่จะให้รางวัลเมื่อ
• ลูกมีความพยายาม
บางครั้งผลลัพท์ที่ออกมาอาจจะยังไม่เข้าท่านักสำหรับเด็กเล็กๆ เช่น คุณแม่บอกให้ลูกเก็บของให้เข้าที่ และจากสายตาที่ผู้ใหญ่มองนั้นลูกอาจจะเก็บมันอย่างไม่เรียบร้อยนัก หากแต่เราดูที่ความพยายามและเจตนาเป็นหลักว่าลูกได้พยายามทำแล้ว และเชื่อเถอะว่ามันจะค่อยๆ ดีขึ้น
• ลูกไม่หวังแค่รางวัล
ฟังดูแปลกแต่นี่แหละค่ะที่จะได้ผลเกินคาด บางอย่างดีๆ ที่ลูกทำแม้เรื่องเล็กน้อยจนลูกไม่คาดหวังว่าจะได้รางวัล แต่คุณกลับให้รางวัล เด็กๆ จะได้เรียนรู้ว่าบางครั้งสิ่งดีๆ เพียงเล็กน้อย ที่ไม่ได้คาดหวังอะไร แต่บางครั้งเขาจะได้รับบางอย่างที่ดีกว่ากลับมา
• จังหวะและเวลาเหมาะสม
ของขวัญและรางวัลเป็นสิ่งที่จัดว่าพิเศษเพราะอย่างนี้นี่แหละค่ะคุณถึงไม่ควรให้อย่างไม่รู้เวลาและความเหมาะสม ถ้าลูกยังได้รับของจากคุณเรื่อยไปๆ แรงกระตุ้นในการคิดหรือทำดีก็จะน้อยลง และอาจไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม เพราะถึงอย่างไรก็ได้ของอยู่ดี คุณแม่ว่าจริงไหมคะ
หยุดค่ะ อย่าทำ
ถ้าคุณคือคุณแม่หรือครอบครัวที่เอะอะอะไรก็ ”ถ้าทำอย่างนั้น อย่างนี้ได้ แม่จะให้รางวัล” ช้าก่อนค่ะ ฟังทางนี้ อย่าเชียวค่ะ อย่าให้รางวัลหรือเงื่อนไขในการต่อรองพฤติกรรมทุกครั้งไป เพราะมันจะยิ่งกระตุ้นให้ลูกทำพฤติกรรมนั้นหนักขึ้นเรื่อยๆ กว่าเก่า เพื่อที่จะใช้เรียกร้องสิ่งของหรือเงื่อนไขที่ใหญ่หรือสำคัญกว่าเดิม สุดท้ายแล้ว คนที่เหนื่อยก็จะเป็นคุณแม่เองอีกนั่นแหละค่ะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)