
© 2017 Copyright - Haijai.com
เลือกบราให้ถูก (อก) ใจ
เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อยามตั้งครรภ์สรีระของคุญแม่ทั้งหลายก็จะเปลี่ยนไป หนึ่งในนั้นที่สังเกตได้ง่ายที่สุดก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของหน้าอกหน้าใจนี่ล่ะค่ะ ที่ออกจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรื่องนี้เลยกลายเป็นเรื่องหนักอกหนักใจคุณแม่หลายๆ คนไปเลย
ก่อนที่จะเลือกบราแบบไหน เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่าหน้าอกหน้าใจของคุณแม่นั้นมีกี่ประเภท
ประเภทหน้าอก |
ลักษณะ |
บราที่ควรเลือกใช้ |
คุณแม่หน้าอกเชอร์รี่ |
มีหน้าอกค่อนข้างเล็กและแบน ฐานเต้าน้อย |
ควรเลือกบราแบบเสริมฟองน้ำ หรือดันทรงค่ะ |
คุณแม่หน้าอกสตรอเบอรี่ |
มีฐานอกกว้าง แต่มีหน้าอกน้อย ทำให้อกเริ่มคล้อยและไม้กระชับ |
ควรเลือกบราที่เสริมโครงอ่อนๆ หรือแบบตะขอหน้าเพื่อช่วยยกระดับหน้าอก |
คุณแม่หน้าอกเลม่อน |
มีฐานอกกว้างมาก แต่มีเนื้อหน้าอกน้อย ทำให้อกห่างและไม่กระชับ |
ควรใส่บราที่ช่วยเก็บเนื้อด้านข้างและเพิ่มความกระชับให้กับหน้าอก หรือใส่บราที่มีโครงอ่อน เพื่อประคองหน้าอกไว้ |
คุณแม่หน้าอกแอปเปิ้ล |
มีฐานเต้าเป็นครึ่งวงกลม มีหน้าอกกำลังพอดี สวย ได้รูป |
ควรเลือกบราที่มีฐานเต้าเป็นแบบครึ่งวงกลมแบบมีโครงหรือไม่มีโครงก็ได้ เพื่อให้เหมาะพอดีกับฐานเต้าที่เป็นรูปครึ่งวงกลม |
คุณแม่หน้าอกลูกแพร์ |
หน้าอกน้อยและฐานเต้าน้อยทำให้หน้าอกคล้อยมาก |
ควรเลือกใช้บราแบบดันทรง เพื่อช่วยป้องกันการคล้อยของหน้าอก |
คุณแม่หน้าอกสับปะรด |
หน้าอกใหญ่แต่ฐานเต้าเล็ก ทำให้เหมือนอกพุ่งไปข้างหน้า |
ควรเลือกบราที่เก็บเนื้อด้านหน้าเพื่อช่วยพยุงหน้าอกให้เข้าทรง แถบลำตัวและสายบ่ากว้างเพื่อไม่ให้กดและรัดจนเกินไป |
หน้าอกแบบต่างๆ นี้ตำราฝรั่งเข้าเปรียบเทียบกับผลไม้ค่ะ พอเห็นภาพกันไหมคะ ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าหลักการเลือกบราหรือยกทรงให้เหมาะกับยามตั้งครรภ์นั้นมีอะไรบ้าง
• ต้องลองใส่บราทุกครั้งที่ไปเลือกซื้อ เพื่อให้แน่ใจคะว่าเวลาสวมใส่จะกระชับและไม่อึดอัดจนเกินไป และถึงแม้ว่าคุณจะมั่นใจในขนาดของหน้าอกตนเองแต่บราทุกยี่ห้อก็มีความแตกต่างกันค่ะ และสรีระยามเป็นคุณแม่คงไม่เหมือนกับเมื่อก่อนแน่ ทางที่ดีลองดูดีกว่า ยอมเสียเวลาสักนิด เพื่อความสบายอกสบายใจค่ะ
• สายบ่าของบราต้องไม่รั้งจนเกินไป จะทำให้เกิดการกดที่บ่า จนทำให้เกิดอาการปวดไหล่และหลังตามมาได้ค่ะ เพราะหน้าอกคุณแม่ตั้งครรภ์ใหญ่ขึ้นกว่าปกติอยู่แล้ว น้ำหนักก็เพิ่มขึ้นด้วย ตรงนี้ให้ลองปรับสายให้พอดีไม่รั้งหรือหลวมจนเกินไปดีกว่าค่ะ
• บราจะต้องอยู่ในระดับเดียวกัน สังเกตได้จากเวลาที่คุณสวมบรา แล้วลองมองด้านข้างทั้งด้านหน้า (เต้า)และด้านหลัง (ตะขอ) จะต้องอยู่ในระดับเดียวกันค่ะ หากว่าส่วนใดรั้งขึ้นหรือหย่อนไปแสดงว่าบรานั้นไม่ได้ระดับ อาจจะส่งผลต่อสรีระของคุณแม่ได้นะคะ
• หลังจากใส่แล้วต้องไม่มีเนื้อล้นออกมาทั้งหน้าอกและด้านข้าง คุณแม่บางคนสมัยสาวๆ ชอบใส่บราที่เล็กกว่าขนาดอกปกติ ซึ่งจะทำให้หน้าอกดันขึ้น ดูเหมือนหน้าอกใหญ่กว่าเดิม แต่ตอนนี้ทำอย่างนั้นไม่ได้แล้วนะคะ เพราะการใส่บราไม่ได้ขนาดนอกจากจะทำให้อึดอัดแล้ว ระบบการไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองก็จะไม่สะดวก เป็นสาเหตุของโรคอีกมากมายค่ะ
• เมื่อถอดต้องไม่ทิ้งรอยแดง ช้ำ หรือบวม ร่องรอยเหล่านี้เกิดจากการกดทับของบราที่ไม่พอดีกับขนาดตัวค่ะ
บราก่อนคลอด
ในช่วงนี้คุณแม่ตั้งครรภ์หน้าอกมีการขายใหญ่ขึ้น หลอดเลือดและไขมันบริเวณหน้าอกจะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากต่อมน้ำนมขยายตัว บราที่ใช้ในช่วงนี้ได้ทั้งแบบมีโครงและไม่มีโครงค่ะ โดยบราแบบมีโครงจะช่วยในเรื่องของการกระชับหน้าอก ป้องกันการหย่อนคล้อย ไม่ควรเลือกแบบที่โครงเหล็กค่ะ เพราะจะเกิดการกดทับได้ง่าย ควรเลือกแบบโครงพลาสติกอ่อน เพราะจะส่วนทรงของบราควรเลือกแบบทรงแหลมเต็มเต้า เพื่อรองรับเนื้อหน้าอกที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็จะช่วยประคองทรงให้กระชับได้ด้วยค่ะ ส่วนบราแบบครึ่งเต้า หรือแบบดันทรงฟองน้ำน้ำเยอะๆ ช่วยเก็บไปก่อนค่ะ เพราะช่วงนี้คุณแม่จะอึ๋มอยู่แล้ว ยิ่งใส่บราแบบดันทรงจะดูทะลักทะล้นกันไปใหญ่ ไม่สะดวกเวลาเคลื่อนไหวมากๆ ด้วยค่ะ
ถ้าเป็นแบบไม่มีโครงควรเลือกแบบที่มีแผ่นรองซับด้านในจะได้ช่วยประคองทรง เหมาะกับคุณแม่ที่ไม่ชอบโครงหรือช่วงที่มีการเจ็บคัดหน้าอกมากๆ ในช่วงแรกๆ ของการตั้งครรภ์ค่ะ
บราหลังคลอด
ในช่วงนี้ควรเลือกบราที่ทั้งกระชับและสะดวกในการให้นมเจ้าตัวเล็กค่ะ โดยเป็นแบบที่เปิดเต้าได้ ส่วนคุณแม่ที่มีหน้าอกใหญ่มาก ให้เลือกแบบไม่มีโครงก่อนก็ได้ค่ะ จะได้ไม่อึดอัด แต่ตะขอก็ควรเป็นแบบสี่ แถวหรือมีแถบลำตัวกว้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพยุงหน้าอกให้มากขึ้น ทรงของบราควรเป็นแบบเต็มเต้า คุณแม่ที่ต้องไปทำงานนอกบ้านด้วย ให้เลือกบราใช้แบบที่สามารถสอดแผ่นซับน้ำนมได้เพื่อช่วยซึมซับน้ำนมและเพิ่มความมั่นใจให้กับคุณแม่ได้มากขึ้นค่ะ
บราที่ผสมเส้นใยไลคราจะสวมใส่สบายเพราะมีความยืดหยุ่นสูงกว่าเนื้อผ้าแบบอื่นๆ ส่วนบราคอตต้อนจะระบายอากาศได้ดี และไม่ระคายเคืองค่ะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)