
© 2017 Copyright - Haijai.com
กลิ่นปาก
คนจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาเรื่องกลิ่นปาก หากแก้ไขไม่ได้อาจทำให้ขาดความมั่นใจ กลัวที่จะพูดคุยกับคนอื่น แต่เชื่อหรือไม่ว่าปัญหาที่น่ากลัวที่สุด คือ การไม่รู้ว่าตนเองมีกลิ่นปาก ซึ่งอาจสร้างความลำบากใจให้กับคนรอบข้าง ทำให้คนรอบข้างไม่อยากอยู่ใกล้หรือพูดคุยด้วย จากการศึกษาพบว่าประมาณร้อยละ 50 ของประชากรวัยผู้ใหญ่ต่างก็มีกลิ่นปาก ซึ่งเหตุผลที่เราไม่รู้ตัวว่ามีกลิ่นปาก ก็เพราะจมูกของเราเริ่มชิน เนื่องจากกลิ่นปากเริ่มมีทีละนิดๆ สะสมเพิ่มไปเรื่อยๆ ทำให้เราชินกลิ่นของตนเอง มาถึงตรงนี้หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า ... แล้วตกลงเรามีกลิ่นปากหรือเปล่า
วิธีการตรวจสอบกลิ่นปากด้วยตนเอง มีหลายวิธี ได้แก่
• เอามือป้องปิดบริเวณปากและจมูก เป่าลมแรงๆ ออกจากปาก และดม วิธีการนี้เป็นการทดสอบง่ายๆ ที่เห็นทำกันโดยทั่วไป ซึ่งบางคนก็สามารถบอกได้ว่ามีกลิ่นปากหรือไม่ แต่บางคนก็อาจจะไม่ได้ แนะนำให้ลองใช้วิธีอื่น
• ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า โดยไม่ต้องใช้สบู่ เพราะกลิ่นสบู่จะกลบหมด จากนั้นซับให้แห้ง ใช้ลิ้นเลียที่บริเวณข้อมือด้านใน และดมดูบริเวณที่เราเลียว่ามีกลิ่นเหม็นหรือไม่
• เอานิ้วมือเข้าไปในปากแล้วถูที่บริเวณเหงือก หลังจากนั้นก็เอานิ้วออกมาดมกลิ่นว่าเหม็นหรือไม่
• ถามคนใกล้ชิดตรงๆ เลยว่าตนเองมีกลิ่นปากหรือไม่ ซึ่งก็ต้องเลือกคนใกล้ชิดที่สามารถพูดกับเราตรงๆ ได้ จึงจะได้รับคำตอบที่แท้จริง
แต่ถ้าไม่อยากรบกวนใคร และไม่แน่ใจว่าเราชินกลิ่นปากตัวเองจนไม่ได้กลิ่นหรือเปล่า ก็สามารถมาพบทันตแพทย์ที่คลินิก หรือปัจจุบันบ้านเราก็มีคลินิกกลิ่นปากโดยเฉพาะแล้ว ซึ่งคุณหมอจะมีเครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของลมหายใจ ทำให้ทราบกันไปเลยว่า เรามีกลิ่นปากหรือไม่
สาเหตุของกลิ่นปาก
สาเหตุของการเกิดกลิ่นปากแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
• สาเหตุภายในช่องปาก ส่วนใหญ่เกิดจาก
• การรักษาสุขภาพช่องปากไม่ดี เช่น แปรงฟันไม่สะอาด มีคราบอาหารหรือคราบแบคทีเรียเกาะอยู่ตามผิวฟัน ลิ้น หรือกระพุ้งแก้ม ดังนั้น ถ้ามีเศษอาหารติดตามซอกฟัน ต้องกำจัดออก โดยการแปรงฟันให้สะอาด และใช้ไหมขัดฟัน ซึ่งควรฝึกใช้ให้เป็นนิสัยอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
• การมีฟันผุ ทำให้เศษอาหารติดค้างอยู่ในรันที่ผุ อาหารเหล่านี้จะบูดเน่า และทำให้เกิดกลิ่นหรือผู้ที่มีฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน มีหนองที่ปลายรากฟัน หนองพวกนี้จะมีกลิ่นมาก การแก้ไขคือให้ทันตแพทย์อุดฟันซี่ที่มีการผุนั้น ถ้าผุทะลุประสาทแล้วก็ต้องรักษารากฟัน ถ้าผุมากจนไม่สามารถเก็บฟันไว้และรักษาให้ดีเหมือนเดิม ก็จะต้องถอนออกแล้วใส่ฟันปลอม
• โรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ เหงือกอักเสบเนื่องจากมีหินปูน มีการสะสมของเศษอาหาร มีการทำลายอวัยวะรอบรากฟัน เหงือกอ้าออกจากตัวฟัน ทำให้เศษอาหารเข้าไปสะสมได้ง่ายขึ้น และแปรงออกได้ไม่หมด นานๆ ไปจึงส่งกลิ่นออกมา การแก้ไขคือต้องกำจัดหินปูนออกให้หมด โดยให้ทันตแพทย์ขูดออก
• แผลในช่องปาก ก็ทำให้เกิดกลิ่นปากได้ แต่เมื่อแผลหายกลิ่นปากก็จะลดลง นอกจากนี้กลิ่นปาก อาจเกิดขึ้นได้ภายหลังการถอนฟันหรือผ่าตัดในช่องปาก เนื่องจากขณะมีแผลในปากผู้ป่วยมักจะใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารได้ไม่ถนัด การรับประทานอาหารอ่อน ทำให้อาหารติดฟันได้ง่ายและมากขึ้น แผลที่มีเลือดไหลซึมจะเป็นอาหารอย่างดีของเชื้อโรคในช่องปาก ทำให้เกิดการบูดเน่าของอาหารและเลือดมีกลิ่นเหม็นได้ การแก้ไข คือ ขณะมีแผลในปากไม่ควรละเลยการทำความสะอาดช่องปาก หลังรับประทานอาหารควรแปรงฟันทันที โดยใช้แปรงปัดเบาๆ เพื่อไม่ให้คราบอาหารเกาะฟันนาน จะแปรงออกได้ง่ายกว่า ถ้าอ้าปากหรือแปรงฟันไม่ได้ ให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ ทุกครั้ง หลังรับประทานอาหารใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นพันนิ้วเช็ดฟัน เมื่อแผลหายและแปรงฟันหรือรับประทานอาหารได้ตามปกติแล้ว กลิ่นปากก็จะหายไปเอง
• ผู้ที่ใส่ฟันปลอมหรือใส่เครื่องมือต่างๆ ในปาก เช่น เครื่องมือจัดฟัน เครื่องมือกันฟันล้มเก เป็นต้น เครื่องมือเหล่านี้ ถ้ารักษาความสะอาดไม่ดีจะทำให้มีกลิ่นได้ จึงควรทำความสะอาดเครื่องมือทุกครั้งหลังจากถอดแล้ว ถ้ายังไม่ใส่ต่อควรแช่ไว้ในน้ำสะอาด และทำความสะอาดอีกครั้งก่อนใส่ ฟันปลอมที่ใส่มานานแล้ว ถ้ามีคราบหินปูนเกาะอาจใช้น้ำยาสำหรับแช่ฟันปลอม โดยเฉพาะแช่ได้เป็นครั้งคราว
• ลิ้นเป็นฝ้า เนื่องจากมีการสะสมของเศษอาหารและแบคทีเรียบนผิวด้านบนของลิ้น ก็เป็นสาเหตุของกลิ่นปากได้ เราสามารถใช้แปรงสีฟันแปรงลิ้นขณะแปรงฟัน หรือใช้ผ้า ไหมขัดฟัน หรือไม้ขูดลิ้นขูดออก
• น้ำลาย ถ้ามีน้ำลายน้อยชำระล้างเศษอาหารได้ไม่หมด ก็จะทำให้มีกลิ่นปากได้ ตอนตื่นนอนจึงมักจะมีกลิ่นปาก เพราะขณะหลับมีการไหลเวียนของน้ำลายน้อย ผู้ที่มีน้ำลายข้นเหนียวก็จะชำระล้างเศษอาหารได้ไม่ดีเท่าผู้ที่มีน้ำลายใส หรือบางคนอาจจะเกิดภาวะปากคอแห้ง (น้ำลายในช่องปากมีปริมาณน้อย หรือ Xerostomia) เกิดขึ้นได้ โดยการเกิดปัญหาที่ต่อมน้ำลาย การได้รับยาบางอย่างเพื่อการรักษา การหายใจทางปาก การเข้ารับการฉายรังสี เพื่อการรักษาและเคมีบำบัด ดังนั้น ถ้ารู้สึกว่าปากแห้งคอแห้ง ควรดื่มน้ำบ่อยๆ หรืออาจจะปรึกษาแพทย์ เพื่อใช้น้ำลายเทียม
• สาเหตุภายนอกช่องปาก จะเกี่ยวข้องกับระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น
• โรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน เริ่มตั้งแต่จมูก คอ จนถึงหลอดลม เช่น โรคโพรงจมูกอักเสบ หรือที่เรียกว่าไซนัสอักเสบ เกิดจากมีของเหลวหรือหนองอยู่ในโพรงอากาศของกระดูกใบหน้า ซึ่งมีหลายโพรง การอักเสบจนมีหนองนี้ จะทำให้มีกลิ่นออกมาทางจมูกขณะหายใจและทางปากขณะพูด ดังนั้น จึงไม่ควรปล่อยให้ตัวเองเป็นหวัดบ่อยๆ หรือเป็นนานๆ
• โรคระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง วัณโรคปอด หรือมะเร็งที่ปอด จะมีกลิ่นออกมากับลมหายใจและลมปากได้
• ทอนซิลอักเสบ ผู้ที่เจ็บคอขณะที่มีการอักเสบในลำคอ หรือต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังก็จะมีกลิ่นปากได้ และกลิ่นจะหายไปเมื่อคอหายอักเสบ
• ระบบย่อยอาหาร เริ่มตั้งแต่ปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารอาจมีกลิ่นออกมาขณะพูดหรือเรอได้ ผู้ที่ระบบย่อยอาหารไม่ดี ท้องอืด ท้องเฟ้อเป็นประจำ เมื่อมีลมออกจากกระเพาะอาหาร ก็จะมีกลิ่นเหมือนอาหารบูดตามออกมาด้วย รวมทั้งผู้ที่ระบบขับถ่ายไม่ดี ท้องผูกบ่อยๆ เมื่อมีลมดันขึ้นหรือเรอก็จะทำให้ปากมีกลิ่นได้เช่นกัน
• การรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดกลิ่น เช่น กระเทียม หัวหอม เครื่องเทศ จะทำให้มีกลิ่นปากได้ แต่เมื่อถูกย่อย ดูดซึม และขับถ่ายออกหมด กลิ่นก็จะหายไป แต่ถ้ารับประทานอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้มกลิ่นปากอย่างต่อเนื่องได้ด้วย
• การสูบบุหรี่ นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั่วไปแล้ว ยังเป็นปัจจัยเสริมให้เป็นโรคปริทันต์รุนแรงมากขึ้นด้วย กลิ่นของบุหรี่ที่ตกค้างอยู่ในช่องปากผสมกับกลิ่นอื่นๆ ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเฉพาะขึ้นมา
• เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เช่น เหล้า เบียร์ ก็ทำให้เกิดกลิ่นปากได้
• ยาบางชนิด เช่น ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคจิตบางตัว สามารถก่อให้เกิดกลิ่นปากได้ จึงต้องลองปรึกษาคุณหมอ เพื่อเปลี่ยนยา หรือหาวิธีแก้ไขอย่างอื่นเพิ่มเติมตามอาการ
วิธีการแก้ไขและป้องกันกลิ่นปากจะเป็นไปตามแต่ละสาเหตุตาที่กล่าวมา อย่างไร ก็ตามวิธีการป้องกันที่ง่ายที่สุดก็คือ การแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดให้ดีทุกวัน ร่วมกับการไปพบทันตแพทย์ เพื่อดูแลสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุกวัน 6 เดือน
ข้อมูลอ้างอิง
-American Dental Association, Council on Scientific Affairs : Association report: Oral Malodor, J Am Dent Asso 134:209-214, 2003.
-คณะทันตะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และทันตแพทยสภา
ทพญ.กิตติลักษณ์ จุลลัษเฐียร
ทันตแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)