© 2017 Copyright - Haijai.com
พิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เชื้อไวรัสจากสัตว์ทำให้เกิดโรคเฉียบพลันต่อระบบประสาทส่วนกลางในคน เป็นโรคที่พบได้ทุกประเทศทั่วโลก สัตว์ที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้ ได้แก่ สุนัข แมว วัว ควาย ค้างคาว แรคคูน สกังค์ สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่า เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจากการถูกสัตว์กัด การติดเชื้อไวรัสโดยไม่ได้เกิดจากการถูกสัตว์กัด เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก เช่น การสูดหายใจเอาเชื้อไวรัสจำนวนมากที่มีอยู่ในห้องปฏิบัติการเพาะเชื้อ หรือในถ้ำที่มีค้างคาวจำนวนหลายล้านตัว ปล่อยเชื้อออกมาในบรรยากาศ หรือได้รับเชื้อไวรัสจากการเปลี่ยนถ่ายกระจกตา หรือเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ
ระยะฟักตัวของโรคพิษสุนัขบ้านานราว 1-3 เดือน แต่อาจจะสั้นหรือยาวกว่านี้ก็ได้ เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่สัตว์กัด ระยะแรกไวรัสจับที่เซลล์กล้ามเนื้อ จากนั้นไวรัสจะไปจับที่บริเวณรอยต่อเส้นประสาทกับกล้ามเนื้อ เชื้อไวรัสเดินทางไปตามเส้นประสาท เพื่อเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ ไขสันหลัง ก้านสมอง และสมอง ตามลำดับ หลังจากนั้นไวรัสเดินทางตามเส้นประสาทออกจากระบบประสาทส่วนกลาง เพื่อกระจายไปสู่อวัยวะต่างๆ เช่น ต่อมน้ำลาย กล้ามเนื้อ ผิวหนัง หัวใจ ตับ ต่อมหมวกไต
ลักษณะอาการ
อาการของโรคพิษสุนัขบ้าแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะอาการนำ ระยะเฉียบพลันต่อระบบประสาท ระยะหมดสติและเสียชีวิต ระยะเฉียบพลันทางระบบประสาทมีลักษณะอาการที่พบ 2 แบบ คือ สมองอักเสบกับอัมพาต
• อาการนำ มีอาการที่ไม่จำเพาะว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ อาการเหล่านี้ ได้แก่ ไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 50-80 มีอาการปวดๆ คันๆ บริเวณแผลที่ถูกกัด
• สมองอักเสบ พบประมาณร้อยละ 80 ลักษณะอาการมีดังนี้คือ มีไข้ อุณหภูมิร่างกายอาจจะสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส สับสน ประสาทหลอน เอะอะโวยวาย กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก ชัก มีความผิดปกติของระบบปราสาทออโตโนม ทำให้มีน้ำลายฟูมปาก ต้องบ้วนน้ำลายบ่อยๆ เหงื่อแตก รูม่านตาขยาย อวัยวะเพศแข็งตัว ความผิดปกติที่เกิดขึ้นที่ก้านสมอง ทำให้มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการกิน การกลืน การหายใจ ผู้ป่วยจึงมีอาการคล้ายกับกลัวน้ำ เมื่อให้น้ำดื่ม จะไม่สามารถดื่มน้ำได้ หรือมีอาการคล้ายกับกลัวลม คือ เมื่อโบกลมใส่ตัว ผู้ป่วยจะเกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการกิน การกลืน การหายใจ และกระบังลม อาการเหล่านี้ เกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองที่ไวเกินของก้านสมอง ภาวะรู้สติแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา บางช่วงเอะอะโวยวาย ร้องเสียงดัง บางช่วงเงียบสงบ การดำเนินโรคเป็นไปอย่างรวดเร็วในที่สุดจะหมดสติ และเสียชีวิต สาเหตุของการเสียชีวิตมักจะเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และ/หรือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ระยะเวลาของโรคนานประมาณ 1-7 วัน
• อัมพาต พบประมาณร้อยละ 20 ผู้ป่วยจะมีอากรกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่พบลักษณะของอาการกลัวน้ำ กลัวลม มีการเปลี่ยนแปลงของภาวะรู้สติ อาการอ่อนแรงมักเริ่มจากแขนขา บริเวณที่ถูกกัด แล้วลุกลามไปจนอ่อนแรงทั่วตัว ระยะเวลาของโรคนานประมาณ 2-10 วัน
การวินิจฉัย
อาศัยประวัติและลักษณะอาการที่ตรวจพบ การวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยที่มีอาการสมองอักเสบเฉียบพลัน และ/หรือ อาการอ่อนแรงเฉียบพลัน จะต้องพิจารณาโรคพิษสุนัขบ้าไว้ด้วยเสมอ แม้จะไม่ได้มีประวัติถูกสัตว์กัดมาก่อน หรือยังตรวจไม่พบลักษณะของอาการกลัวน้ำ เมื่อสงสัยว่าจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ควรเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตัวอย่างเหล่านี้ ได้แก่ เลือด น้ำไขสันหลัง น้ำลายสด ชิ้นเนื้อผิวหนังบริเวณต้นคอ การตรวจชิ้นเนื้อ ผิวหนัง เพื่อหาเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าที่จับอยู่ที่เส้นประสาท ที่มาเลี้ยงผิวหนังควรใช้การตรวจด้วยวิธีต่างๆ หลายวิธีจะช่วยในการวินิจฉัยโรค การตรวจบางวิธี เช่น การตรวจเลือดหาแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัส อาจจะให้ผลลบลวงในระยะแรกของโรค
การรักษาและการป้องกัน
การรักษาเป็นแบบประคับประคองและรักษาตามอาการ ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตทุกรายและยังไม่มีวิธีการรักษา ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิต สำหรับการป้องกันหลังสัมผัสโรค สามารทำได้โดย
• ทำความสะอาดบาดแผลทันที ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด ตัดและตกแต่งบาดแผลให้เรียบร้อย ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ให้ยาต้านจุลชีพ
• ให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยต้องฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน วันที่ 0 3 7 14 และวันที่ 28 วัคซีนเข็มแรกควรฉีดในวันที่สัมผัสโรคหรือเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ไม่ควรฉีดวัคซีนที่สะโพก เนื่องจากอาจไม่เข้ากล้ามเนื้อ
• ให้อิมมูโนโกลบูลินขนาด 20 ยูนิตต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ฉีดที่บริเวณบาดแผล ถ้าฉีดที่แผลได้ไม่หมด ที่เหลือฉีดเข้ากล้ามเนื้อห่างจากบริเวณที่ฉีดวัคซีน การให้อิมมูโนโกลบูลินไม่ควรเกิน 7 วันหลังจากได้รับวัคซีน เพราะมีผลต่อการสร้างแอนติบอดีจากวัคซีน
ส่วนการป้องกันก่อนสัมผัสโรคทำได้ โดยพิจารณาให้วัคซีนแก่บุคคลผู้มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค ได้แก่ บุคคลที่มีอาชีพคลุกคลีกับสัตว์ ผู้ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการเชื้อไวรัสก่อโรค และผู้ที่เดินทางไปยังประเทศที่มีความชุกของโรคสูง
นพ.จีรศักดิ์ กาญจนาพงศ์กุล
อายุระแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา
(Some images used under license from Shutterstock.com.)