Haijai.com


ความร้ายแรงของมะเร็งกล่องเสียง


 
เปิดอ่าน 3065

มะเร็งกล่องเสียง

 

 

ความร้ายแรงของมะเร็งกล่องเสียง หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ภายในหนึ่งปี แต่ในขณะเดียวกัน มะเร็งกล่องเสียงก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้เขียนจะแนะนำถึงวิธีการรักษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งหลักการและอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ข้อควรปฏิบัติตนของผู้ป่วย ตลอดจนการป้องกันโรค เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

 

การรักษามะเร็งกล่องเสียง

 

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกล่องเสียง แพทย์จะให้การรักษาตามแนวทางดังนี้

 

 ถ้าเป็นระยะแรกเริ่ม (ระยะที่ 1 และระยะที่ 2) จะรักษาโดยการฉายรังสีหรือผ่าตัด วิธีใดวิธีหนึ่งเพียงวิธีเดียว เพราะให้ผลการรักษาได้เท่าเทียมกัน การฉายรังสีจะรักษากล่องเสียไว้ได้ ผู้ป่วยจึงสามารถพูดได้ตามปกติ ในขณะที่การผ่าตัดจะตัดกล่องเสียงบางส่วน เวลาผู้ป่วยพูดจึงอาจเสียงแหบ

 

 

 ถ้าเป็นระยะลุกลาม (ระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ซึ่งยังไม่มีการแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต) จะใช้การรักษาร่วมกัน หลายๆ วิธี เช่น การผ่าตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองที่โตหรือที่อยู่ใกล้เคียงร่วมกับการฉายรังสี บางรายอาจใช้เคมีบำบัดร่วมด้วย เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะพูดไม่ได้เป็นปกติ แต่ส่วนใหญ่จะกินอาหารได้ปกติ ผู้ป่วยจะต้องฝึกการพูดแบบไม่มีกล่องเสียง หรือใช้อุปกรณ์ช่วยพูด (electrolarynx) หรืออาศัยรูที่เจาะระหว่างหลอดลมและหลอดอาหาร

 

 

อาจมีคำถามว่าการรักษามะเร็งกล่องเสียง จำเป็นต้องเจาะคอหรือไม่ สำหรับมะเร็งระยะเริ่มแรกมักไม่ต้องเจาะคอ แต่ในรายที่ผ่าตัดมักจะต้องเจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจชั่วคราว จนกว่าแผลหายจึงจะถอดท่อช่วยหายใจออกได้ มีบางรายเท่านั้นที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจตลอดไป สำหรับผู้ที่เป็นมากจนหายใจไม่สะดวก ก็ต้องเจาะคอช่วยหายใจก่อน แล้วจึงทำการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่มักต้องตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด และเปิดหลอดลมเป็นรูหายใจที่คอ

 

 

ผลข้างเคียงจากากรรักษาโรคมะเร็งกล่องเสียง ขึ้นกับวิธีรักษา และผลข้างเคียงจะสูงขึ้น เมื่อใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน หรือเมื่อผู้ป่วยมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคที่ก่อให้มีการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคที่มีภูมิต้านทานต่อตนเอง หรือผู้ป่วยสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีอายุมาก

 

 

การดูแลตนเอง

 

การดูแลตนเองของผู้ป่วยในระหว่างหรือหลังเข้ารับการรักษาแล้วมีดังต่อไปนี้

 

 

 เรื่องทั่วไป

 

 รักษาสุขอนามัยพื้นฐานอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด เพราะผู้ป่วยมีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนทั่วไป

 

 

 ภายหลังครบการรักษาโรคมะเร็งแล้ว ช่วงประมาณ 4-8 สัปดาห์แรกยังถือว่าอยู่ในระยะพักฟื้น ควรค่อยๆ ปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งกิจวัตประจำวัน การทำงาน การออกแรงทั้งหลาย รวมทั้งการออกกำลังกาย ปฏิบัติตามที่แพทย์ พยาบาลแนะนำ โดยเฉพาะการทำกายภาพฟื้นฟูเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะต่างๆ และควรกลับไปทำงานตามปกติ เมื่อพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ

 

 

 ไม่กินยาสมุนไพรและยาต่างๆ หรือใช้การแพทย์สนับสนุนหรือการแพทย์ทางเลือก โดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อน

 

 

 ดูแลรักษาโรคร่วมต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เพราะโรคร่วมเหล่านี้ จะมีผลต่อสุขภาพโดยรวม และเป็นปัจจัยให้เกิดผลข้างเคียงระยะยาว จากากรรักษาสูงขึ้น

 

 

 พักผ่อนให้เต็มที่ ถ้าอ่อนเพลียควรลาหยุดงาน แต่ถ้าไม่อ่อนเพลียก็สามารถทำงานได้ แต่ควรเป็นงานเบาๆ ไม่ใช้แรงงานและสมองมาก และสามารถพักในช่วงกลางวันได้ ควรปรึกษาหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน เพื่อการปรับตัว

 

 

 ทำงานบ้านได้ตามกำลัง

 

 

 งดหรือเลิกบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดชีวิต เพราะมีสารพิษที่เป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งจากการศึกษาสนับสนุนว่า เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำ หรือเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งชนิดใหม่ (ชนิดที่ 2) ได้ และจำกัดเครื่องดื่มคาเฟอีน

 

 

 มีเพศสัมพันธ์ได้ตามกำลัง ผู้ป่วยหญิงวัยเจริญพันธุ์ ควรยังต้องคุมกำเนิดอยู่ เพราะทารกที่เกิดช่วง 6 เดือนหลังครบการรักษา อาจมีความผิดปกติในการเจริญเติบโตได้จากสุขภาพมารดา ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทั้งนี้ในเรื่องวิธีการคุมกำเนิดและการตัดสินใจตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาโรคมะเร็งเสมอ เพราะอาจมีความสัมพันธ์กับการลุกลามหรือการย้อนกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งได้

 

 

 รู้จักดูแลตนเองในภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา

 

 

 รักษาสุขภาพจิต ให้กำลังใจตนเองและคนรอบข้างมองโลกในด้านบวกเสมอ

 

 

 พบแพทย์ตามนัดเสมอ หรืออาจมาพบแพทย์ก่อนนัด เมื่ออาการต่างๆ เลวลง หรือเกิดความผิดปกติ ผิดไปจากเดิม เช่น การคลำได้ก้อนเนื้อผิดปกติ มีแผลเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ มีเลือดออกจากเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ หรือเมื่อกังวลในอาการ หรือในโรค

 

 

 เมื่อมีไข้สูง ท้องเสีย (โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับมีไข้ คลื่นไส้) อาเจียนมากจนกินดื่มไม่ได้หรือได้น้อย ไอมากจนส่งผลกระทบต่อการนอน หายใจเหนื่อยหอบ มีเลือดกำเดา อาเจียน ไอ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะเป็นเลือด มีเลือดออกตามเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่างๆ ท่อหรือสายต่างๆ เช่น ท่อให้อาหารหรือท่ออาหายใจที่มีอยู่หลุด ปวดศีรษะรุนแรง ชัก แขนขาอ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้ อุจจาระปัสสาวะไม่ออก ไม่มีปัสสาวะภายใน 6 ชั่วโมง สับสน ซึม และโคม่า ให้พบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง หรือฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

 

 

 การดูแลตนเองในเรื่องอาหาร

 

 การกินอาหารทีมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่ ปลา ตับ) เพราะในการรักษาโรคมะเร็ง ความแข็งแรงของไขกระดูก (เม็ดเลือดต่างๆ ) เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะเป็นตัวช่วยให้ร่างกายมีการตอบสนองที่ดีต่อรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด รวมทั้งช่วยลดโอกาสติดเชื้อ ซึ่งการติดเชื้อในขณะกำลังรักษาโรคมะเร็ง มักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง

 

 

 เพิ่มผักผลไม้ให้มากๆ และจำกัดปริมาณอาหาร ไขมัน แป้ง น้ำตาล อาหารเค็ม (ยกเว้นผู้ป่วยบางรายที่มีเกลือแร่โซเดียวในเลือดต่ำ และแพทย์แนะนำให้กินเค็มเพิ่มขึ้น)

 

 

 เมื่อกินอาหารได้น้อยให้พยายามกินในจำนวนมื้อที่บ่อยขึ้น กินครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ จำกัดอาหารหวานและอาหารเค็ม เพราะมีผลต่อน้ำตาลในเลือด และการทำงานของไต

 

 

 ให้กำลังใจตนเอง เข้าใจว่าอาหารเป็นตัวยาสำคัญ ยิ่งตัวหนึ่งของการรักษาโรคมะเร็ง ลองปรับเปลี่ยนประเภทอาหารให้กินได้ง่ายขึ้น เช่น อาหารอ่อน อาหารเหลว (ประเภทอาหารทางการแพทย์) แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารทอด ผัด หรือมีกลิ่นรุนแรง เพราะมักกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน

 

 

 ปรับเปลี่ยนที่กินอาหารในบ้าน ไม่กินแต่ในห้อง อาจนั่งกินที่ระเบียง ให้มีบรรยากาศที่ดี ปลอดกลิ่น อากาศถ่ายเทได้ดี มีแสงแดดพอควร มองเห็นต้นไม้ดอกไม้ กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกที่ดี

 

 

 เตรียมอาหารครั้งละน้อยๆ เพื่อจะได้ไม่กินเหลือ เกิดกำลังใจว่ากินหมดทุกมื้อ ถ้วย ชาม แก้วน้ำ ปรับให้ดูสะอาด สวยงาม ช่วยเพิ่มความอยากอาหาร

 

 

 ควรแจ้งแพทย์ พยาบาลเมื่อกินไม่ได้ หรือกินได้น้อย และควรยอมรับเมื่อแพทย์แนะนำการให้อาหารทางสายให้อาหาร อาจผ่านทางจมูกหรือทางช่องท้อง เพราะเป็นการให้เพียงชั่วคราว ในช่วงที่มีปัญหาจากการกินทางปาก เพื่อให้ร่างกายได้อาหารอย่างพอเพียง ทำการรักษาดำเนินไปได้ตามแผนการรักษา เพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

 

 

 การออกกำลังกาย

 

 ถ้าสุขภาพไม่เอื้อต่อการออกกำลังกาย หากยังพอลุกไหว ให้เพียรพยายามเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตทั่วร่างกาย อย่านั่งๆ นอนๆ จะช่วยให้สภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้น

 

 

 ช่วงการรักษายังควรออกกำลังกายสม่ำเสมอเท่าที่พอจะทำได้ อย่าหักโหม ค่อยๆ ออกกำลังกายแล้วสังเกตอาการ อย่าออกกำลังกายจนเหนื่อย จะช่วยให้ร่างกายสดชื่น อยากอาหาร มีการขับถ่ายที่ดี มีการเวียนโลหิตที่ดี ช่วยกระตุ้นความอยากอาหารและการย่อยอาหาร

 

 

 ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอตลอดชีวิต ค่อยๆ ปรับจนเข้าภาวะปกติ โดยควรออกกำลังกายให้เหมาะสมตามสุขภาพของตนเอง และเลือกประเภทการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับโรค เช่น เลือกการว่ายน้ำ เมื่อมีโรคของข้อต่างๆ เป็นต้น

 

 

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันมะเร็งกล่องเสียงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งสำคัญที่เราสามารถทำได้คือการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งระคายเคือง เช่น ใยหิน ฝุ่นไม้ ควัน สารเคมี และมลพิษต่างๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกประเภท ดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอทุกวัน หรือเล่นกีฬาเป็นประจำ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

 

 

รศ.นพ.ปารยะ อาสนะเสน

โสต ศอ นาสิก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจมูกและภูมิแพ้

(Some images used under license from Shutterstock.com.)