Haijai.com


ลดคอเลสเตอรอลเพื่อสุขภาพที่ดี


 
เปิดอ่าน 2076

คอเลสเตอรอล ลดได้ ดีจริง

 

 

ปัจจุบันคนบางกลุ่มมีแนวคิดว่าคอเลสเตอรอลไม่มีโทษใดๆ และน้ำมันมะพร้าวมีประโยชน์ต่อร่างกาย ควรบริโภคให้มากๆ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่าคอเลสเตอรอลเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจโดยแท้ ดังการศึกษาหนึ่งที่ให้ลิงกินไข่แดงทุกมื้อ ซึ่งผลปรากฏว่าเพียง 17 เดือน ก็ทำให้หลอดเลือดตีบตันถึง 60% ในขณะที่การลดคอเลสเตอรอลย่อมลดความเสี่ยงต่อการตายด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจได้ถึง 24-40% อนึ่งน้ำมันพืชไม่สามารถลดคอเลสเตอรอลได้ น้ำมันหรือไขมันบางชนิด เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันจากสัตว์ อุดมด้วยไขมันอิ่มตัว ซึ่งเพิ่มคอเลสเตอรอลในร่างกาย ดังนั้น ผู้ที่ปรารถนาสุขภาพหัวใจที่ดี จึงควรกินยาลดไขมันตามแพทย์สั่ง ไม่หยุดยาเองเป็นอันขาด และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

 

 

คอเลสเตอรอลเป็นสารที่มีการพูดถึงเขียนถึงกันมาก โดยเฉพาะในวงการแพทย์และนิตยสารทางสุขภาพ มีการวิจัยค้นคว้ากันมากอย่างยาวนาน ที่แสดงให้เห็นว่าคอเลสเตอรอลเป็นตัวร้ายที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบ ตัน โต แตก ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ (สมองขาดเลือด) โรคจอตาเสื่อม โรคไตวาย ขาขาดเลือด ฯลฯ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 กว่าๆ ยาลดคอเลสเตอรอลในเลือดกลุ่มที่ลงท้ายด้วยคำว่า “สแตติน” (statins) เช่น ยา simvastatin เป็นยาที่ใช้กันมาก และเป็นยาที่มีหมอสั่งให้ใช้มากที่สุดตัวหนึ่ง ปัจจุบันมีคนใช้ยากลุ่มนี้หลายร้อยล้านคน แค่ในสหรัฐอย่างเดียวใช้กันมากกว่า 200 ล้านคน ระยะหลังยาประเภทนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันมากกว่ามีการสมรู้ร่วมคิด ระหว่างวงการแพทย์และบริษัทผลิตยาหลอกลวงคนไข้ ให้เสียเงินซื้อยานี้ กินจนลามมาถึงเมืองไทย ทำให้มีการต่อต้านคอเลสเตอรอล มีการโปรโมตน้ำมันพืชถึงขนาดแนะนำให้ซดกินกันเป็นว่าเล่น

 

 

การต่อต้านสแตตินนี้เริ่มจากสหรัฐ ตั้งแต่ที่แนวทางปฏิบัติออกมาจากรัฐบาลสหรัฐในปี ค.ศ.2013 โดยแนะนำว่าประชาชนควรกินยาสแตติน เพื่อป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด ทำให้หลายคนไม่เห็นด้วยรวมทั้งหมอหลายคน (การกินป้องกันคือกินเมื่อพบคอเลสเตอรอลสูงแต่ยังไม่มีโรค) แถมยังมีสื่อมวลชน (ไม่ใช่วารสารการแพทย์) เริ่มเสนอบทความไม่เชื่อเรื่องไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลว่า เป็นตัวทำให้เกิดโรคหัวใจ แม้แต่ในอินเตอร์เน็ตก็ยังมีบทความ (โดยใครก็ไม่รู้หัวนอนปลายเท้า) ส่งต่อกันไปทั่ว อ้างว่าไม่มีหลักฐานว่าไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลทำให้เกิดโรคหัวใจ

 

 

เมืองไทยเราก็มีพ็อกเก็ตบุ๊คเขียนโดยดอกเตอร์ ที่ไม่ใช่แพทย์ออกมาต่อต้านว่า คอเลสเตอรอลไม่ได้ทำให้เกิดปัญหา เขาว่ามันมีประโยชน์ไปลดมันทำไม และสนับสนุนให้กินน้ำมันมะพร้าว โดยอ้างว่าน้ำมันมะพร้าว (ซึ่งมีไขมันอิ่มตัวสูง) ไม่มีคอเลสเตอรอล และคนไทยกินน้ำมันมะพร้าวกันมาตั้งแต่บรรพกาล ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร (คนเห็นปัญหาคือแพทย์ คนมีปัญหาคือคนไข้ ซึ่งนับวันจะมีมากขึ้น) ทำให้คนอ่านหลายคนเกิดความสับสน และทำให้คนไข้บางคนคิดว่าจะหยุดกินยาสแตตินที่ใช้ลดไขมัน (คอเลสเตอรอล) ในเลือดีหรือไม่

 

 

เป็นที่รู้กันแน่ชัดแบบวิทยาศาสตร์ว่า ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่สูง สามารถทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ ยาสแตตินซึ่งมีฤทธิ์ลดการสร้างคอเลสเตอรอล โดยตับสามารถลดความเสี่ยงการตายจากโรคหัวใจขาดเลือดได้ มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าคนไข้ที่มีโรคหัวใจขาดเลือด มีอาการเจ็บหน้าอก หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน และอัมพาต อัมพฤกษ์ สามารถลดความเสี่ยงการตายได้ 10% ต่อระดับคอเลสเตอรอลตัวร้าย (LDL cholesterol) ที่ลดลงมาได้ 1 มิลลิโมลต่อลิตร ยาสแตตินอาจจะมีผลข้างเคียงเช่นทำให้มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร อาทิ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเดิน ตับเสียการทำงาน ทำให้ปวดกล้ามเนื้อ แต่ผลข้างเคียงที่ร้ายแรงเกิดขึ้นน้อย

 

 

คอเลสเตอรอลในร่างกายเราส่วนมาก (80%) สร้างขึ้นโดยตับ โดยใช้วัตถุดิบจากไขมันอิ่มตัว และจากคอเลสเตอรอลที่กินเข้าไป (เช่น ไข่แดง ซึ่งมีคอเลสเตอรอลสูงมากราว 200 มิลลิกรัมต่อฟอง หรือจากเนื้อสัตว์) การกินไขมันดังกล่าวมากๆ จึงทำให้ตับผลิตคอเลสเตอรอลออกมามากขึ้น จากการศึกษาหนึ่งในลิงที่เขาป้อนไข่แดงให้กินทุกมื้อ พบว่า ใช้เวลาเพียง 17 เดือนเท่านั้น ที่จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันมากขึ้น เป็น 60% ของหลอดเลือด และการงดอาหารไข่แดงเด็ดขาด ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี จึงจะทำให้การตีบตันลดลงเหลือ 20% นอกจากนี้จากผลการวิจัยในคนไข้มากกว่า 30,000 คนใน 3 ทวีป ได้แสให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า การลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ไม่ว่าจะโดยวิธีใด สามารถลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้แน่ และถ้าลดระดับคอเลสเตอรอลลง ก็จะสามารถลดอัตราตายจากโรคหัวใจได้ 24-40%

 

 

น้ำมันพืชไม่มีคอเลสเตอรอล แต่กินแล้ว จะลดคอเลสเตอรอลได้จริงหรือ

 

คำตอบคือ “ไม่จริง” เพราะน้ำมันพืช แต่ละอย่าง มีไขมันชนิดต่างๆ สูงต่ำไม่เหมือนกัน บางชนิดมีไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งเป็นไขมันดีในปริมาณมาก ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ดังที่มีรายงานในวารสารชั้นนำในวงการแพทย์ชื่อ New England Journal of Medicine ปี ค.ศ.2013 ว่าการกินอาหารที่อุดมด้วยไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว และไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ กับการลดลงของความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติการณ์เฉียบพลันของโรคหัวใจและหลอดเลือด (เช่น หัวใจขาดเลือด อัมพาต) ในขณะที่น้ำมันพืชบางชนิดมีไขมันอิ่มตัว ซึ่งไม่ดีต่อหัวใจในปริมาณมาก เพราะไขมันอิ่มตัว เมื่อเข้าไปในร่างกายแล้ว จะถูกเปลี่ยนคอเลสเตอรอลได้มากกว่า

 

 

ปริมาณไขมันอิ่มตัวในน้ำมันและไขมันที่บริโภคกันทั่วไปมีดังนี้

 

 น้ำมันมะพร้าว 92%

 

 

 เนยเหลว 64%

 

 

 ไขมันในเนื้อสัตว์ 52%

 

 

 น้ำมันปาล์ม 51%

 

 

 ไขมันหมู 41%

 

 

 ไขมันไก่ 31%

 

 

 น้ำมันถั่วลิสง 18%

 

 

 น้ำมันถั่วเหลือง 15%

 

 

 น้ำมันมะกอก 14%

 

 

 น้ำมันข้าวโพด 13%

 

 

 น้ำมันดอกทานตะวัน 9%

 

 

 น้ำมันดอกคำฝอย 9%

 

 

 น้ำมันคาโนลา 6%

 

 

ถ้าคุณเป็นคนไข้ที่มีโรคหัวใจขาดเลือด หรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนั้น วงการแพทย์ปัจจุบันแนะนำให้ลดระดับคอเลสเตอรอลเช่นที่แนะนำ โดยมูลนิธิโรคหัวใจแห่งออสเตรเลีย แนะนำให้ท่านกินยาสแตติน ยาลดความดันเลือด และยาแอสไพริน และไม่ควรหยุดกินยาเองก่อนแพทย์สั่ง (ถ้าหยุดยาเอง ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงเอง เพราะคนอื่นที่เชียร์คุณไม่สามารถรับผิดชอบได้) อนึ่งควรจำไว้ด้วยว่า โรคหัวใจขาดเลือดไม่ได้เกิดจากคอเลสเตอรอลสูงเพียงปัจจัยเดียว ปัจจัยอื่นก็มี เช่น ความเครียด การขาดการออกกำลังกาย เบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ ดังนั้น จึงควรให้ความสนใจป้องกันโดย ลด ละ เลิก สิ่งที่ไม่ดีต่อโรคหัวใจขาดเลือด และระวังการบริโภคข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีอยู่มากที่ทำให้เกิดความสับสนเสื่อมเสียต่อสุขภาพ

 

 

นพ.นริศ เจนวิริยะ

ศัลยแพทย์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)