© 2017 Copyright - Haijai.com
ยาปฏิชีวนะ ปราศจากเชื้อดื้อยา
การดื้อของเชื้อโรคต่อยาปฏิชีวนะเกิดขึ้นมาตั้งแต่มีการค้นพบยาปฏิชีวนะแล้วพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนทุกวันนี้มีการดื้อยามาก เชื้อบางตัวดื้อยาหลายชนิดเขาเรียกมันว่า ซูเปอร์บั๊ก (superbugs) ทำให้คนไข้ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งติดเชื้อนี้ 2 ล้านคน ตายไป 23,000 รายต่อปี วงการแพทย์จึงมีความกังวลต่อเรื่องนี้มาก
เพิ่งจะมีข่าวดีโผล่ขึ้นมาว่า มีนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบยาปฏิชีวนะที่ไม่มีเชื้อดื้อต่อมัน มีชื่อว่า ไทโซแบคติน (teixobactin) ยาตัวนี้ทำการทดลองในหนูพบว่า ไม่มีเชื้อดื้อต่อมันเลย ซึ่งถ้าเป็นจริงก็จะเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากในการรักษาโรคติดเชื้อ นักวิจัยกล่าวว่ายาปฏิชีวนะตัวนี้ยังไม่ได้ทดลองในคน และเป็นยาที่อาจจะช่วยรักษาเชื้อดื้อยาซูเปอร์บั๊กอย่างเช่น MRSA หรือเชื้อวัณโรค ซึ่งปัจจุบันนี้ต้องใช้ยาเป็นชุดในการรักษาเป็นเวลานานและมีผลข้างเคียงมาก
Kim Lewis จากมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น ประเทศสหรัฐ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท โนโวไบโอเทค ฟาร์มาซูติคอลส์ ซึ่งเป็นผู้ถือสิทธิบัตรของยาตัวนี้กล่าวว่า ยาตัวนี้มีศักยภาพสูงและได้ทำลายความเชื่อเก่าๆ เรื่องการรักษาโรคติดเชื้อ เขาได้ร่วมงานกับนักวิจัยเยอรมันที่มหาวิทยาลัยบอนน์และบริษัท เซลิก้า จำกัด ของอังกฤษ และผลการค้นพบนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อไม่นานมานี้ Tanya Schneider นักวิจัยร่วมแห่งบอนนด์ได้อธิบายว่า ยาไทโซแบคติน เป็นสารประกอบกลุ่มใหม่ที่มีกลไกการฆ่าเชื้อโดยการทำให้ผนังเซลล์ของเชื้อแตกสลายลง ดูเหมือนว่ามันจะพุ่งไปทำลายหลายเป้าหมาย จึงทำให้การพัฒนาความดื้อยาช้าลง
Lewis และทีมโนโวไบโอเทคได้ทำการแก้ปัญหานี้ โดยการค้นคว้าทดลองลุยเข้าไปในหลายแหล่งที่อาจจะมียาปฏิชีวนะ เขาได้พัฒนาวิธีการเพาะเชื้อที่ยังไม่เคยมีใครสามารถเพาะได้ ในภาวะแวดล้อมธรรมชาติ โดยใช้เครื่องมือขนาดเล็กย่อส่วนที่เรียกว่า iChip ซึ่งสามารถแยกและเพาะเซลล์โดดๆ ได้ ตั้งแต่นั้นมา โนโวไบโอเทคก็สามารถที่จะเก็บสะสมเชื้อแบคทีเรียที่ยังไม่เคยมีการเพาะได้ถึง 50,000 ชนิด และค้นพบยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ได้ถึง 25 ชนิด ซึ่งไทโซแบคตินเป็นตัวล่าสุดและน่าสนใจมากที่สุด นักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้ร่วมงานนี้ เมื่อได้ข่าวต่างก็แสดงความยินดีและแนะนำให้ทดลองในคน
นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งกล่าวว่าการค้นพบยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่เป็นข่าวดี การตรวจกวาดหาเชื้อแบคทีเรียในดิน ที่ยังไม่เคยมีการเพาะขึ้นมาได้ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ และเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างกำลังใจเมื่อพบว่า วิธีนี้ประสบความสำเร็จ แต่เราจะยังไม่รู้ว่ามันจะได้ผลดีในคนหรือไม่ จนกว่าจะมีการทดลองทางคลินิกในคนไข้ ซึ่ง Kim Lewis คาดว่าจะมีการทดลองในคนในราว 2 ปีข้างหน้า
(Some images used under license from Shutterstock.com.)