© 2017 Copyright - Haijai.com
นอนให้พอป้องกันโรค
เรื่องหลับเรื่องนอนดูเหมือนจะเป็นเรื่องไม่สำคัญในชีวิต นอนมากก็โดนว่าขี้เกียจ นอนไปก็ไม่ได้เงิน หลายคนเลยเอาเวลานอนไปทำงานหามรุ่งหามค่ำกัน เพราะดูแล้วได้เงินกันเห็นๆ อย่างไรก็ดีนั่นเป็นแค่การมองแบบผิวเผินเท่านั้น แท้จริงแล้วการนอนหลับในช่วงเวลาที่พอดี (ประมาณ 6-8 ชั่วโมง) และหลับอย่างมีคุณภาพนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุขภาพกายและใจที่ดี ไม่แพ้เรื่องการวางแผนโภชนาการและการออกกำลังกาย ผลลัพธ์ของการนอนหลับไม่เพียงพอนั้น ถ้าให้ทุกคนนึกก็คงเป็นเรื่องอาการง่วงระหว่างวัน สมรรถภาพการรับรู้และการเรียนรู้ลดลง ตลอดจนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ในกรณีของการอดนอนแล้วมาขับรถ แต่ลึกลงไปการนอนหลับไม่เพียงพอที่เป็นเรื้อรังนั้น ยังเพิ่มความเสี่ยงของสารพัดโรคไม่ว่าจะเป็นความดันเลือดสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอ้วน เป็นไปได้อย่างไรกัน
ทฤษฎีในปัจจุบันพบว่าการนอนหลับไม่เพียงพอ จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเกรลิน ซึ่งกระตุ้นความอยากอาหารมากขึ้น และทำให้ฮอร์โมนเลปติน ซึ่งทำให้รู้สึกอิ่ม มีระดับในร่างกายน้อยลง ผลลัพธ์ก็คือผู้ที่นอนหลับไม่เพียงพอมีแนวโน้มที่จะรับประทานอาหารมากขึ้น จนมีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรืออ้วนในที่สุด งานวิจัยที่พึ่งตีพิมพ์เร็วๆ นี้ใน The American Journal of Clinical Nutrition ได้นำข้อมูลงานวิจัยก่อนหน้านี้ถึง 9 งาน คิดเป็นจำนวนอาสาสมัครทั้งหมด 14,906 คน มาวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการนอนกับดัชนีมวลกาย และการรับประทานคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ตลอดจนผลของความแตกต่างในแต่ละคนของยีน CLOCK (Circadian Locomotor Output Cycles Kaput) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมนาฬิกาชีวภาพในร่างกายต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองตัวแปรข้างต้น
ผลการศึกษาพบว่าชั่วโมงการนอนที่เพิ่มขึ้น 1 ชั่วโมง สัมพันธ์กับการที่ค่าดัชนีมวลกายลดลง 0.16 หน่วย เมื่อพิจารณาแยกเพศแล้ว ความสัมพันธ์นี้จะเห็นเด่นชัดในชายมากกว่าในหญิง อย่างไรก็ตามชั่วโมงการนอนโดยทั่วไป ไม่มีความสัมพันธ์กับปริมาณคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันที่รับประทาน ยกเว้นในผู้ชายและผู้หญิงอายุระหว่าง 20-64 ปี พบว่า ชั่วโมงการนอนที่เพิ่มขึ้นจะลดปริมาณพลังงานที่ได้จากกรดไขมันอิ่มตัว และในผู้หญิงอายุ 65-80 ปี ที่พบว่าชั่วโมงการนอนที่เพิ่มขึ้น จะเพิ่มปริมาณพลังงานที่ได้รับจากไขมันโดยรวม กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน และลดปริมาณพลังงานที่ได้รับจากคาร์โบไฮเดรต การแปรผันของลำดับเบสในบางตำแหน่งของยีน CLOCK ก็ยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างชั่วโมงการนอนและปริมาณพลังงานที่ได้รับจากกรดไขมัน ไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนและโปรตีน
ผลต่างๆ ที่กล่าวมาจึงเน้นย้ำความสัมพันธ์ของการนอนอย่างเหมาะสม (แม้ว่าผลจะบอกว่านอนมากลดดัชนีมวลกาย แต่ก็ไม่ได้หมายถึงให้นอนกินบ้านกินเมือง นอนมากเกินไปก็แย่ต่อร่างกาย) และผลของพันธุกรรมต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามการปฏิบัติตนตามหลักสุขอนามัย ย่อมมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง แม้ว่าสิ่งที่มีมาแต่กำเนิดอาจจะบกพร่อง แต่ถ้าปฏิบัติตนเป็นอย่างดี สุขภาพที่แข็งแรงย่อมไม่ไกลเกินเอื้อม
(Some images used under license from Shutterstock.com.)