Haijai.com


โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คืออะไร


 
เปิดอ่าน 7126

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คืออะไร

 

 

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ มักจะเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงนั้นสั้นกว่าของผู้ชาย และรูปเปิดของท่อปัสสาวะนั้น ก็อยู่ใกล้ทวารหนัก จึงทำให้เชื้อโรคสามารถเข้าไปในท่อปัสสาวะ จนทำให้เกิดอาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนี้ การมีเพศสัมพันธ์ ก็อาจจะทำให้เชื้อโรคเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้ เมื่อเชื้อเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะและแบ่งตัวมากกว่าการถูกขับออกไป จึงทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้

 

 

อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ได้แก่

 

 ปวดหน่วงๆ บริเวณท้องน้อย

 

 

 ปัสสาวะบ่อย

 

 

 ปัสสาวะไม่สุด

 

 

 ปวดท้องน้อยเวลาปัสสาวะ

 

 

 กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้

 

 

 ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น

 

 

 ปัสสาวะมีเลือดปนและมีสีขุ่นๆ

 

 

ผู้หญิงที่ดื่มนมเปรี้ยว โยเกิร์ต และน้ำผลไม้อยู่เสมอ มีโอกาสที่จะเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้น้อยกว่าคนอื่นๆ ถึง 40%

 

 

ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 

 ทำความสะอาดหลังถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะจากด้านหลังมาหน้า ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เชื้อโรค จากทวารหนักเข้าสู่ท่อปัสสาวะได้โดยง่าย

 

 

 การมีเพศสัมพันธ์กับอวัยวะเพศหญิง หรืออวัยวะเพศชายที่ไม่สะอาด

 

 

 การคุมกำเนิด โดยใช้สารฆ่าอสุจิอย่างไม่ถูกสุขอนามัย

 

 

 การตีบตันของท่อปัสสาวะ จากต่อมลูกหมากโตหรือมะเร็งต่อมลูกหมาก จนทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี เนื่องจากมีปัสสาวะหมักหมม

 

 

 ความอับชื้น บริเวณอวัยวะเพศ จากการสวมกางเกงคับแน่นเกินไป หรือไม่ค่อยเปลี่ยนผ้าอนามัย จนทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี

 

 

 การสอดท่อสวนปัสสาวะ หรือการสอดเครื่องมือแพทย์เข้าไปในท่อปัสสาวะ และทิ้งไว้นานจนติดเชื้อโรค

 

 

การป้องกันการเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 

 หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เบียร์ น้ำอัดลม อาหารรสจัด และอาหารที่เป็นกรด เช่น มะเขือเทศ น้ำมะนาว น้ำสม เป็นต้น

 

 

 ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อป้องกันการสะสมเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะ

 

 

 เมื่อปวดปัสสาวะ ให้รีบไปปัสสาวะอย่ากลั้นปัสสาวะ เป็นเวลานานๆ

 

 

 ให้ปัสสาวะหลังมีเพศสัมพันธ์

 

 

 ทำความสะอาดมือให้เรียบร้อย ก่อนและหลังเปลี่ยนผ้าอนามัย

 

 

 เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ อย่าหมักหมมจนเกิดเชื้อโรค

 

 

 อย่านั่งถ่ายปัสสาวะบนที่นั่งที่เปียกชื้น

 

 

 หลังจากปัสสาวะ หรืออุจจาระ ให้เช็ดจากช่องคลอดไปทางทวาร เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโรค

 

 

 ใช้สบู่เฉพาะที่ อย่าใช้สบู่ที่ระคายเคืองต่ออวัยวะเพศ

 

 

 ในผู้ที่มีแนวโน้ม เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ควรถ่ายปัสสาวะทุกครั้ง หลังจากมีเพศสัมพันธ์ เพื่อชะล้างเชื้อโรคที่อาจเข้าไปในท่อปัสสาวะ

 

 

 ทำความสะอาดมือ และอวัยวะเพศทุกๆ ครั้ง ทั้งก่อนและหลังการมีเพศสัมพันธ์

 

 

 ใช้ชุดชั้นในที่ทำด้วยผ้าฝ้าย และไม่คับแน่นจนเกินไป หากรู้สึกว่าเหนอะหนะ ให้เปลี่ยนชุดชั้นในทันที

 

 

นอกจากนี้ ได้มีการค้นพบว่าผู้หญิงที่ดื่มนมเปรี้ยว โยเกิร์ต และน้ำผลไม้อยู่เสมอนั้น มีโอกาสที่จะเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้น้อยกว่าคนอื่นๆ ถึง 40% โดยเฉพาะน้ำจากลูกเบอร์รี่ต่างๆ หรือแม้กระทั่งรับประทานชีสอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็ทำให้โอกาสของการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบลดลงถึงเกือบ 80%

 

 

ในทวีปยุโรป มีการซื้อแคปซูลที่มียีสต์ ที่เป็นประโยชน์มารับประทาน เชื่อกันว่ามันทำให้เกิดแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น และลดแบคทีเรียตัวร้ายจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ส่วนการที่น้ำผลไม้บางชนิด เช่น น้ำแครนเบอร์รี่ (cranberries juice) ช่วยลดอัตราการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบนั้น นักวิจัยเชื่อว่า เนื่องจากมันมีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ที่คอยทำลายเชื้อแบคทีเรียนั่นเอง

 

 

การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 

ตรวจปัสสาวะ เพื่อวินิจฉัยโรค และแยกโรคอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกันออกไป เช่น เบาหวาน นิ่วในทางเดินปัสสาวะ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ฯลฯ

 

 

สำหรับการรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบนั้น ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ และต่อเนื่องสม่ำเสมอ เนื่องจากอาจจะเกิดโรคแทรกซ้อนได้

 

 

ยาที่นิยมใช้ได้แก่

 

 nitrofurantion

 

 sulfa drugs (sulfonamides)

 

 amoxicillin

 

 cephalosporins

 

 trimethoprim – sulfamethoxazole

 

 doxycycline

 

 

นอกจากนี้ แพทย์ยังต้องหาโรคที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะอีกด้วย โดยเฉพาะในผู้ชาย เพื่อรักษาต้นเหตุ เช่น ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น ขณะที่มีอาการปัสสาวะขัด หรือ ปวดหน่วงให้ดื่มน้ำมากๆ ถ้าปวดมากให้ใช้ยาแก้ปวด และให้ใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น โคไตรม๊อกซาโซล 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง อะม็อกซีซิลลิน 500 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง หรือ นอร์ฟล็อกซาซิน 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน แต่หากไม่ดีขึ้น หรือเป็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ควรไปปรึกษาแพทย์ และถ้าจำเป็นอาจต้องใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (cystoscope) แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)