© 2017 Copyright - Haijai.com
กระชับท้องแขนหลังลดน้ำหนัก
มาเช็คความเป็นคุณสักหน่อย หากคุณเป็นคนให้ความสำคัญกับรูปร่าง มีความสุขที่เป็นเจ้าของหุ่นสวยสมส่วนอยู่เสมอ และเป็นคนหนึ่งที่อยากมีรูปร่างเฟิร์มจนใครๆ เลิกสนใจถามอายุ พยายามอย่างเต็มที่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและนิสัยการกินอาหาร ออกกำลังกายอย่างหนัก เพื่อต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง แม้น้ำหนักลด สัดส่วนลด แต่ต้นแขนหย่อนคล้อยเกินเยียวยา แหม่ มันน่าน้อยใจนัก ถ้าทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่คุณกำลังคิดอยู่แล้วล่ะก็ เราคงต้องหาวิธีอื่นเข้าช่วยซะแล้ว ซึ่งวิทยาการทางการแพทย์นับเป็นตัวช่วยที่เห็นผลชัดเจนมากที่สุด และวิธีการที่สามารถกระชับต้นแขนให้เล็กลงได้ คือ การทำศัลยกรรม Arm lift หรือ Brachioplasty นั่นเอง เพื่อลดผิวหนังส่วนเกินและไขมันระหว่างใต้วงแขนและข้อศอกให้ผิวบริเวณนั้นเรียบ กระชับ และได้รูปทรงมากขึ้น ทำให้ขนาดแขนเล็กลงตามไปด้วย วิธีการจะเป็นอย่างไรนั้นตามไปดูกันเลย
การยกกระชับแขน (Brachioplasty)
การยกกระชับแขนหรือที่เรียกว่า Brachioplasty เพื่อแก้ปัญหาผิวหย่อนยานจนเกินรับไหว โดยกำจัดเอาไขมันที่เป็นสาเหตุของท้องแขนเจ้าปัญหานี้ออกไปเสีย ผิวหย่อนยานนี้สาเหตุเกิดขึ้นจากากรที่น้ำหนักตัวลดมากๆ หรือการเสื่อมสภาพของผิวหนังตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น การผ่าตัดชนิดนี้ผลลัพธ์ที่ได้นับเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง ก่อนที่คุณจะตัดสินใจผ่าตัดเพื่อยกกระชับต้นแขน สิ่งที่ควรชั่งใจเสียก่อน คือ คุณสามารถยอมรับแผลเป็นที่อาจจะมองเห็นเวลายกแขน หรือเปลี่ยนอิริยาบถที่เกิดจากการผ่าตัด เพื่อแลกกับเรียวแขนที่สวยกระชับสัดส่วนได้หรือไม่ ปัญหาท้องแขนหย่อนหลายคนเข้าใจว่าเกิดจากไขมันเท่านั้น แต่ความจริงไม่ได้มีเพียงสาเหตุเดียว เพราะหลายคนที่ท้องแขนหย่อนก็ไม่ได้มีไขมันที่หนา แต่หนังกับกล้ามเนื้อต่างหากที่หย่อนลงมา ดังนั้น แพทย์จึงต้องวินิจฉัยปัญหาของคนไข้ให้ได้ว่า ท้องแขนที่หย่อนเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่
ขั้นตอนการผ่าตัดยกกระชับแขน
ขั้นตอนการผ่าตัด คือ แพทย์จะกรีดท้องแขนตั้งแต่ใต้รักแร้ลงไป จนถึงบริเวณข้อศอกเลาะเอาผิวหนังที่เหี่ยวๆ หย่อนๆ ออกเสียก่อน ลักษณะแผลผ่าตัดจะเป็นแนวยาว เนื่องจากต้องเลาะและยกผิวหนังขึ้นดึงให้ตึง ซึ่งการผ่าตัดจะมีการดูดไขมัน Lipoplasty ร่วมด้วย หลังจากนั้นจึงเย็บปิด การผ่าตัดกระชับต้นแขนนี้ มีวิธีการผ่าตัดใน 2 วิธี วิธีการแรก คือ ผ่าตามแนวยาวตั้งแต่บริเวณรักแร้ยาวไปถึงข้อศอก และวิธีการที่สอง คือ ผ่าตามแนวขวางบริเวณรักแร้ ซึ่งแผลจะอยู่ใกล้รักแร้ วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่มีผิวหนังหย่อนแต่ไม่มาก หรือคนไข้ที่รับไม่ได้กับการมีแผลเป็นแบบแนวยาว วิธีนี้ไม่สามารถตัดดึงผิวหนังได้มากนักในการผ่าตัดแต่ละครั้ง เพราะต้องจำกัดความยาวแผลตามความกว้างของต้นแขนคนไข้เท่านั้น หากหย่อนเพียงเล็กน้อย ผ่าตัดดึงครั้งเดียว คนไข้ก็อาจพอใจแล้ว แต่หากท้องแขนหย่อนมาก ต้องทำการผ่าตัดหลายครั้ง โดยรอให้แผลหายประมาณ 2-3 เดือน จึงจะสามารถทำการผ่าตัดซ้ำ ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าท้องแขนจะตึงเป็นที่พอใจ
แต่วิธีการผ่าตัดที่ได้รับความนิยมจะเป็นลักษณะแรก คือ ลงตามแนวยาวของต้นแขน ซึ่งแพทย์จะทากรผ่าตัดและเก็บรอยแผลให้ได้มากที่สุด แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดรอยแผลเป็นตามมาแน่นอน ความกังวลใจของคนไข้หลายคน คือ รอยแผลเป็นนั้นจะเห็นชัดมากแค่ไหน ฉะนั้น แพทย์ที่คุณเลือกเข้ารับการรักษาควรมีประสบการณ์สูง มีความชำนาญในการผ่าตัด และมีฝีมือในการเย็บแผลที่ดี แพทย์จะมีการเย็บแผลแบบสามเหลี่ยงขึ้นลง เพื่อให้เนื้อบริเวณนั้นสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติ และในการเย็บปิดบาดแผลของผิวหนังชั้นใน แพทย์จะใช้ไหมละลาย ซึ่งจะมีอายุการใช้งานอยู่ประมาณ 2-3 เดือน ในการทำหน้าที่คอยดึงเนื้อไว้ให้ขอบแผลชิดกัน และทำการเย็บปิดผิวชั้นนอก โดยให้ขอบแผลแนบชิดสนิทกันมากที่สุด และอยู่ในระดับเดียวกัน โดยส่วนของไหมที่เย็บด้านนอก ต้องรอให้ผิวหนังสมานตัวเองดีก่อนโดยประมาณ 4-7 วัน ถ้าแผลติดเรียบร้อยดีก็สามารถตัดไหมออกได้
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัด
ในช่วงสัปดาห์แรกหลังผ่าตัด ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เพิ่มความดันโลหิตของคุณ ซึ่งอาจทำให้เกิดเลือดออกที่แผลผ่าตัด อย่าขัดถูบริเวณแผลแรงมากเกินไป หรือเคลื่อนไหวมากเกินไปในช่วงเวลาการรักษา การเดินคือการออกกำลังกายที่ปลอดภัยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสัปดาห์แรก แม้ว่าต้นแขนของคุณจะยังรู้สึกเจ็บอยู่บ้างเล็กน้อย คุณก็ควรจะเดินออกกำลังกายบ้าง นับเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพื่อลดโอกาสการแข็งตัวของเลือด ภายใน 4 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่เน้นพื้นที่ของการผ่าตัด เวลานอนควรมีหมอนประมาณ 2-3 ใบอยู่ข้างตัว เพื่อหนุนประคองยกแขนขึ้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด ซึ่งสามารถช่วยลดอาการบวมอักเสบ ความตึงของแผล และเพิ่มความสะดวกสบายในระหว่างการฟื้นตัวได้มาก อาการบวมของแผลอาจต้องอาศัยเวลา 3-5 สัปดาห์เพื่อบรรเทา อาหารที่เป็นประโยชน์สำหรับคุณคือ ผัก ผลไม้ และอาหารที่มีโปรตีนสูง หลีกเลี่ยงเกลือโซเดียมและอาหารรสเค็มทุกชนิด เพราะเป็นสาเหตุของอาการบวม อาหารอ่อนจึงดีและเหมาะสมที่สุด งดเว้นการออกแรงยกของหนักทุกชนิด
ดูแลแผลป้องกันการเกิดแผลเป็น
หลังจากอาการและรอยแผลเริ่มดีขึ้นแล้ว หลายคนยังกังวลว่ารอยแผลจะเกิดเป็นคีลอยด์หรือไม่ แท้จริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่อาจคาดเดาได้ แม้บางรายจะดูแลเป็นอย่างดี แต่ก็สามารถเกิดคีลอยด์ขึ้นได้เช่นกัน เนื่องจากเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการ ทั้งเรื่องเทคนิคการเย็บของแพทย์ที่ต้องอาศัยความประณีต ลักษณะของผิวหนังของคนไข้ การดูแลรักษาหลังการผ่าตัด อาหารที่รับประทานระหว่างระยะเวลาการพักฟื้น การออกแรงหรือขยับแขน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดแผลเป็นที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้น คนไข้จึงจำเป็นต้องระมัดระวังในการขยับอวัยวะบริเวณที่มีแผลผ่าตัด เป็นพิเศษ เพื่อให้เนื้อติดกันดีจนแข็งแรงเสียก่อน
ทั้งนี้ โดยทั่วไปแพทย์จะนิยมใช้เทปบางชนิดที่มีความเหนียวมาปิดทับที่รอยแผลไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังบริเวณนั้นขยับเขยื้อนมากนัก และยังเป็นการสร้างแรงกดทับลงที่แผล เพื่อไม่ให้เกิดแผลเป็นนูนขึ้นมา โดยคนไข้ต้องใช้คามอดทนในการดูแลแผลเป็นพิเศษอย่างน้อย 2 เดือน ทั้งนี้ ตามธรรมชาติของผิวหนังมนุษย์เมื่อเกิดการบาดเจ็บจนเป็นแผล ประมาณ 2-3 เดือนแรก แผลเป็นจะมีลักษณะแข็ง หนา นูน ขรุขระ มีสีเข้ม แต่หลังจาก 3 เดือนไปแล้ว แผลเป็นจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง บริเวณที่แข็งก็จะนุ่มลง เรียบขึ้น สีจางลง โดยที่ไม่ต้องทายาใดๆ เป็นการพัฒนาแผลเป็นให้ดีขึ้นด้วยตัวเอง เรียกว่า Scar Maturation ซึ่งเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่ทุกๆ คนมีอยู่แล้ว แต่คุณภาพของแผลเป็นในที่สุด จะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การอักเสบเดิมมีมากหรือไม่ ลักษณะแผลนั้นแยกออกกว้างหรือแคบ ขนาดของแผล เป็นต้น โดยทั่วไปลักษณะผิวหนังของแต่ละบุคคลจะมีกระบวนการที่ทำให้แผลเป็นดีขึ้นได้เองตามธรรมชาติอยู่แล้ว
แม้ว่าวิทยาการทางการแพทย์จะมีส่วนช่วยให้เรามีรูปร่างที่สวยดั่งใจปรารถนาได้ แต่สิ่งที่ควรคำนึงมากที่สุดคือความปลอดภัย ก่อนตัดสินใจเข้ารับการศัลยกรรม ควรศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจเสียก่อน และหลังจากการเข้ารับการผ่าตัดแล้ว การเอาใจใส่ดูแลและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด จึงจำเป็นอย่างมาก อีกทั้งการดูแลน้ำหนักให้คงที่ มีพฤติกรรมการกินที่ถูกต้อง และหมั่นออกกำลังกายให้มีรูปร่างที่กระชับอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่ดีที่สุด การมีรูปร่างที่ดีบวกกับสุขภาพที่ดีนั้น ความมั่นใจก็มาเต็มๆ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)