Haijai.com


การพูดคุยและสัมผัสช่วยลดความเจ็บปวด


 
เปิดอ่าน 2321

การพูดคุยและสัมผัสจากพยาบาล ช่วยลดความเจ็บปวดจากการผ่าตัดได้ดีที่สุด

 

 

ลืมการฟังเพลงจากไอพอตและการดูหนังจากดีวีดีไปได้เลย เพราะกุญแจแห่งความผ่อนคลายในระหว่างการทำศัลยกรรมนั้น ควรจะเป็นอะไรที่เรียบง่ายอย่างการพูดคุยและการสัมผัสจากพยาบาล การมีพยาบาลคอยดูแล พูดคุย และสัมผัสผู้ป่วย เป็นวิธีระงับความรู้สึกที่ดีที่สุดได้อย่างไร? จากรายงานการศึกษาหนึ่งพบว่า “การพูดคุยและการสัมผัส” นั้น ช่วยลดความเครียดและบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ดีกว่าการฟังเพลงหรือดูหนังเสียอีก นักวิจัยจาก The University of Surrey กล่าวว่า การมีพยาบาลคอยพูดคุยกับผู้ป่วยในขณะที่จับมือพวกเขาไปด้วยนั้น เป็นวิธีที่สามารถทำได้ง่าย “ง่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย” ซึ่งทำให้มีการลดลงของค่าใช้จ่ายในการใช้ยาระงับความรู้สึก และย่นระยะเวลาในการดูแล นั่นหมายถึงการเพิ่มขึ้นของความสำเร็จในการดูแลรักษาคนไข้

 

 

ความรู้สึกมึนงงจากความเจ็บปวดในบริเวณแผลผ่าตัด ในขณะที่ผู้ป่วยยังคงตื่น อาจกลายเป็นการเพิ่มความกังวลมากขึ้น และมากขึ้น ตามที่ผู้ป่วยได้ยินศัลยแพทย์หารือเกี่ยวกับการดำเนินการรักษาของพวกเขา ผู้ป่วยหลายรายยังคงกลัวความเจ็บปวดจากการฉีดยาชาเฉพาะที่ เพื่อระงับความรู้สึก ความกลัวและความวิตกกังวลเหล่านี้นำไปสู่การปิดโอกาสในการรักษา จนกระทั่งพวกเขาตัดสินใจในเวลาทีสถานการณ์ย่ำแย่แล้ว ในกรณีอื่นๆ ความวิตกกังวลมากๆ ในระหว่างการผ่าตัดจะเป็นการชะลอการฟื้นตัวของผู้ป่วยได้ โดยปกติแล้วการผ่าตัดเส้นเลือดขอดจะทำการผ่าตัดภายใต้ยาชาเฉพาะที่ เช่นเดียวกับการผ่าตัดต้อกระจก ในขณะที่การผ่าตัดตาด้วยเลเซอร์ทำโดยไม่ต้องใช้ยาชา

 

 

การทดสอบเกี่ยวกับการลดความวิตกกังวลและความเจ็บปวดต่างๆ รวมทั้งการเอ็กซ์เรย์มดลูกและลำไส้ จะทำให้ขณะที่ผู้ป่วยยังคงตื่นอยู่ นักศึกษาปริญญาเอก ไบรโอนี ฮัดสัน ได้ทำการศึกษาในผู้ชายและผู้หญิงกว่า 400 คน ที่ได้รับการผ่าตัดเส้นเลือดขอด ผู้ป่วยถูกแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มแรกฟังเพลง กลุ่มที่สองดูภาพยนตร์ และกลุ่มที่สามบำบัด (The stress balls) กลุ่มที่สี่พูดคุยกับพยาบาล ในขณะที่กลุ่มสุดท้ายไม่มีการรบกวนใดๆ ทันทีที่การทดสอบเสร็จสิ้น ผู้ป่วยได้รับคำถามถึงการปลดเปลื้องความวิตกกังวล และความเจ็บที่ได้รับจากการดูภาพยนตร์ การใช้ The stress balls และการพูดคุยกับพยาบาล ว่าเป็นอย่างไร คำตอบก็คือมีเพียง The stress balls และการสนทนาเท่านั้น ที่ช่วยลดความวิตกกังวลและความเจ็บปวดลง

 

 

จากการรายงานของ The European Journal of Pain พบว่าการพูดคุยกับพยาบาลช่วยลดความวิตกกังวลได้ร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับการไม่มีสิ่งรบกวนที่ช่วยลดความเจ็บปวดลงได้ร้อยละ 16 การใช้ The stress balls ช่วยลดความวิตกกังวลได้ร้อยละ 18 และลดความเจ็บปวดได้ร้อยละ 22 น่าแปลกที่การฟังเพลงไม่ได้ช่วยอะไรเลย นักวิจัยไม่แน่ใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ แต่เหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ผู้ป่วยเลือกเพลงที่พวกเขารู้จักดี ดังนั้น จึงไม่ได้อยู่ในระดับจำเป็นที่จะช่วยลดความกังวลของคนไข้ลงได้ นักวิจัย เจน อ็อกเดน กล่าวว่า ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการสนทนาและการสัมผัสนั้น มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ในระหว่างการศึกษา ซึ่งจะมีการรายงานในวารสาร The European Journal of Pain พยาบาลได้รับคำสั่งให้พูดคุยกับผู้ป่วย แต่ไม่ได้สัมผัสพวกเขาแต่อย่างใด

 

 

อย่างไรก็ตาม การที่พยาบาลจับมือผู้ป่วยเอาไว้ในระหว่างการพูดคุย อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความสงบและผ่อนคลายมากกว่าการสนทนาเพียงอย่างเดียว ศาสตราจารย์อ็อกเดนกล่าวว่า “ฉันรู้สึกผ่อนคลายเมื่อได้มีปฏิสัมพันธ์กับพยาบาล เพราะเป็นอะไรที่ตรงไปตรงมา เหมือนกับว่าคุณจะสามารถตอบได้ทันที เมื่อมีคนมาถามว่าคุณจะทำอะไรในช่วงสุดสัปดาห์นี้ หรือวันหยุดนี้คุณจะไปที่ไหน นี่เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมาก ในการจัดการกับความเจ็บปวด” และนอกจากพยาบาลแล้ว คนใกล้ชิดที่คอยดูแลและให้กำลังใจนั้น ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กันนะคะ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)