© 2017 Copyright - Haijai.com
ประจำเดือนขอคุณปกติดีไหม
ประจำเดือน เรื่องใกล้ตัวของสาวๆ ทุกคน ขึ้นชื่อว่าเป็น ผู้หญิง ทุกคนย่อมมีประจำเดือน แต่ใช่ว่าการมาถึงของประจำเดือนแต่ละคน จะเหมือนกันเสมอไป บางคนอาจมาช้าหรือมาเร็ว บางคนผ่านวัยสาวมาเนิ่นนาน ประจำเดือนหลับเพิ่งมา ซึ่งอาจไม่ได้แปลว่า คุณมีอะไรผิดปกติเสมอไป ส่วนประจำเดือนแบบไหนที่เรียกว่า ผิดปกติ นั้น ลองมาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
ประจำเดือนครั้งแรกควรมาเมื่อไหร่
ผู้หญิงจะเริ่มเข้าสู่วัยสาว เมื่ออายุประมาณ 13 ปี โดยเฉลี่ยจะเริ่มต้นตั้งแต่ 10 ปี โดยเฉลี่ยจะเริ่มต้นตั้งแต่ 10 ปี โดยจะเริ่มมีตุ่มนมขึ้นเป็นอันดับแรก สามารถจับเป็นก้อนแข็งๆ เป็นไตขึ้นมา เป็นก้อนขนาดเล็กที่เต้านม เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า เริ่มเข้าสู่วัยสาวแล้ว หลังจากนั้นจะเริ่มมีขนในที่ลับตามมา ส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่มีตุ่มนมขึ้น โดยประจำเดือนครั้งแรกจะเกิดขึ้นหลังจากมีตุ่มนมขึ้นประมาณ 3 ปี เฉลี่ยแล้ว เมื่ออายุ 11-13 ปี หลังจากประจำเดือนครั้งแรกประมาณ 3 ปี ผู้หญิงจะหยุดการเจริญเติบโต หรือหยุดสูง
การที่ผู้หญิงเราจะมีประจำเดือนได้นั้น ต้องมีการสร้างผนังมดลูกให้หนาขึ้น เพื่อรองรับตัวอ่อน และเมื่อไข่ตกลงมา หากมีสเปิร์มมาผสมกัน จะเป็นการกระตุ้นให้ไข่สร้างฮอร์โมน เพื่อทำให้ผนังมดลูกในส่วนดังกล่าวไม่ลอกและคงอยู่ต่อไป จนตัวอ่อนสามารถฝังตัวได้ แต่ว่าเมื่อไหร่ที่ไม่มีการปฏิสนธิ ไข่ก็จะไม่สร้างฮอร์โมน และเมื่อผนังมดลูกไม่มีตัวมากระตุ้นหรือหล่อเลี้ยง ก็จะหลุดลอกออกมากลายเป็นประจำเดือน
ประจำเดือนปกติเป็นแบบไหน
1.ลักษณะเฉพาะของรอบเดือนปกติจะ 28 วัน บวกลบ 7 วัน คือ มีได้ตั้งแต่ช่วงวันที่ 21-35 หลังจากวันแรกของการมีประจำเดือน ซึ่งเป็นวันแรกที่มีเลือดออก นับเป็นวันที่ 1 และนับไปชนกับวันแรกของวันที่มีรอบประจำเดือนถัดไป จะนับเป็น 1 รอบของการมีประจำเดือน หากอยู่ในช่วง 21-35 วัน จึงนับว่าปกติ แต่ถ้าใครอยู่ที่ 17-35 วัน ถือว่าผิดปกติ
2.ปกติแล้ว ช่วงเวลามีประจำเดือนจะอยู่ที่ 4-6 วัน
3.ปริมาณของประจำเดือนจะอยู่ที่ 20-60 ซีซี
ประจำเดือนครั้งแรกมาเร็วก่อวัยหรือมาช้า เกิดจากอะไร
1.เมื่อประจำเดือนมาก่อนวัย
จากที่กล่าวมาจะพบว่า ช่วงอายุเฉลี่ยของการมีประจำเดือนครั้งแรก จะอยู่ที่อายุ 11-13 ปี แต่ปัจจุบันกลับพบว่า เด็กมีประจำเดือนครั้งแรกเร็วก่อนวัย ซึ่งปัจจุบันที่ทำให้เด็กมีประจำเดือนเร็วกว่าปกติ ได้แก่ พันธุกรรม เชื้อชาติ ความอ้วนผอม และภาวะโภชนาการของเด็ก ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญ เพราะเด็กยุคนี้มีโอกาสได้รับอาหารจำพวกของทอดของมัน เนื้อสัตว์ที่ผ่านการกระตุ้นการเจริญเติบโตด้วยฮอร์โมน ซึ่งเป็นตัวแปรตัวหนึ่งที่ทำให้เด็กมีประจำเดือนเร็วขึ้น จากสถิติพบว่า เด็กอายุ 8 ขวบก็สามารถมีประจำเดือนได้ แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้งว่า เกิดจากภาวะของโรคที่เป็นความผิดปกติทางสมอง เนื่องจากต่อมใต้สมองหรือฮอร์โมนผิดปกติหรือไม่ ซึ่งเด็กที่มีประจำเดือนเร็ว เพราะโรคนั้นจะมีพัฒนาการเหมือนคนทั่วไป เพียงแต่ประจำเดือนมาเร็วเท่านั้นเอง แต่ถ้าเกิดจากภาวะโภชนาการพัฒนาการต่างๆ ก็จะปกติ เริ่มมีตุ่มนม เหมือนสัญญาณวัยสาว เพียงแต่อายุน้อยกว่า
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้น หากมีประจำเดือนก่อนวัย จากงานวิจัยพบว่า มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้น เพราะว่าเด็กได้รับฮอร์โมน เอสโตรเจนเร็วและนาน จะมีโอกาสให้เกิดความผิดปกติที่เต้านมมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นมะเร็งเต้านมเร็ว และอาจนำมาซึ่งภาวะหมดประจำเดือนเร็ว ตามมาด้วยโรคกระดูกพรุน ความเสื่อมต่างๆ จะมาหาเราเร็วขึ้น และต้องระวังเรื่องเตี้ย เพราะร่างกายจะหยุดการเจริญเติบโตภายใน 3 ปี
หากพบว่าบุตรหลานมีภาวะดังกล่าวควรมาพบแพทย์ เพื่อติดตามและป้องกันความเสี่ยงด้านต่างๆ ให้ทันท่วงที เช่น การทานยา เพื่อลดปัญหาเรื่องเตี้ย และสุดท้ายก็คือ ความเครียดของเด็ก เพราะอาจโดนเพื่อนล้อว่าทำไมอายุ 8-9 ปี มีประจำเดือน มีหน้าอกหรือขนในที่ลับแล้ว ซึ่งทำให้เด็กเครียด หรือวิตกกังวล และเสี่ยงที่จะได้รับการลวนลามหรือล่อลวงทางเพศได้ง่ายขึ้น เพราะสภาพจิตใจ ความคิด และอารมณ์ที่เป็นเด็กอยู่
2.ประจำเดือนมาช้าเกินเกณฑ์
ในส่วนของวัยรุ่นที่อายุถึงเกณฑ์แล้ว แต่ประจำเดือนไม่มา เรียกว่าประจำเดือนมาช้านั้น เช่น อายุ 15 ปีแล้ว ประจำเดือนยังไม่มา ต้องแยกด้วยว่าเกิดจากอะไร เช่นเดียวกับการที่ประจำเดือนมาเร็วก่อนวัย คือ เป็นโรคที่เกี่ยวกับต่อมใต้สมองหรือฮอร์โมน ถ้าไม่เป็นโรค เกิดจากประจำเดือนมาช้าเอง อาจจะเป็นปัญหาที่รังไข่ผิดปกติ ซึ่งหมายถึงอาจเริ่มเป็นโรคแล้วและควรได้รับการรักษา
นอกจากนี้อีกหนึ่งสาเหตุที่พบได้ในกรณีที่ประจำเดือนไม่มาเมื่อถึงเกณฑ์ คือ ภาวะร่างกายที่ผิดปกติ เช่น จะมีโรคบางโรคที่เรียกว่าเยื่อพรหมจารีไม่เปิด ทำให้เลือดประจำเดือนไม่สามารถออกมาได้ ซึ่งก็สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
• ภายนอกร่างกายปกติ มีมดลูก มีรังไข่
• ภายนอกร่างกายปกติ แต่ภายในไม่มีมดลูก ไม่มีรังไข่
ทั้ง 2 ประเภทนั้น ต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อค้นหาสาเหตุ อาทิ ตรวจเลือด ตรวจอัลตร้าซาวด์ว่าระบบภายในของผู้หญิงปกติหรือไม่มี มีมดลูกหรือรังไข่ไหม เพราะเวลาที่คนจะมีประจำเดือน จะต้องมีรังไข่ มดลูก และทางออกของประจำเดือน ถ้าเรามีรังไข่ มีมดลูก แต่ไม่มีทางออกของประจำเดือน ก็จะไม่มีประจำเดือนอยู่ดี ซึ่งจะรู้ว่าจัดอยู่ประเภทใดนั้น ต้องให้แพทย์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด แทนที่จะเข้าใจผิดๆ พอเห็นว่าประจำเดือนไม่มา และรับประทานยาคุมเพื่อเร่งฮอร์โมนทันที ซึ่งเป็นวิธีการที่ผิด
ประจำเดือนมาตามวัย แต่นานๆ มาครั้ง
เป็นอีกปัญหาที่ผู้หญิงไทยพบเจอ โดยระยะห่างของประจำเดือนที่ไม่สม่ำเสมอจะเกิดขึ้นได้ในช่วง 2 ปีแรก หลังจากที่มีประจำเดือนครั้งแรก และจะเริ่มไม่สม่ำเสมออีกครั้งในช่วง 3 ปีสุดท้าย แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในช่วงดังกล่าว แต่ประจำเดือนกลับมาไม่สม่ำเสมอ มา 3-6 เดือนครั้ง ต้องตรวจร่างกายแล้วว่ามีอะไรที่ผิดปกติไป คล้ายกับกรณีของประจำเดือนมาช้ากว่าเกณฑ์ แต่ที่น่ากังวลกว่านั้นคือ อาการของประจำเดือนที่นานๆ มาครั้ง มักมาพร้อมกับโรคยอดฮิตที่เรียกโรคถุงน้ำในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome) ซึ่งพบได้มากในผู้ที่มีน้ำหนักมาก แต่ปัจจุบันพบว่า คนผอมก็พบได้ ซึ่งแพทย์ก็จะทำการตรวจสอบประวัติ ตรวจเช็คฮอร์โมน ซึ่งเป็นความผิดปกติของรังไข่ ทำให้ไม่สามารถตกไข่ได้ทุกเดือน ทำให้ประจำเดือนมาทุกเดือน ถ้าเดือนไหนโชคดีถึงจะมีประจำเดือน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มักจะมาพบแพทย์ในเรื่องของปวดท้อง มีบุตรยาก เลือดออกกระปริดกระปรอยระหว่างมีรอบเดือน หรือประจำเดือนไม่มา 5-6 เดือนเลย ซึ่งพบในวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20-45 ปี
“จดบันทึกประจำเดือน” เช็คสัญญาณผิดปกติของประจำเดือนง่ายขึ้น
นอกจากปัญหาประจำเดือนมาเร็วก่อนวัย มาช้าเกินเกณฑ์ มาไม่สม่ำเสมอแล้ว ยังมีอีกปัญหาที่สาวๆ มักมีคำถามในใจ ซึ่งอาจจะน่ากังวล หรือไม่น่ากังวลก็ได้ ซึ่งสามารถสังเกตได้ด้วยตัวเองเบื้องต้น เริ่มจากการจดบันทึกข้อมูลการมีประจำเดือนของตัวเอง เช่น กากบาทวันแรกที่มีประจำเดือนในทุกรอบเดือน เพื่อคำนวณถึงช่วงเวลาที่จะมีประจำเดือนรอบถัดไป จะได้เตรียมตัวรับมือกับอาการปวดท้อง ภาวะเครียดหรือซึมเศร้า จดบันทึกปริมาณของประจำเดือนว่า ในแต่ละวันใช้ผ้าอนามัยกี่ผืน บันทึกเรื่องสีของประจำเดือน เมื่อเกิดข้อมูลที่ผิดปกติ จะได้นำบันทึกในส่วนนี้ไปปรึกษาแพทย์ และรักษาได้ถูกต้องมากที่สุด
การดูแลสุขภาพในช่วงมีประจำเดือน
ช่วงที่มีประจำเดือน เป็นช่วงที่มีฮอร์โมนต่ำที่สุด อาจจะมีการหดหู่ง่าย เครียดง่ายกว่าปกติ มีสิวตามใบหน้าหรือตามหลัง ดูแลความสะอาดทั่วไป จำกัดการบริโภคเกลือ น้ำตาล คาเฟอีน แล้วก็แอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้บวมมากยิ่งขึ้น คนไหนที่มีอาการปวดท้องระคายช่องคลอด อ่อนเพลีย คัดตึงเต้านม อาจจะเป็นในกลุ่มของอาการปวดเกร็งผิดปกติของมดลูก (Premenstrual Syndrome หรือ PMS) ซึ่งต้องเตรียมยา หรือเตรียมตัวให้พร้อมก่อนมีประจำเดือน หากปวดท้องมากกว่าปกติ ควรปรึกษาแพทย์ เพราะไม่ควรปวดหนักจนต้องหยุดงานหรือหยุดเรียน
นอกจากนี้ในกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคโลหิตจาง เมื่อมีประจำเดือนควรดูแลเป็นพิเศษ ต้องทานยาบำรุง เพราะคุณหมอก็จะตรวจมากกว่าปกติ ดูว่ามีเนื้องอกหรืออาการอะไรที่ผิดปกติไหม มีความเสี่ยงอะไรไหม ที่ทำให้ประจำเดือนมามาก หรือมานานกว่าปกติ ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องเป็นห่วง ถ้ามีก็ต้องรักษา เพื่อไม่ให้มีภาวะเลือดออกมากเกินไป เพราะจะทำให้ยิ่งซีด หากเป็นเนื้องอก เมื่ออายุ 40 ปี หรือมีบุตรครบแล้ว แพทย์ก็จะแนะนำให้ตัดมดลูกออก จะได้ไม่ต้องเสียเลือดประจำเดือน
แพทย์หญิงสินีพร กสิวัฒน์
แพทย์เฉพาะทางสูติ-นรีเวช
โรงพยาบาลวิภาราม
(Some images used under license from Shutterstock.com.)