© 2017 Copyright - Haijai.com
เพิ่มพลังหัวใจให้พองโตด้วย ดนตรีบำบัด
เคยไหมฟังเพลงที่ชอบทีไรเกิดอาการอินทุกที บางครั้งเสียงเพลงก็ทำให้เรามีกำลังใจกระตุ้นให้กระตือรือร้น ปลุกใจให้อึกเหิม ทำเสร้าจนน้ำตาซึม หรือแม้แต่เพิ่มความอดทนในการออกกำลังกายได้ นั่นก็เพราะดนตรีมีผลต่ออารมณ์ พฤติกรรม และสุขภาพได้นั่นเอง ปัจจุบันจึงเกิดศาสตร์หนึ่งที่เรียกว่า “ดนตรีบำบัด” ขึ้น บำบัดโรคทางใจได้
จุดเริ่มต้นของการบำบัดด้วยเสียงเพลง
ใครจะรู้ว่าจริงๆ แล้วดนตรีบำบัดมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์เลยทีเดียว ตั้งแต่มีความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาว่าสามารถรักษาโรคได้ โดยสมัยก่อนเชื่อกันว่า หากเล่นดนตรีแล้วจะสามารถติดต่อกับพระเจ้าได้ เล่นดนตรีเพื่อเรียกพระเจ้ามารักษาโรค
ต่อมาถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 มีการอ้างอิงจากวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยมีกลุ่มนักดนตรีรวมตัวกัน หลังจากนั้นได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี ทางโรงพยาบาลจึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในเรื่องนี้ จึงได้มีการว่าจ้างนักดนตรีมาเล่นดนตรี โดยมีข้อแม้ว่าต้องได้รับการฝึกจากทางโรงพยาบาลด้วย
ในปี ค.ศ.1944 ได้ก่อตั้งโรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนสาขาดนตรีบำบัด ซึ่งนับเป็นโรงเรียนแห่งแรกของโลกอีกด้วย ในรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา และหลังจากนั้นก็มีงานวิจัยเรื่องนี้เรื่อยมา
ใครบ้างที่เหมาะกับดนตรีบำบัด
ดนตรีบำบัด สามารถบำบัดได้ทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ และปัจจุบันมีการใช้ดนตรีบำบัดในทหารผ่านศึก ในกองทหารหรือกองทัพด้วย โดยปัจจุบัน ดนตรีบำบัดมักใช้ในการบำบัดผู้ป่วยดังนี้
• ผู้ป่วยอัลไซเมอร์
• ผู้ป่วยสมองเสื่อม (สูญเสียความทรงจำ)
• เด็กที่มีปัญหาความบกพร่องเกี่ยวกับการเรียนรู้ “โรคแอลดี” (Learning Disabilities)
• คนที่มีปัญหาเรื่องอาการบาดเจ็บทางสมอง
• ผู้ใช้สารเสพติด
• มีสุขภาพทางจิตไม่ดี
• เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า
• ผู้ที่มีความเครียด ความวิตกกังวล และซึมเศร้า
• ผู้ที่ไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่เคารพตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง แยกตัวจากสังคม
• ผู้ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
เมื่อมาเข้ารับการตรวจกับแพทย์ แพทย์จะเช็คประเมินเบื้องต้น เช่น ความชอบทางดนตรี ชอบดนตรีหรือมีประสบการณ์ดีๆ กับดนตรีหรือไม่ หากผู้ป่วยชอบดนตรีแพทย์ก็จะส่งต่อให้ทางนักดนตรีบำบัดอื่นๆ นักดนตรีบำบัดก็จะเช็คอีกครั้งหนึ่งว่า ชอบฟังเพลงอะไร และไม่ชองฟังเพลงอะไร เช่น เด็กส่วนใหญ่ไม่ชอบฟังเสียงที่สูงมากๆ นักบำบัดก็จะไม่ให้ฟังหรือเล่นเครื่องดนตรีที่มีเสียงสูง เด็กบางคนกลัวเสียงเอฟเฟคอย่าง ฟ้าร้อง เป็นต้น
ส่วนดนตรีที่ใช้บำบัดก็แล้วแต่กลุ่มอายุ เช่น เด็ก วัยรุ่น ผู้สูงอายุ ก็จะฟังเพลงตามวัยที่เหมาะสม และความชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ขั้นตอนของการบำบัดด้วยดนตรีมีอะไรบ้าง
ความถี่ของการบำบัดจะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย โดยปกติจะมารับการบำบัดสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง แต่หากมีความเครียดสูง อาจต้องมาสัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่หากเป็นเด็กสมาธิสั้นจะมาสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 30 นาที โดยการบำบัดจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การฟัง และการเล่น โดยการบำบัดนั้นๆ จะแบ่งเป็น 3 อย่าง ภายใน 1 ชั่วโมง ดังนี้
1.การวอร์มอัพ สร้างความคุ้นเคยเตรียมความพร้อม ประเมินสถานการณ์ต่างๆ เช่น วันนั้นๆ เด็กทำอะไรมาบ้างหรือรู้สึกอะไรมา
2.กิจกรรมหลัก จะเชื่อมโยงกับวอร์มอัพ คือ หากวันนี้เด็กทะเลาะกับผู้ปกครองมากิจกรรมหลักจะต้องทำอย่างไร ให้ระบายอารมณ์และยอมรับและเข้าใจพ่อแม่และตัวเองมากขึ้น
3.สรุป เมื่อใกล้หมดชั่วโมงจะมาวิเคราะห์ว่าได้อะไรไปบ้าง
โดยกิจกรรมก็มีตั้งแต่
• วิเคราะห์เนื้อเพลง เหมาะสำหรับวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่
• การเล่นเครื่องดนตรี สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ทางด้านดนตรีมาก่อน สำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ด้านดนตรี ก็จะเลือกให้เล่นเครื่องเคาะง่ายๆ
• การเล่นกลองเป็นกลุ่ม เป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยตื่นตัว บำบัดอาการซึมเศร้า
• การฟังเพลง
• การร้องเพลง
• การเคลื่อนไหวร่างกาย
การใช้ดนตรีบำบัดจะมีอาการดีขึ้นเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับคนไข้และระยะเริ่มอาการ หากมาเริ่มบำบัดตั้งแต่แรกๆ อาการจะดีขึ้นได้เร็ว ถ้าคนที่เป็นหนักมาแล้วก็อาจจะต้องเจาะลึกมากกว่า ต้องใช้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์ ใช้เวลาให้เขาคุ้นเคยกับสิ่งที่นักบำบัดทำมากขึ้น เวลาคือสิ่งที่เขาต้องการ
ข้อจำกัด
1.เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เราไม่สามารถรักษาผู้ป่วยแทนหมอหรือนักบำบัดได้
2.ผู้ที่มาบำบัดต้องยอมรับดนตรีได้ระดับหนึ่ง ไม่ต่อต้านเสียงดนตรี
3.ไม่สามารถบำบัดผู้ป่วยที่เจ็บป่วยทางร่างกายได้
มีงานวิจัยเกี่ยวกับผู้ป่วยที่อาการโคม่าด้วยว่า เมื่ออยู่ในห้องไอซียูให้เราเล่นดนตรีที่เขาชอบให้เขาฟัง จะทำให้เขามีกำลังใจและอาการจะดีขึ้นได้
คุณสดุดี อภิสุทธิพร
นักดนตรีบำบัด
โรงพยาบาลมนารมย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)