© 2017 Copyright - Haijai.com
รู้เท่าทันโรคอหิวาต์เทียม
จากกระแสข่าวครึกโครมเกี่ยวกับการพบ เชื้ออหิวาต์เทียม ที่ปนเปื้อนมาในเลือดไก่ในข้าวมันไก่นั้น ทำให้หลายคนวิตกกังวลและตื่นตระหนกมากจนไม่กล้ารับประทานข้าวมันไก่ ทำให้หลายร้านค้าได้รับผลกระทบอยู่ไม่น้อย แต่จริงเท็จเพียงใด
เชื้ออหิวาต์เทียม (Vibrio Parahaemolyticus)
เป็นแบคทีเรียแกรมลบรูปแท่ง อยู่ในตระกูลเดียวกับอหิวาตกโรค แต่เป็นคนละสายพันธุ์ ชอบอาศัยอยู่ในน้ำทะเลและน้ำกร่อยพบได้ในกุ้ง หอย ปู ปลาและปูหลายชนิด การพบเชื้อนี้ในเลือดไก่ จึงถือเป็นครั้งแรของโลก จึงสร้างความฉงนให้วงการแพทย์มากทีเดียว และต้องตรวจสอบต่อไปว่า เชื้ออหิวาต์เทียมไปปนเปื้อนในเลือดไก่ได้อย่างไร คาดว่าต้นตอการปนเปื้อนมาจากโรงงานเชือดไก่ในพื้นที่ที่ระบาด
รายงานจากประเทศญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน อินเดีย และหลายประเทศทางเอเชียพบว่า โรคอาหารเป็นพิษมีสาเหตุจากเชื้อ V.parahaemolyticus ได้บ่อย การติดเชื้อส่วนมากเกิดจากการรับประทานอาหารทะเลดิบหรือไม่ได้ปรุงสุก มีส่วนน้อยที่ได้รับเชื้อเข้าทางบาดแผลเมื่อลงน้ำทะเล ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อทางผิวหนังร้อยละ 34 นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อในกระแสโลหิต ร้อยละ 5 เมื่อคนรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อนี้เข้าไป จะทำให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ คลื่นไส้อาเจียน มีไข้หนาวสั่น มักพบอาการปวดบริเวณลำตัวร่วมด้วย โดยทั่วไปจะแสดงอาการภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากได้รับเชื้อ และหายได้เองภายใน 3 วัน โดยไม่ต้องรักษา บางรายอาจเกิดอาการเฉียบพลันและรุนแรงจนเกิดภาวะช็อก อัตราเสียชีวิตน้อยกว่า 1 ต่อ 1,000
เมื่อท้องเสีย ควรดูแลตัวเองอย่างไร
1.รับประทานเกลือแร่ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ และรับประทานอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊กหรือแกงจืด เป็นต้น แต่ถ้าใน 1-2 วัน อาการไม่ดีขึ้นควรรีบมาพบแพทย์ทันที
2.ไม่ควรซื้อยาหยุดถ่ายมาทานเอง เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายได้ ควรมาโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจดูอาการ และสั่งยาที่เหมาะสมกับอาการ
อาหารถูกสุขลักษณะ ป้องกันเชื้ออหิวาต์เทียม
1.ควรรับประทานอาหารทะเลที่ทำให้สุกและยังร้อนๆ อยู่
2.สำหรับผู้ที่ชอบรับประทานข้าวมันไก่ ยังสามารถรับประทานได้ตามปกติ เลี่ยงการทาข้าวมันไก่บรรจุกล่อง เลือดไก่ไม่ควรรับประทาน หรือถ้าอยากรับประทานจริงๆ ควรต้มให้สุกก่อน ด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 75 องศาเซลเซียส ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 15 นาที ซึ่งสามารถฆ่าเชื้ออหิวาต์เทียมได้ 100% ส่วนผู้ประกอบการร้านค้า ก่อนนำเลือดไก่ออกมาจำหน่าย หรือเสิร์ฟให้ลูกค้ารับประทาน ก็ควรเอาปรุงสุกอีกครั้งก่อนจำหน่าย เพราะส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า เลือดไก่ที่ขายตามท้องตลาดนั้นสุกอยู่แล้ว จึงไม่นิยมนำมาต้มซ้ำอีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด เพราะเลือดไก่จะไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคที่ถูกวิธี ดังนั้น ควรต้มก่อนจำหน่ายอีกครั้ง ควรแยกอาหารสุกและดิบออกจากกัน รวมทั้งแยกอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร เช่น แยกเขียงและมีดสำหรับหั่นเลือดไก่ และเนื้อไก่ออกจากกัน หากมือเป็นแผลก็ไม่ควรมาสับไก่ขาย ไม่ทิ้งวัตถุดิบให้ค้างมื้อ และควรสวมถุงมือพลาสติกทุกครั้งที่สับไก่ สำหรับเสิร์ฟให้แก่ลูกค้า
แนะนำว่า “การทานร้อน ช้องกลาง ล้างมือ” ยังคงสำคัญ หากปรุงอาหารสุกแล้ว แต่ยังไม่รับประทานทันที ควรมีฝาชีครอบและนำมาทำให้ร้อนอีกครั้ง ก่อนจะรับประทาน ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยจากโรคอาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง และอหิวาตกโรคได้
แพทย์หญิงอุษณีย์ รัตนทรงชัย
อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลปิยะเวท
(Some images used under license from Shutterstock.com.)