© 2017 Copyright - Haijai.com
ใครทำงานกะดึกยกมือขึ้น
คนปกติแค่ทำโอทีดึกๆ นี่ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพอยู่แล้ว แต่คนที่ทำงานกะดึกนี่สิจะเป็นอย่าง กลางคืนตื่น กลางวันนอน เผลอๆ ก็สลับโซนเวลาไปมาอีกด้วย ในเมื่อนาฬิกาชีวิตส่งผลถึงสุขภาพได้ การทำงานกะดึกก็คงจะส่งผลเสียให้ไม่น้อย แต่จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันดีกว่า
สุขภาพกับการนอน
การนอนหลับมีผลต่อสุขภาพของเรา ตั้งแต่ระบบทำงานของร่างกาย ระบบฮอร์โมน ผิวพรรณ ระบบการย่อยอาหารและระบบความต้องการอาหารจะลดลง ความเครียด คนที่พักผ่อนไม่พอก็จะหงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน เครียดง่ายขึ้น และส่งผลต่อนาฬิกาชีวิตของเราด้วย
ให้ลองสังเกตว่าทำไมเด็กๆ จึงนอนเยอะ ก็เพราะเด็กต้องการการเจริญเติบโตนั่นเอง ตั้งแต่แรกเกิดจะใช้เวลานอนประมาณ 15 ชั่วโมง เวลานอนก็จะน้อยลดหลั่นลงมาตามอายุที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเด็กจนถึงวัยรุ่น ก็ไม่ควรนอนต่ำกว่า 8 ชั่วโมง ส่วนในผู้ใหญ่ควรนอนประมาณ 7-8 ชั่วโมง ใครที่รู้สึกว่านอนน้อยกว่า 8 ชั่วโมง ก็รู้สึกนอนเต็มอิ่มแล้ว แต่ก็จะมีผลเรื่องฮอร์โมนที่ทำให้หลั่งได้ไม่ดีด้วย
แค่ไหนที่เรียกว่านอนเต็มอิ่ม
1.ลืมตาตื่นมาแล้วสดชื่น ไม่อยากนอนต่อ
2.ไม่ง่วงนอนเวลากลางวัน
3.เมื่อตื่นนอนแล้วไม่มีอาการเพลีย มึนศีรษะ
นอนกลางวัน ชดเชยเวลากลางคืนได้ไหม
ถ้าถามว่าจะนอนชดเชยกันได้ไหม จริงๆ แล้ว ก็คงจะยากที่จะชดเชยนาฬิกาชีวิตได้ ร่างกายเราไม่ได้เหมือนคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องจักรขนาดนั้น คงต้องใช้เลาปรับตัวค่อนข้างมากทีเดียว การนอนเวลากลางวันทำให้หลับได้ไม่สนิทนัก เนื่องจากการจะนอนหลับได้สนิทนั้น ต้องอยู่ที่สภาพแวดล้อม ไม่มีแสงไฟ ไม่มีเสียงดังรบกวน หากเราเปลี่ยนมานอนเวลากลางวัน ซึ่งเป็นเวลาที่คนส่วนใหญ่ตื่นกัน ก็ทำให้เราหลับไม่สนิทได้
โดยเฉพาะกับการเปลี่ยนกะทุกสัปดาห์ แน่นอนว่าร่างกายไม่สามารถปรับได้ทัน การปรับตัวจึงต้องทิ้งช่วงอย่างน้อยหนึ่งเดือน
10 ความเสี่ยงของคนทำงานกะดึก
1.เสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย เนื่องจากภูมิต้านทานลดลง
2.เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง เนื่องจากเวลาเรานอนน้อยลง หรือนอนไม่เพียงพอ ร่างกายจะสร้างเม็ดเลือดขาวออกมามากขึ้น เป็นปัจจัยให้ติดเชื้อได้ง่าย ร่างกายก็จะสร้างภูมิต้านทานออกมามากกว่าปกติ ทำให้อาจไปตอบสนองต่อเซลล์บางตัวให้เจริญขึ้นอย่างผิดปกติ
3.เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ การนอนในเวลากลางวันทำให้หลับได้ไม่เต็มที่ ทำให้หัวใจไม่ได้พัก หัวใจต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา
4.ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ
5.รอบเดือนผิดปกติ เนื่องจากโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) จะหลั่งออกมาในเวลากลางคืน ช่วยเรื่องของการชะลอวัยและยังสัมพันธ์ต่อฮอร์โมนเพศ ทำให้ฮฮร์โมนผิดปกติ ประจำเดือนก็ผิดปกติตามมา
6.ผิวพรรณเสื่อมโทรม เนื่องจากมีการสร้างสารเมลานินลดลง
7.ฮอร์โมนที่ควบคุมความต้องการอาหารลดลง
8.เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน มีการหลั่งของฮอร์โมนคอลติซอล ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น อินซูลินจึงสร้างมากกว่าปกติ จนวันหนึ่งร่างกายรับไม่ไหวแล้วหยุดสร้างอินซูลิน ก็ทำให้กลายเป็นเบาหวานในที่สุด
9.เสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า นอกจากเรื่องฮอร์โมนแล้วยังเป็นเรื่องของการเข้าสังคมด้วย เนื่องจากคนทั่วไปทำงานตอนเช้า นอนตอนกลางคืน อาจไม่ได้มีการพูดคุยและเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
10.ระบบเผาผลาญผิดปกติ ฮอร์โมนแลปตินที่คอยควบคุมความต้องการทานอาหารลดน้อยลง ทำให้เราอยากทานอาหารเพิ่มมากขึ้น เมื่อทานเยอะก็ทำให้เป็นโรคอ้วนแล้วพ่วงมาด้วยโรคเบาหวาน ความดัน และโรคหัวใจในที่สุด
จำเป็นต้องเข้ากะดึกอย่างเลี่ยงไม่ได้
1.พยายามปรับตัว ฝึกเรื่องการนอน ทำบรรยากาศในห้องให้เหมือนกลางคืนมากที่สุด ทั้งความเงียบและความมืด เนื่องจากแสงแดดมีผลต่อนาฬิกาชีวิตอย่างมาก
2.ช่วงเวลาไปทำงานกะดึกควรมีเวลาได้งีบบ้าง ประมาณ 15-30 นาที ไม่มากเกินไปกว่านั้น เพราะจะทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย
3.ออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิต้านทานให้มากขึ้น และยังทำให้หลับสนิทมากขึ้นด้วย
4.ทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายนำสารอาหารไปหล่อเลี้ยง หรือซ่อมแซมส่วนอื่นๆ ได้
ทำงานกะดึก อย่ากินดึกตาม
เราจะได้ยินอยู่เสมอว่า ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อหนักใกล้เวลาที่จะนอน ซึ่งเป็นคำพูดที่ถูกต้องที่สุด แล้วหากเราทำงานกะดึกจะทานอาหารหลักอย่างไร ง่ายๆ เช่น หากเริ่มทำงานตอนบ่าย ควรทานมื้อหนักช่วงก่อนเข้าทำงาน ส่วนกลางคืนควรทานอาหารที่ย่อยง่าย อย่างผลไม้ ไม่ทานเนื้อสัตว์เยอะจนเกินไป แต่หากมีกะเข้างานในช่วงเที่ยงคืน ก็ไม่ควรทานอาหารหนักตอนเที่ยงคืน ควรทานมื้อหนักทีเดียวในตอนเช้า ไม่ควรทานมื้อหนักตอนเที่ยงคืน เพราะจะทำให้กระเพาะอาหารทำงานหนัก และอาจส่งผลให้เป็นโรคต่างๆ ตามมาได้
แพทย์หญิงพรทิพย์ เรืองสีสมบูรณ์
แพทย์เฉพาะทางอาชีวเวชศาสตร์
โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียบ สมุทรปราการ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)