Haijai.com


ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตรวจให้รู้ก่อนสายไป


 
เปิดอ่าน 1981

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตรวจให้รู้ก่อนสายไป

 

 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีสาเหตุจากการลัดวงจรของระบบไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งหมายถึงกระแสไฟฟ้าในหัวใจที่ทำหน้าที่ควบคุมกลไกการเต้นของหัวใจ เกิดความผิดปกติ ถือเป็นภัยเงียบที่อาจสร้างปัญหาให้กับผู้ป่วยได้ทุกเวลา แม้ว่าจะมีการดูแลสุขภาพร่างกายเป็นอย่างดี วิธีการป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด จึงเป็นการหมั่นสังเกตอาการด้วยตนเอง พร้อมเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทาง ร่วมกับเทคโนโลยีการแพทย์ทันสมัย เพื่อการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ก่อนจะสายเกินไป

 

 

การศึกษาด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ หรือ Electrophysiology Study (EP Study) คือ การศึกษา วินิจฉัย และรักษาความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยทีมแพทย์จะติดแผ่นรับสัญญาณไฟฟ้าที่หน้าอกคนไข้ เพื่อตรวจอัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจ จากนั้นจะสอดสายสวนเข้าไปในร่างกาย แล้วเมื่อสายสวนเข้าไปถึงหัวใจ จะส่งสัญญาณไฟฟ้ากลับมา แพทย์อาจทดสอบโดยปล่อยกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นหัวใจ เพื่อเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์หรือทำการทดสอบเพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็น ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับกระแสไฟฟ้าหัวใจที่ได้จาก EP Study จะถูกนำมาเชื่อมโยงผ่านซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์แล้วสร้างเป็นภาพสามมิติ เพื่อวินิจฉัยหาตำแหน่งของการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่แม่นยำ แพทย์จึงรักษาที่สาเหตุได้อย่างตรงจุด เพราะภาพกายวิภาคของระบบหัวใจที่สร้างขึ้นผ่านการเชื่อมโยงกระแสไฟฟ้าหัวใจ จะช่วยให้แพทย์มองเห็นกระบวนการเต้นของหัวใจแบบ Real Time ทั้งสามารถหมุนดูภาพได้รอบทิศทาง พร้อมกับบันทึกข้อมูลของกระแสไฟฟ้าหัวใจไปด้วย

 

 

ดังนั้น เมื่อพบความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าหัวใจที่จุดใดจุดหนึ่ง ก็จะกำกับตำแหน่งไว้ได้ด้วยรหัสสี จากนั้นจึงปล่อยพลังงานความร้อน จากส่วนปลายของสายสวน เพื่อจี้เนื้อเยื่อที่ผิดปกติ ซึ่งสามารถแก้ไขกระแสไฟฟ้าหัวใจให้กลับเป็นปกติได้ทันที

 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการรักษาด้วยวิธี EP Study จะช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น แต่ EP Study ไม่ได้มีผลในการเปลี่ยนปัจจัยด้านอื่นที่ส่งผลต่อโรคหัวใจของผู้ป่วย เพราะหากผู้ป่วยมีปัญหาเริ่มต้นด้วยภาวะความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ หรือมีพังผืดที่หัวใจ ความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะต้องเผชิญก็ยังคงอยู่ต่อไป ดังนั้น ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาจนหายจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแล้ว แต่การระมัดระวังดูแลตนเองเพื่อควบคุมปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อหัวใจก็ยังคงต้องปฏิบัติต่อไป

 

 

นายแพทย์กุลวี เนตรมณี

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีระวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)