Haijai.com


อาหารเด็กตามวัย เพื่อลูกเติบโต


 
เปิดอ่าน 4395

อาหารตามวัย เพื่อลูกเติบโต

 

 

อาหารสำหรับทารกและเด็กที่เหมาะสมกับเด็กไทย แม่และผู้เลี้ยงดูเด็กสามารถเลือกและเตรียมให้สอดคล้องกับอาหารในท้องถิ่น ให้ผักผลไม้ตามฤดูกาล ผลัดเปลี่ยนไปในปริมาณที่เหมาะสมตามวัย หนังสือ “ความรู้เพื่อชีวิต” จัดทำโดยสถาบันเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยยูนิเซฟ ประเทศไทย ในโครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2548 มีสาระสำคัญเพื่อการปฏิบัติว่าด้วยอาหารตามวัย เพื่อลูกเติบโต ประกอบด้วยหลัก 7 ข้อดังนี้

 

1.เด็กเล็กที่เติบโตดีจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ช่วงตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 2 ปีเด็กควรจะได้รับการตรวจสุขภาพ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เพื่อเฝ้าระวังการเจริญเติบโตทุก 1-2 เดือน ถ้าน้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้นในเวลา 2 เดือน อาจมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น

 

 

2.ในช่วง 6 เดือน นมแม่อย่างเดียวมากพอที่จะทำให้ลูกเจริญเติบโตเต็มที่ทั้งร่างกายและสมอง หลังอายุ 6 เดือน น้ำนมยังมีคุณภาพดีแต่ปริมาณไม่พอต่อการเติบโตของลูก จึงจำเป็นต้องให้อาหารลูกอย่างเพียงพอควบคู่กับการกินนมแม่

 

 

3.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี ต้องการอาหารที่มีคุณค่าครบ 5 หมู่ และไม่หวานจนเกินไป เพิ่มเติมไปพร้อมนมแม่ เพื่อให้มีปริมาณและคุณค่าทางอาหารพอเพียงต่อความต้องการของร่างกาย

 

 

4.เด็กทุกคนต้องได้อาหารที่มีคุณค่าครบถ้วนอย่างเพียงพอทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะ วิตามิน เอ สารไอโอดีน และธาตุเหล็ก

 

 

5.การเจ็บป่วยทำให้การเจริญเติบโตของเด็กหยุดชะงัก ในระยะพักฟื้น เด็กต้องการอาหารเพิ่มเติมอีกหนึ่งมื้อต่อวัน นานอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อซ่อมแซมการสึกหรอและช่วยให้เด็กเติบโตต่อไปได้

 

 

6.สุขภาพช่องปากมีความสำคัญต่อการกินอาหาร สุขภาพและพัฒนาการของเด็ก

 

 

7.การเตรียม การปรุง ประกอบอาหารของเด็ก ต้องคัดเลือกอาหารที่สะอาด สด ปลอดภัยจากสารปนเปื้อน สิ่งเจือปน และวิธีให้อาหารควรปรับให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก โดยค่อยๆ ให้เด็กกินเองอย่างถูกสุขลักษณะ

 

 

แม่ที่สมบูรณ์สามารถหลั่งน้ำนมที่มีปริมาณมากและมีคุณภาพ น้ำนมแม่นั้นเมื่อกินเต็มที่ กินอย่างเดียวสามารถทำให้ลูกเติบโตทั้งร่างกายและสมองจนถึงอายุ 6 เดือน น้ำนมแม่ เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก จึงเป็นต้นแบบของนมผสมที่บริษัทอุตสาหกรรมผลิตนมได้พยายามพัฒนาให้เหมือน แต่น้ำนมแม่ยังมีสารอีกมากมายที่นักวิทยาศาสตร์ยังตรวจได้ไม่หมด กล่าวได้ว่านมแม่เป็นอาหารหลักสำหรับทารก จนถึงอายุ 6 เดือน หลังจากนั้นกินนมแม่อย่างเดียวจะได้พลังงานไม่เพียงพอสำหรับทารกที่เติบโตมีน้ำหนักตัวมากกว่า 2 เท่าของน้ำหนักตัวแรกเกิด ต้องกินอาหารที่มีความหนาของพลังงานเพิ่มขึ้น ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวควรเริ่มให้อาหารเด็กเมื่ออายุ 6 เดือน แต่ทารกที่กินนมผสมอาจเริ่มให้อาหารเด็กได้ตั้งแต่อายุ 4 เดือน อาหารที่นิยมให้มื้อแรกคือ กล้วยน้ำว้าสุกครูด กล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ มีวิตามิน บี ธาตุโพแทสเซียม และแป้งพวก โอลิโกแซคคาไรด์ซึ่งเป็นอาหารของจุลินทรีย์ที่ได้จากนมแม่ช่วยให้เติบโตได้ต่อไป จุลินทรีย์ที่ดีเหล่านี้ทำให้สุขภาพของทางเดินอาหารดี กล้วยยังมีสารทริปโทแฟน เป็นสารที่ร่างกายนำไปสร้างสารซีโรโทนิน ทำให้ทารกนอนหลับสบาย ตื่นขึ้นมาสดใส เรียนรู้ได้อีกมาก กล้วยครูดกลืนง่าย อาหารมื้อแรกๆ ต้องให้ที่ทารกกลืนได้ง่ายเพราะเป็นอาหารฝึกให้ทารกหัดกลืน ทารกเล็กๆ มักแลบลิ้นออก เมื่อป้อนอาหารให้ตื้นๆ ที่ปลายลิ้นเพราะทารกวัยนี้ตวัดลิ้นให้อาหารเข้าไปในช่องปากไม่เป็น อยากกินแต่แลบลิ้นเหมือนดุนอาหารออก ทำให้ผู้ให้อาหารเข้าใจว่าทารกไม่ยอมกิน การป้อนกล้วยมักต้องป้อนลึกตรงกลางลิ้น เมื่อป้อนน้ำตามกล้วยจึงจะลื่นช่วยให้กลืนลงคอได้สะดวก กล้วยครูดป้อนครั้งแรกประมาณ 1-2 ช้อนชา เมื่อกินได้ดีจึงให้ข้าวบดผสมกล้วย

 

 

อาหารตามวัยที่คุณแม่เตรียมเองได้ง่ายมีกำหนดไว้ในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2546 มีอยู่ติดตัวลูกเป็นสมุดบันทึกสุขภาพที่มีประโยชน์มาก ในสมุดเล่มนี้ มีรายการและปริมาณอาหารแนะนำให้เพิ่มปริมาณสำหรับทารกและเด็ก แต่ละอายุ ร่วมกับให้ทารกกินนมแม่สำหรับทารก 6 เดือน -1 ปี และเด็ก 1-5 ปี ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

 

อายุ 5-6 เดือน

 

ป้อนอาหาร 1 มื้อ โดยให้ข้าวบดละเอียด กับน้ำแกงจืด ไข่แดง เนื้อปลา ตับ สลับกันไป ผักบด กล้วยครูด หรือผลไม้ กินได้ทุกวันให้ในปริมาณดังนี้

 

 ข้าวบดละเอียด 3 ช้อนกินข้าว

 

 ไข่แดง ครึ่งฟอง สลับกับเนื้อสัตว์ ตับ 1 ช้อนกินข้าว

 

 หรือปลาบด 2 ช้อนกินข้าว

 

 ผักตำลึง ฟักทอง แครอท เพื่อให้ได้วิตามิน เอ ½ -1 ช้อนกินข้าว

 

 ผลไม้สุก 1-2 ชิ้น กล้วยครูด 1 ผล

 

 

อายุ 7 เดือน

 

ให้อาหาร 1-2 มื้อ เป็นข้าวบดละเอียดกับน้ำแกงจืด เมื่ออายุ 7 เดือนทารกกินไข่ขาวได้แล้ว จึงสามารถให้ไข่ทั้งฟอง สลับกับ ปลา เนื้อสัตว์บด ส่วนผักหั่นละเอียด และผลไม้ ให้ได้ทุกมื้อ ปริมาณ

 

 ข้าวบด 4 ช้อนกินข้าว

 

 ไข่ทั้งฟอง 1 ฟอง

 

 เนื้อสัตว์ ตับ ปลา สลับกันไป 2 ช้อนกินข้าว

 

 ผักหั่นละเอียด 1-2 ช้อนกินข้าว

 

 ผลไม้สุก 2-3 ชิ้น กล้วยสุก 1-2 ผล

 

 

อายุ 8-9 เดือน

 

ให้อาหาร 2 มื้อ ชนิดของอาหารเหมือน 7 เดือน แต่เพิ่มปริมาณมากขึ้นดังนี้

 

 ข้าวหุงนิ่มๆ 5 ช้อนกินข้าว

 

 ไข่ทั้งฟอง 1 ฟอง

 

 เนื้อสัตว์ ตับ ปลา สลับกันไป 2 ช้อนกินข้าว

 

 ผลไม้สุก 3-4 ชิ้น กล้วยสุก 2 ผล

 

 

อายุ 10-12 เดือน

 

ให้อาหาร 3 มื้อ เหมือนเมื่อตอนอายุ 9 เดือนแต่ปริมาณมากขึ้นตามแต่เด็กจะรับได้
ปริมาณอาหารต่อวันสำหรับเด็กอายุ 1ปี ถึง 5 ปี

 

 

 

อายุ 1-2 ปี

อายุ 3-5 ปี

ดื่มนม

1-3 แก้ว

1-3 แก้ว

ข้าวสุก ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ มักโรนี

4 ½ ทัพพี

5-6   ทัพพี

ไข่ (ควรปรุงสุกเพื่อให้ย่อยง่าย)

1 ฟอง

1 ฟอง

เนื้อสัตว์ และเมล็ดถั่วแห้ง เต้าหู้

2 ช้อนกินข้าว

4 ช้อนกินข้าว

ผักใบเขียว

1 ½ ทัพพี

3 ทัพพี

ผลไม้ตามฤดูกาล

3 ส่วน

3 ส่วน

น้ำมันพืชและน้ำมันสัตว์ เนยสด กะทิ

2-3  ช้อนชา

3 ช้อนชา

 

(1 ส่วนของผลไม้ เช่นกล้วย 1 ผล ส้มเขียวหวานผลขนาดกลาง 2 ผล มะม่วงสุก ½ ผล มะละกอสุก 6 ชิ้นพอคำ)

 

 

ถ้าทารกและเด็กได้กินอาหารตามรายการข้างบน จะได้อาหารครบ 5 หมู่ ได้ไอโอดีน ธาตุจากปลา เหล็กจากตับและผักใบเขียว ในทารกที่มีอาการภูมิแพ้เช่น ผื่นแพ้ผิวหนังให้เลือกกินปลาน้ำจืด และหลีกเลี่ยง อาหารทะเล และถั่วลิสง

 

 

สรุปง่ายๆ อาหารเด็ก 1 ถ้วยมีข้าวประมาณ 3 ส่วน เนื้อสัตว์ 1 ส่วน ผักและผลไม้แยกต่างหากประมาณ 2 ส่วน ปกติเนื้อสัตว์และถั่วมีไขมันแทรกอยู่ และได้จากไขมันที่เป็นน้ำมันเจียวหอมใช้เติมลงในข้าวต้ม โจ๊ก 

 

 

อาหารเด็กไม่แนะนำให้ปรุงรส ได้แก่ไม่เติม ผงชูรส ไม่เติมสารกันบูด ผงกรอบและสี เพราะเป็นอันตรายระยะสั้น ส่วนเกลือและน้ำตาลไม่แนะนำให้เค็ม เพราะอาจทำให้เกิดโรคเมื่อเติบใหญ่ กินเกลือมากเป็นความดันเลือดสูงและติดรสหวาน กินหวานมากอาจเป็นโรคอ้วนและเบาหวาน

 

 

หมอวันดี

(Some images used under license from Shutterstock.com.)