© 2017 Copyright - Haijai.com
เลือกการ์ตูนอย่างไรให้เหมาะกับลูก
การ์ตูนคือสื่อบันเทิงที่เข้าถึงเด็กๆ ได้ง่ายและกระตุ้นความสนใจให้เด็กอยากเรียนรู้ จากจุดนี้นี่เองทำให้ไม่ว่าเรามองไปทางไหน หนังสือการ์ตูนสีสวยมากมายจะวางขายให้เห็นล่อตาล่อใจทั้งเด็กๆ และผู้ปกครองเองที่มุ่งหมายอยากจะให้การ์ตูนช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้และจินตนาการให้กับลูก
เหตุเกิดจากความไม่รู้ของพ่อแม่
จะมีพ่อแม่สักกี่คนกันที่เข้าใจอย่างแท้จริงว่า ใช่ว่าการ์ตูนทุกเรื่องจะมีประโยชน์สำหรับเด็กๆ บางเรื่องไม่ได้ให้อะไร และไม่ได้สอนอะไร ซ้ำร้ายยังเป็นสิ่งที่คอยบ่อนทำลายความสดใสและไร้เดียงสาแบบเด็กๆ เสียด้วยซ้ำ ในขณะที่ประเทศไทยของเราเองยังไม่มีการแบ่งประเภทการ์ตูนให้ชัดเจนว่าแบบไหนเหมาะกับวัยใด ในส่วนนี้จึงเป็นภาระหน้าที่ของพ่อแม่โดยตรงที่จะต้องมานั่งพิจารณาและคัดสรรการ์ตูนให้กับลูกๆ ครูอ๋า สิทธิพร กุลวโรตตมะ จากสถาบันการ์ตูน มูลนิธิเด็ก มีคำแนะนำสำหรับการเลือกการ์ตูนดีๆ ให้เหมาะสมกับวัย เพื่อเป็นแนวทางสำหรับพ่อแม่
เด็กๆ จะเรียนรู้ได้อย่างไรจากการ์ตูน
การ์ตูนเป็นสิ่งที่นำเสนอเรื่องราวที่เป็นนามธรรมมาสู่รูปธรรมได้มากที่สุด ด้วยคุณสมบัติ 3 อย่างของการ์ตูนคือ รูปแบบ รูปทรงของภาพ สีสัน และสุดท้ายคือความง่ายของการ์ตูน 3 อย่างนี้คือสิ่งที่ดึงดูดเด็กๆ ให้เข้ามาสู่เนื้อหาที่เราอยากจะนำเสนออยากจะให้เด็กๆ ได้เรียนรู้
การ์ตูนที่เหมาะสำหรับเด็กๆ
หลักการง่ายๆ ในการเลือกการ์ตูนที่เหมาะกับเด็กๆ มีดังนี้
1.เลือกการ์ตูนให้เหมาะสมกับวัยของลูก
บางครั้งเมื่อพูดถึงการ์ตูนเรามักจะเหมารวมการ์ตูนทุกประเภท การ์ตูนสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับดังนี้ การ์ตูนเด็กเล็ก การ์ตูนสำหรับเด็กเล็กนั้นต้องมีภาพสีสันฉูดฉาด และมีความเสมือนจริงเพราะเด็กวัยนี้ ยังไม่สามารถจินตนาการได้มากนัก การ์ตูนสำหรับเด็กประถม สำหรับเด็กประถม เป็นภาพการ์ตูนที่เริ่มมีการให้ใช้จินตนาการ ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านภาษา การ์ตูนสำหรับเด็กมัธยม สำหรับเด็กวัยนี้การ์ตูนควรจะต้องเป็นเรื่องของการเรียนรู้เรื่องราวและเนื้อหา มีคำบรรยายใต้ภาพเยอะๆ
2.รูปภาพของการ์ตูน
รูปภาพเป็นสิ่งที่จะช่วยส่งเสริมด้านทัศนคติและความงาม อยากแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เลือกการ์ตูนที่มีลายเส้นสวยงามและสีสันที่หลากหลาย เพราะภาพในการ์ตูนนั้นจะทำให้เด็กเกิดสุนทรียะ จากการมองเห็น
3.เนื้อหาของการ์ตูน
ในส่วนของเนื้อหานั้นไม่อยากให้เน้นเรื่องของวัฒนธรรมเรื่องความเป็นไทยให้มากนัก เนื้อหาของการ์ตูนนั้นควรจะเป็นเรื่องง่ายๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น กินข้าว แปรงฟัน ไปโรงเรียนหรือการเล่นกับเพื่อน เมื่อเด็กเห็นเนื้อหาของการ์ตูนแบบนี้แล้วก็จะเริ่มสร้างความเชื่อมโยงของเรื่องนั้นกับชีวิตประจำวันได้
จัดเรทการ์ตูน
การ์ตูนก็ควรจะมีการจัดเรท แบ่งประเภทกันออกไป ว่าการ์ตูนแบบไหนเหมาะกับวัยใดเพราะทุกวันนี้เราจะเห็นว่ามีการ์ตูนมากมาย และพ่อแม่บางคนอาจจะยังไม่มีเวลาหรือความรู้เกี่ยวกับการ์ตูนมากนัก การ์ตูนบางเล่มที่เลือกให้ลูกนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะกับวัย และทำให้เด็กไม่เข้าใจในเนื้อหาของการ์ตูน พ่อแม่ควรมีเวลาที่จะคัดสรรและคัดกรองการ์ตูนให้ลูก ถ้าจะมองกันให้ดีการโทษคนเขียนเพียงฝ่ายเดียวนั้นก็ไม่ถูกต้อง การ์ตูนควรจะเป็นสิ่งที่พ่อแม่ใช้เรียนรู้ร่วมกับลูก เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่มีการจัดเรทการ์ตูนนั้น พ่อแม่คือคนสำคัญและจะต้องมีเวลากับการคัดสรรการ์ตูนที่เหมาะสมให้กับลูกด้วย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)