Haijai.com


ไม่ออกกำลังกาย ทำหัวใจขาดเลือด


 
เปิดอ่าน 1984

ไม่ออกกำลังกาย ทำหัวใจขาดเลือด

 

 

ท่านคงเคยได้ยินเรื่องคนที่นอนหลับไปแล้วไม่ตื่น หรือไหลตาย เป็นระยะๆ สาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตเฉียบพลันนี้เกิดจากโรคหัวใจ

 

 

ท่านทราบหรือไม่ว่า ท่านมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากน้อยเพียงใด ข้อมูลจากการวิจัยหนึ่งที่เน้นศึกษาผู้เสียชีวิตเฉียบพลัน ซึ่งมีอายุระหว่าง 18-50 ปี (อายุเฉลี่ย 38+11 ปี) พบว่า มีสาเหตุจากโรคหัวใจและปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง

 

 

ข้อมูลจากวารสารฉบับหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2554 พบว่า ระหว่างปี พ.ศ.2541-2551 โดยเฉลี่ยใน 1 ปี ชาวอเมริกันเสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจ แบ่งเป็นผู้ชายประมาณ 6-7 คน และผู้หญิง 1-2 คน ต่อประชาการทุกๆ 100,000 คน

 

 

แต่หาก แบ่งตามนิสัยการกินอาหารหวาน มัน ร่วมกับพฤติกรรมทำลายสุขภาพ เช่น ขยันนั่งทำงาน ขยันนอน แต่ไม่ขยันยืนและเดิน จนทำให้เกิดภาวะไขมันสะสมในหลอดเลือดแดง และหลอดเลือดแดงอุดตัน พบว่า ในกลุ่มคนอายุน้อยกว่า 35 ปี มีผู้เสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน 1 คน ต่อประชากร 100,000 คน หากอายุเกิน 35 ปี อัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มสูงเป็น 10 เท่าตัว โดยพบผู้เสียชีวิตประมาณ 13-14 คน ต่อประชากร 100,000 คน

 

 

ปุจฉา : มีลางบอกเหตุใดๆ หรือไม่ว่า ท่านอาจเสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจ

 

วิสัชนา : จากข้อมลที่บันทึกไว้ พบว่า ผู้เสียชีวิตร้อยละ 50 มีอาการเตือนก่อนเสียชีวิต 1 สัปดาห์ อาการที่ได้รับรายงานไว้ ได้แก่

 

 มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ร้อยละ 50

 

 

 มีอาการหายใจลำบาก ร้อยละ 20

 

 

 มีอาการ หมดสติ ร้อยละ 7

 

 

ในหลายๆ กรณี อาการเตือนล่วงหน้านั้น เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันก่อนจะมีการเสียชีวิต สำหรับรายละเอียดอาการเตือนต่างๆ มีดังนี้

 

 

การเจ็บแน่นหน้าอก รู้สึกแน่นๆ หนักๆ บริเวณกลางหน้าอก อาจมีอาการร้าวไปที่คอ บ่าด้านซ้าย เหงื่อออก ใจสั่น โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขณะทำกิจกรรมทางกายที่ต้องใช้ความเร่งรีบ เช่น เดินเร็ว วิ่งขึ้นบันได และอาการจะลดลงหรือหายไป เมื่อหยุดทำกิจกรรมเหล่านั้น แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรง แม้นั่ง นอน หรือหลังกินอาหาร ก็สามารถมีอาการได้

 

 

อาการวูบ หมดสติ เป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าอาการรุนแรงแล้ว แต่หากท่านมีอาการเวียนศีรษะ มึนงงบ่อยๆ ขณะทำกิจกรรมทางกายหรือหลังกินอาหร ก็เป็นสัญญาณเตือนเช่นกัน

 

 

ปุจฉา : ภาวะหัวใจขาดเลือดมักพบในกลุ่มวัยเกษียณจริงหรือไม่

 

วิสัชนา : จริง จากสถิติของประชากรไทย พบผู้ป่วยภาวะหัวใจขาดเลือดและภาวะอื่นๆ ที่พบร่วมกับภาวะหัวใจขาดเลือดดังนี้

 

 

ภาวะที่พบร่วม

เบาหวาน

(ร้อยละ)

ความดันโลหิตสูง

(ร้อยละ)

ไขมันในเลือดสูง

(ร้อยละ)

อายุเฉลี่ยขณะป่วย

(ร้อยละ)

พ.ศ.2545-2547

44

64

75

65+12

พ.ศ.2550-2551

51

60

83

63.5+13

 

 

จากสถิติพบว่า อายุเฉลี่ยของประชากรไทยที่ป่วยจากภาวะหัวใจขาดเลือดลดลง และขณะเดียวกันพบว่า โรคร่วมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจขาดเลือด เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มีแนวโน้มสูงขึ้น

 

 

ปุจฉา : ควรเริ่มเฝ้าระวังการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเมื่ออายุเท่าไร

 

วิสัชนา : อายุ 35 ปีขึ้นไป อัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจขาดเลือดจะเริ่มมีมากขึ้น และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทุกๆ 5 ปี คนที่อายุ 35 ปีขึ้นไปในปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นที่ต้องหันมาป้องกัน ก่อนที่จะเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด ที่อาจส่งผลให้พิการหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

 

 

การป้องกันการเสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจในกลุ่มวัยทำงานนั้น หากอายุน้อยกว่า 35 ปี ควรมุ่งเน้นไปที่การตรวจคัดกรองและหาสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือภาวะหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด และควรเพิ่มความฟิตให้หัวใจอย่างค่อยเป็นค่อยไปในกลุ่มที่หัวใจผิดปกติ

 

 

ส่วนในกลุ่มอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรให้ความสำคัญในการป้องกันภาวะหลอดเลือดแดงอุดตัน ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด (เป็นเรื่องที่ทุกท่านได้ยินมาตลอดว่า ควรงดอาหารหวาน มัน และหมั่นออกกำลังกาย แต่จะมีสักกี่คนที่จะหยุดคิดแล้วเริ่มปฏิบัติ) เพราะเมื่อเกิดปัญหาแล้ว หลายครั้งผู้ป่วยอาจไม่เสียชีวิต แต่พิการตลอดชีวิต ซึ่งจะเป็นภาระแก่ครอบครัวต่อไป

 

 

วันที่ท่านตรวจวัดความดันโลหิตและออกกำลังกายแล้วหรือยัง

 

 

นายแพทย์กรกฎ พานิช

อาจารย์ประจำสาขาวิชาเวชศาสตร์การกีฬา

วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา

(Some images used under license from Shutterstock.com.)