© 2017 Copyright - Haijai.com
ผลข้างเคียง และความเสี่ยงของการตั้งครรภ์โดยไข่บริจาค
ปัจจุบันนี้ผู้หญิงตั้งครรภ์อายุเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าในอดีตมาก เพราะสิ่งแวดล้อมและภาวะทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้นและเลยวัยเจริญพันธุ์ไปแล้ว แต่ยังอยากมีลูก อาจพบปัญหาการมีบุตรยาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ไม่มีไข่ตก หรือรังไข่ล้มเหลวไม่สามารถผลิตเซลล์ไข่ได้ ผู้หญิงส่วนหนึ่งสามารถตั้งครรภ์ได้หากยอมรับไข่บริจาค โดยแพทย์จะนำเซลล์ไข่ที่ได้มาจากการบริจาคมาผสมกับอสุจิของสามีและเพาะเลี้ยงตัวอ่อนไว้ภายนอกร่างกายนาน 5 วัน จนตัวอ่อนเจริญเติบโตถึงระยะฝังตัว หรือระยะบลาสโตซิสท์ ก็จะนำตัวอ่อนนั้นใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูกให้ ตัวอ่อนจะสามารถฝังตัว และเกิดเป็นการตั้งครรภ์ต่อไปได้
การใช้ไข่บริจาคนั้น สามารถคัดเลือกลักษณะของผู้บริจาคและผู้รับบริจาคให้ใกล้เคียงกัน เพื่อที่ทารกที่เกิดมา จะได้มีลักษณะใกล้เคียงกับคุณแม่มากที่สุด เช่น ควรมีเชื้อชาติเดียวกัน สีผม สีผิว สีตา ใกล้เคียงกันมากที่สุด อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือกลุ่มเลือด ควรจะมีกลุ่มเลือดเดียวกัน เพื่อลดปัญหาทางสังคมที่อาจเกิดขึ้น เพราะคงเป็นเรื่องที่ไม่สะดวกนักหากคุณแม่ต้องคอยตอบคำถามว่าเหตุใด ลูกจึงมีกลุ่มเลือดแตกต่างจากคุณพ่อคุณแม่
นอกจากการคัดเลือกลักษณะที่เหมาะสมแล้ว ผู้บริจาคจะได้รับการตรวจเลือด และคัดกรองโรคติดต่อเช่นเดียวกับการบริจาคเลือด และจะถูกคัดกรองโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมมาก่อนแล้ว เพื่อป้องกันโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่ทารก เช่นโรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น
เป็นเวลายาวนานว่า 25 ปีแล้วที่ได้มีการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการใช้ไข่บริจาค แต่ไม่มีรายงานที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การใช้ไข่บริจาคส่งผลต่อสุขภาพของแม่ตั้งครรภ์ ไม่ว่าไข่ที่ได้มา จะมาจากผู้หญิงที่มีกลุ่มเลือดใดๆ หรือมีเชื้อชาติ หรือพันธุกรรมที่แตกต่างกับผู้รับบริจาค
แต่เมื่อเร็วๆ นี้ Dr. Ulrich Pecks, Deutsches Aerzteblatt International ประเทศเยอรมัน ได้นำเสนอการประเมินผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์โดยการรับไข่บริจาค ในระยะเวลา 4 ปี พบว่า หญิงตั้งครรภ์ด้วยไข่บริจาคจำนวน 8 รายมีการพัฒนาภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ และ 3 รายในจำนวนนี้จำเป็นต้องให้สิ้นสุดการตั้งครรภ์ก่อนกำหนด เนื่องจากเป็นความเสี่ยงต่อชีวิตของคุณแม่ และอีก 5 รายที่เหลือมีความดันโลหิตสูงในระดับปานกลาง Dr. Ulrich Pecks จึงเห็นว่าควรจัดกลุ่มคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ด้วยการใช้ไข่บริจาคเป็นกลุ่มที่มีการตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง เพื่อที่ทีมสุขภาพจะได้ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังป้องกันได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ด้วยไข่บริจาคส่วนมากเป็นผู้หญิงที่มีอายุมากแล้ว ดังนั้นเมื่อตั้งครรภ์ตอนอายุมากจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ อยู่แล้วและควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมสุขภาพ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)