Haijai.com


ต่อมทอนซิลอักเสบ


 
เปิดอ่าน 6137

ต่อมทอนซิลอักเสบ Tonsillitis

 

 

ต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ต่อมทอนซิลเป็นต่อมน้ำเหลืองในลำคอ โดยเป็นต่อมคู่อยู่ด้านข้างใกล้โคนลิ้นซ้ายและขวา มีหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อ โดยกรองเชื้อแบคทีเรียและจุลชีพอื่นๆ ออก แต่เมื่อมีเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสมากเกินไป ต่อมทอนซิลก็อาจจะบวมและอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบมักจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมีอยู่หลายชนิดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ Epstein Barr virus (สาเหตุของโรคโมโนนิวคลิโอสิส mononucleosis) หรือ adenovirus เมื่อต่อมทอนซิลอักเสบเกิดจากเชื้อไวรัส ระยะเวลาที่เป็นโรคจะขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อไวรัส โดยส่วนมากผู้ป่วยจะหายเป็นปกติภายใน 1 สัปดาห์ แต่บางครั้งก็ใช้ระยะเวลาถึง 2 สัปดาห์ ต่อทอนซิลอักเสบสามารถจำแนกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

 

 ต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน (Acute tonsillitis) สามารถเกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย

 

 ต่อมทอนซิลอักเสบกึ่งเฉียบพลัน (Subacute tonsillitis) ระยะเวลาที่เป็นโรคอยู่ระหว่าง 3 อาทิตย์ – 3 เดือน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Actinomyces

 

 ต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง (Chronic tonsillitis) ระยะเวลาที่เป็นโรคจะนาน ถ้าไม่ได้รับการรักษา เกือบทั้งหมดจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

 

 

ต่อมทอนซิลอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียสามารถเกิดจากแบคทีเรีย group A Streptococcal (เช่น Steptococcus pyogenes) ซึ่งส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ Streptococcus ที่คอ ถ้าไม่ได้รับการรักษา การติดเชื้อ Streptococcus ที่คอจะทำให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรงขึ้น ได้แก่ ไข้รูมาติก ซึ่งสามารถทำลายลิ้นหัวใจได้ในเวลาหลายปีต่อมา บางครั้งต่อมทอนซิลอักเสบอาจจะเกิดจากการติดเชื้อสำทับ (Superinfection) จากเชื้อ Spirochaeta และ Treponema (Vincent’s angina หรือ Plau-Vincent angina) ไม่ว่าจะเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ต่อมทอนซิลอักเสบก็จะแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง โดยการสัมผัสระหว่างบุคคล เช่น การสูดเอาละอองน้ำลายจากการจามที่กระจายอยู่ในอากาศ บางครั้งต่อมทอนซิลที่อักเสบหรือฝีรอบๆ ต่อมทอนซิลจะขวางทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ อาจพบการติดเชื้อในลำคอและบริเวณรอบๆ ทำให้เกิดอาการเจ็บคอหรือคอหอยอักเสบ (Pharyngitis)

 

 

คำแนะนำผู้ป่วย

 

 ไม่บังคับให้เด็กรับประทานอาหาร ถ้าเด็กกลืนลำบาก สามารถบรรเทาอาการเจ็บคอได้โดยการให้ดื่มน้ำ ซุป น้ำแกง หรือเครื่องดื่มอุ่นๆ (ไม่ร้อน) ผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 8 ปี ให้กลั้วคอด้วยยาฆ่าเชื้ออ่อนๆ ที่เจือจางในน้ำ หรือน้ำเกลืออุ่นๆ (ผสมเกลือครึ่งช้อนชาในน้ำอุ่น 240 มิลลิลิตร และ/หรือ อมยาอม (lozenge) เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ

 

 

 นอนหลับมากๆ ลดการใช้เสียง การระคายคอและการที่เสียงหายไปชั่วคราว อาจจะเป็นผลมาจากการพูด

 

 

 หลีกเลี่ยงควันและมลพิษทางอากาศอื่นๆ ซึ่งสามารถระคายเคืองลำคอ

 

 

 ดื่มน้ำวันละหลายๆ แก้ว เพื่อป้องกันการขาดน้ำ

 

 

 ล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่ทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบ

 

 

 รับประทานยาปฏิชีวนะที่ได้รับจนหมด แม้ว่าอาการจะหายดีก่อนยาหมดก็ตาม การรับประทานยาที่ได้รับจนหมดจะป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่อหัวใจ จากไข้รูมาติก เมื่อสงสัยเกี่ยวกับยาที่ได้รับหรือต้องการเลือกยาอม เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ ให้ถามแพทย์หรือเภสัชกร

 

 

ทางเลือกในการรักษา

 

ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)

 

 ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม penicillins เป็นตัวเลือกที่ใช้กันมากที่สุด

 

 

 ในกรณีที่แพ้ penicillins และอาการแพ้ไม่รุนแรง สามารถใช้ยาในกลุ่ม cephalosporins เช่น cefadroxil, cefuroxime, cefdinir, cefixime, cefpodoxime, และ ceftibuten หรือใช้ยาในกลุ่ม macrolides เช่น erythromycin, azithromycin, clarithromycin หรือ clindamycin

 

 

 ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะเกิน 7 วัน ยกเว้นแพทย์สั่ง การใช้ยาปฏิชีวนะยาวเกินไปจะทำให้เชื้อดื้อยาได้

 

 

 ยาปฏิชีวนะบางชนิดสามารถลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดได้ ทำให้เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ระหว่างการรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ

 

 

 ใช้ยาปฏิชีวนะด้วยความระมัดระวังระหว่างตั้งครรภ์ ยาในกลุ่ม penicillins และยาในกลุ่ม cephalosporins ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์

 

 

ยาแก้ปวดและยาลดไข้ (Analgesics & Antipyretics)

 

ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์อ่อน ได้แก่ paracetamol สามารถบรรเทาอาการเจ็บคอ และไข้ได้เป็นระยะเวลาพอสมควร

 

 

ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs, NSAIDs)

 

 ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ อาจมีอาการข้างเคียง เช่น ได้ยินเสียงหึ่งในหู ระคายเคืองกระเพาะอาหาร และทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร จึงไม่ควรใช้ยาในกลุ่มนี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นแผลในกระเพาะอาหาร อาหารไม่ย่อย และโรคระบบทางเดินอาหารอื่นๆ ตลอดจนผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคไต และภาวะขาดน้ำ

 

 

 ไม่ควรใช้ยาในกลุ่ม salicylates (เช่น aspirin) โดยระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี เนื่องจากยาในกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับการเกิด Reye’s syndrome ซึ่งมีอันตรายอย่างมาก

 

 

 Ibuprofen ช่วยลดอาการบวมและอักเสบ ตลอดจนบรรเทาความเจ็บปวดของผู้ป่วย และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำได้เร็วขึ้น

 

 

ผลิตภัณฑ์สำหรับ ปาก/ลำคอ (Mouth/Throat Preparations)

 

 ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เฉพาะที่ซึ่งอยู่ในรูปของยาอม ยากลั้วคอหรือสเปรย์พ่นช่องปาก ประกอบด้วยยาต้านการอักเสบ เช่น benzydamine ยาชา เช่น amylocaine, lidocaine และ tetracaine และยาฆ่าเชื้อ amylmetacresol, benzalkonium chloride, biclotymol, cetalkonium chloride, cetylpyridinium chloride, chlorhexidine, dequalinium chloride, dichlorobenzyl alcohol, hexetidine และ povidone-iodine ผลิตภัณฑ์บางตัวอาจจะมียาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น bacitracin, neomycin sulfate และ tyrothricin

 

 

 ยาฆ่าเชื้อบางตัวอาจระคายเคืองลิ้นและริมฝีปาก

(Some images used under license from Shutterstock.com.)