© 2017 Copyright - Haijai.com
ดอกไม้แห่งความรัก สุขภาพ
นอกจากดอกที่สวยงามและกลิ่นหอมที่เย้ายวนใจแล้ว ดอกไม้แห่งความรักยังมีผลดีต่อสุขภาพอีกด้วย กุหลาบตัดดอกที่เราเห็นกันทั่วไปนั้น แท้จริงกลีบดอกสามารถนำมารับประทานได้ (แต่ที่ขายกันทั่วไป จะมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอยู่มาก จึงไม่แนะนำให้ใช้) งานวิจัยในสัตว์ทดลองแสดงให้เห็นว่า กุหลาบมีฤทธิ์แก้ปวดและแก้อักเสบ นอกจากนี้ช่วยระงับปวด กุหลาบมอญที่ใช้ทำน้ำดอกไม้เทศก็ให้น้ำมันหอมระเหยที่แก้ซึมเศร้า แก้วิตกกังวล นอกเหนือจากสรรพคุณจากดอก ผล (rose hip) ของกุหลาบชนิดหนึ่งในยุโรป (dog rose) ยังช่วยทำให้อาการปวดข้อของผู้ป่วยข้ออักเสบดีขึ้น และอาจลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ที่อ้วนได้อีกด้วย
เดือนแห่งความรัก ดอกไม้ที่ทุกคนนึกถึงก็คงหนีไม่พ้นดอกกุหลาบ สีของกลีบและกลิ่นของกุหลาบเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจมนุษย์มาหลายยุค แต่เชื่อหรือไม่ว่านอกจาก “ดอกใหญ่และเกสร สุวคนธะมากมาย” แล้ว กุหลากบยังมีสรรพคุณทางยาสมดังที่ระบุในบทพระราชนิพนธ์มัทนะพาธาว่า “กินแล้วระงับตรี พิธโทษะหายหมด” ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้น สามารถติดตามได้ในบทความนี้
กุหลาบตัดดอก ดอกสวยกลีบกินได้
กุหลาบตัดดอกที่เราเห็นกันทั่วไปนั้น อันที่จริง กลีบก็สามารถนำมารับประทานได้ ทั้งใส่ไอศกรีม สลัด เจลลี่ เป็นต้น ชากลีบกุหลาบมีฤทธิ์สงบระงับ นอกจากนี้ยังมีตำรับยาแก้ปวดหัวที่ทำโดยการนำกลีบกุหลาบแช่ในน้ำส้มสายชูกลั่น แล้วนำผ้าชุบน้ำส้มสายชูนั้น วางไว้ที่หน้าผาก ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของดอกกุหลาบในสัตว์ทดลอง ได้แก่ ต้านการอักเสบและแก้ปวด
อย่างไรก็ตามเนื่องจากกุหลาบเป็นพืชที่มีโรคและศัตรูพืชมาก กุหลาบที่เพาะปลูกเพื่อการค้าในปัจจุบันจึงมักมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและโรคพืชอยู่มาก จนอาจเกิดอันตรายถ้าใช้รับประทาน ผู้ที่ประสงค์จะบริโภคอาหารจากกุหลาบ จึงควรปลูกกุหลาบโดยไม่ใช้สารเคมีด้วยตนเอง
เหมยกุยฮัว เมื่อกุหลาบเป็นเครื่องยาจีน
กุหลาบมีหลายชนิด ในจีนมีกุหลาบชนิดหนึ่งเรียกว่า “เหมยกุยฮัว” หรือชื่อไทยว่า “กุหลาบญี่ปุ่น” (Rosa rugosa) กลีบของกุหลาบชนิดนี้สามารถนำมาทำเป็นอาหารและเครื่องยาได้ กุหลายญี่ปุ่นมีฤทธิ์อุ่น รสหวาน-ขม เล็กน้อย ช่วยแก้เลือดคั่งและลมปราณติดขัด บรรเทาปวด จากจากนี้ผลและใบยังสามารถนำมาบริโภคได้
การศึกษาสมัยใหม่ได้พบฤทธิ์ทางเภสัชทวิทยาจากส่วนต่างๆ ของกุหลาบญี่ปุ่น สารสกัดดอกด้วยเอธานอลสามารถลดความดันเลือดในหนูทดลองที่ความดันเลือดสูงได้ น้ำคั้นจากผลแสดงฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโของเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง สารสกัดจากรากกุหลาบชนิดนี้แสดงฤทธิ์แก้ปวด แก้อักเสบ และลดไขมันในเลือดของหนูทดลอง
ยี่สุ่น จากน้ำดอกไม้เทศถึงอะโรมาเธอราปี
ยี่สุ่นหรือกุหลาบมอญ (Rosa damascene) เป็นกุหลาบชนิดหนึ่งที่นำเข้ามาปลูกในไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 (บางตำราว่านำมาปลูกในไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) ถิ่นกำเนิดของกุหลาบชนิดนี้อยู่ในประเทศซีเรีย ตุรกี และบริเวณตะวันออกกลาง เมื่อนำน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากกุหลาบชนิดนี้มาละลายในน้ำ จะได้น้ำดอกไม้เทศซึ่งมีกลิ่นหอมเย็น ทำให้หัวใจสว่าง ชื่นบาน แก้พิษไข้ แก้ร้อน แก้กระหาย แก้อ่อนเพลีย น้ำดอกไม้เทศเป็นน้ำกระสายยาสำหรับยาแก้อ่อนเพลียหรือบำรุงกำลัง
น้ำมันหอมระเหยจากกุหลาบมอญนับเป็น้ำมันหอมระเหยอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ในอะโรมาเธอราปี ซึ่งระบุว่า กลิ่นของกุหลาบมอญช่วยแก้ซึมเศร้า นอนไม่หลับ และกระตุ้นความกำหนัด
งานวิจัยในปัจจุบันได้ยืนยันฤทธิ์ต้านซึมเศร้าของน้ำมันหอมระเหยจากกุหลาบมอญ ดังเช่นงานวิจัยจากอเมริกา ที่แบ่งผู้หญิงที่คลอดลูกแล้วจำนวน 28 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับสุคนธบำบัด โดยใช้น้ำมันสูรผสมระหว่างกุหลาบมอญและลาเวนเดอร์ 14 คน (โดยการสูดดม 6 คน และโดยการนวดที่มือด้วยเอ็มเทคนิค 8 คน อาสาสมัครได้รับการรักษาสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที) และกลุ่มควบคุมซึ่งไม่ได้รับการรักษาพิเศษใดๆ จำนวน 14 คน หลังจากผ่านไป 4 สัปดาห์ ผู้หญิงที่ได้รับสุคนธบำบัดมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลน้อยกว่าผู้หญิงกลุ่มควบคุม ทั้งนี้ไม่พบอาการข้างเคียงใดๆ ในกลุ่มที่ได้รับสุคนธบำบัด
กลไกที่เกี่ยวข้องต่อผลดีของน้ำมันกุหลาบมอญ ต่ออาการซึมเศร้า อาจจะเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ดังงานวิจัยหนึ่งที่พบว่า การให้หนูทดลองที่ได้รับแรงกดดันให้เกิดอาการซึมเศร้า ได้รับไอน้ำมันกุหลาบมอญจะช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ นอกจากนี้ เมื่อนำสมองหนูดังกล่าวมาวิเคราะห์ก็พบว่า ไขมันในสมองหนูทดลองที่ได้รับไอน้ำมันกุหลาบมอญถูกทำลายจากอนุมูลอิสระ น้อยกว่าหนูทดลองที่ได้รับแรงกดดันเพียงอย่างเดียว อีกทั้งระดับสารต้านอนุมูลอิสระในสมองหนูทดลองที่ได้รับไอน้ำมันกุหลาบมอญก็สูงกว่าหนูทดลอง ที่ได้รับแรงกดดันเพียงอย่างเดียวอีกด้วย
เมื่อกุหลาบมีผล
กุหลาบที่เราเห็นโดยทั่วไปมักจะเน้นที่ดอก แต่ทว่า บางพันธุ์ก็ติดผลที่เอามารับประทานได้ดังเช่นกุหลาบญี่ปุ่นและอีกพันธุ์หนึ่งที่ฝรั่งเรียกว่า dog rose (Rosa canina) ซึ่งมีลักษณะเป็นพุ่มสูงได้ถึง 3 เมตร กระจายพันธุ์ในทวีปยุโรปตั้งแต่ตอนใต้ของนอร์เวย์ลงมา การแพทย์พื้นบ้านในยุโรปใช้ผลของกุหลาบชนิดนี้ป้องกันและรักษาโรคหวัด ไข้บำรุงภูมิคุ้มกัน บำรุงกระเพาะอาหาร แก้ท้องผูก เป็นต้น ปัจจุบันพบว่าผลกุหลาบมีผลดีต่อผู้ป่วยข้ออักเสบหรือปวดตามร่างกาย งานวิจัยจากเยอรมันและเดนมาร์กแสดงให้เห็นถึงผลดีของการเสริมผงผลกุหลาบวันละ 5 กรัม ต่ออาการของผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์ กลไกที่เกี่ยวข้องกับผลดีดังกล่าวน่าจะมาจากฤทธิ์ต้านการอักเสบของผลกุหลาบ นอกจากนี้การทดลองในหลอดทดลองยังแสดงให้เห็นว่าผลกุหลาบช่วยยับยั้งการอักเสบและการเสื่อมสลายของกระดูกอ่อนอีกด้วย
ผลกุหลาบอาจจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้ ดังงานวิจัยหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าช่วง 6 สัปดาห์ที่อาสาสมัครที่อ้วนดื่มเครื่องดื่มที่ผสมผลกุหลาบ จะมีค่าคอเลสเตอรอลโดยรวม ไขมันตัวเลว และความดันเลือดตัวบนน้อยกว่าช่วง 6 สัปดาห์ที่ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มดังกล่าว อย่างไรก็ตามอาสาสมัครพบอาการข้างเคียง ได้แก่ ถ่ายเหลวและท้องอืดในช่วงที่ดื่มเครื่องดื่มที่ผสมผลกุหลาบ
นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักระหว่างชายหนุ่มกับหญิงสาวแล้ว กุหลาบยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักที่ธรรมชาติมีต่อมนุษย์ ดังจะเห็นได้จากสรรพคุณที่แฝงอยู่ในความงามดังได้กล่าวไว้ข้างต้น
(Some images used under license from Shutterstock.com.)