© 2017 Copyright - Haijai.com
หมอฟันของหนู
“มนุษย์กล้อง” คำนี้เรียกว่าทันสมัยกันสุดๆ ปัจจุบันนี้ใครทำอะไรที่ไหน ก็ถูกถ่ายคลิปมาแชร์ลงโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟสบุ๊ค อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ หรือไลน์ และแล้วเรื่องราวของมนุษย์กล้องนี้ก็มาถึงในห้องทำฟันจนได้ ซึ่งคลิปนี้หมอจุ้มจิ้มได้รับส่งต่อมาจางทั้งไลน์และเฟสบุ๊ค เรื่องราวที่เป็นประเด็นของคลิปนี้คือเรื่องการปรับพฤติกรรมคนไข้เด็กของทันตแพทย์ โดยวิธีการใช้เสียง หลายท่านไม่มีบุตรหรือไม่เคยพาหลานไปทำฟัน อาจจะไม่ค่อยรู้จัก ดังนั้น วันนี้หมอจุ้มจิ้มจึงอยากจะมาอธิบายถึงวิธีการและขั้นตอนที่หมอฟันจะใช้ในการรักษาให้เด็กๆ เพื่อเป็นความรู้ให้กับทุกคนได้ทราบ
เวลาเด็กๆ มาทำฟัน สิ่งที่ยากที่สุด คือ เรื่องของความร่วมมือในการทำฟัน ซึ่งสิ่งที่จะตามมาก็คืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเด็กเอง ไม่ว่าจะเป็นของเหลวหรืออื่นๆ หลุดเข้าไปกั้นทางเดินหายใจ อีกทั้งเครื่องมือในการรักษาทางทันตกรรมก็มีทั้งเข็มฉีดยา หัวกรอ เครื่องตรวจปลายแหลม ถ้าเด็กดิ้นหรือสะบัด เครื่องมือเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะอื่นๆ ได้
ดังนั้น ความร่วมมือง่ายๆ ที่เด็กสามารถทำได้ โดยอาศัยการดูแลจากผู้ปกครองคือการแปรงฟันและทำความสะอาดฟันของน้องๆ ให้ดีๆ เพียงเท่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมืออันตรายเหล่านั้นแล้ว อย่างต่อมาคือ ถ้าฟันน้องขึ้นแล้ว หากพอมีเวลา ผู้ปกครองควรพาน้องๆ มาทำความรู้จักคุณหมอฟันใกล้บ้านไว้บ้าง จะได้พอคุ้นหน้ากัน และการมาเจอกันก่อนมีอาการใดๆ ก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรนอกจากตรวจฟัน แต่ที่สำคัญที่สุด คือ คุณพ่อคุณแม่ห้ามขู่ลูกให้กลัวหมอฟันไว้ล่วงหน้าโดยเด็ดขาด เช่น ไม่ยอมแปรงฟันจะพาไปให้หมอจับถอนฟันเลยอะไรประมาณนี้ เพราะจะทำให้เด็กกลัวหมอฟันมา ตั้งแต่ลุกจากเตียงนอนที่บ้านเลย ซึ่งพอมาถึงคลินิกเด็กก็คงไม่ฟังอะไรกันพอดี สำหรับวิธีการควบคุมพฤติกรรมของเด็กๆ ในระหว่างทำฟันที่ทางทันตแพทยสภาแจ้งไว้ มีขั้นตอนต่อไปดังนี้ค่ะ
การจัดการด้านการสื่อสาร
• การสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูด การใช้สัมผัส กริยา ท่าทาง หรือสีหน้าในทางส่งเสริมกำลังใจ เพื่อช่วยให้การสื่อสารด้วยวาจามีประสิทธิภาพขึ้น
• การบอก แสดง และทำ ก่อนที่จะทำอะไรกับคนไข้เด็ก หมอจะต้องบอกก่อนเสมอ เพื่อไม่ให้เด็กตกใจและต่อต้าน จากนั้นจะสาธิตวิธีนั้นๆ ให้เด็กดูอย่างเช่น เวลาจะเอาที่ดูดน้ำลายเข้าปาก หมอก็จะต้องบอกว่า “เดี๋ยวหมอจะเอาหลอดดูดน้ำมหัศจรรย์ให้ดูนะคะ” แล้วก็สาธิตให้ดูด้วยการดูดน้ำในแก้วหลายๆ ครั้ง
• การส่งเสริมทัศนคติเชิงบวก เช่น การชมเชยหรือให้รางวัล เพื่อเป็นแรงเสริมให้คงพฤติกรรมที่ดีไว้ เช่น เก่งจังเลย หรือแปรงฟันเก่งแบบนี้นี่เองฟันของเด็กเลยสวยมาก เป็นต้น
• การเบี่ยงเบนความสนใจจากการรักษาที่อาจก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ ตัวอย่างที่พบได้ประจำคือ เวลาเคลือบฟลูออไรด์ที่เด็กๆ ต้องอมฟลูออไรด์ไว้ในปากนานถึง 5 นาทีนั้น คุณหมอจะเบี่ยงเบนความสนใจ ด้วยการให้ดูนาฬิกาทรายหรืออื่นๆ ที่ช่วยจับเวลา และบอกเด็กว่า เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วให้ช่วยรีบบอกคุณหมอด้วย เป็นต้น
• การใช้น้ำเสียง ซึ่งเป็นประเด็กสำคัญของบทความนี้ นั่นคือ การใช้เสียงที่ดังกับเด็กๆ เป็นการ “ดึงความสนใจ เพื่อเปิดช่องทางสื่อสารกับคนไข้เด็ก” นั่นเอง โดยคุณหมอจะใช้เสียงดังเพื่อที่จะ “หยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ก่อนที่จะเรียกความสนใจ เพื่อสื่อสารกับคนไข้ได้ต่อไป” แต่วิธีการใช้เสียงแบบนี้ ต้องทำตอนที่เชิญผู้ปกครองออกจากห้องทำฟันไปแล้ว จึงจะได้ผลดี แต่วิธีนี้ใช้ไม่นานนะคะ ถ้าใช้เต็มที่ในครั้งแรกๆ แล้วไม่ได้ผล ก็ต้องเปลี่ยนเป็นวิธีอื่น
การแยกผู้ปกครองจากเด็ก
เป็นการเชิญผู้ปกครองออกจากห้องทำฟัน โดยทิ้งคนไข้เด็กไว้กับหมอ เป็นหนึ่งในวิธีการที่จะให้เด็กสนใจแต่คุณหมอคนเดียวเท่านั้น แต่โดยทั่วไปถ้าเด็กร่วมท้อดีในการทำฟัน หมอทุกคนก็อยากจะให้ผู้ปกครองอยู่ด้วยขณะทำฟันค่ะ เพราะจะพูดคุยอธิบายปัญหาได้เลยทันที เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้กลับไปดูแลกันได้อย่างถูกต้องที่บ้าน แต่หลายครั้งเด็กที่ร้องมาก ไม่ให้ความร่วมมื้อมากๆ การแยกผู้ปกครองจะช่วยให้เด็กร่วมมือและเชื่อฟังหมอได้ดีขึ้น ซึ่งถ้าหมอเชิญผู้ปกครองออกนอกห้อง ผู้ปกครองต้องเดินออกนอกห้องทันทีนะคะ อย่าลังเล
HOME ย่อมาจาก Hand Over Mouth Exercise
วิธีการนี้คือเชิญผู้ปกครองออกจากห้อง ทันตแพทย์ใช้มือปิดปากผู้ป่วยอย่างนุ่มนวล โดยไม่รบกวนทางเดินหายใจ แล้วจึงบอกให้ปฏิบัติพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เมื่อผู้ป่วยแสดงว่าควบคุมตนเองได้แล้ว และปฏิบัติตามคำแนะนำดีขึ้น จึงเอามือออกและให้กำลังใจส่งเสริม เช่น การชมเชยทันที วิธีการเหล่านี้หากนึกภาพตามแล้ว อาจจะดูรุนแรง แต่ผู้ปกครองไม่ต้องตกใจนะคะ หมอทุกคนผ่านการสอนถึงวิธีการใช้มาแล้วอย่างถูกต้อง ตามหลักวิชาการค่ะ
การจัดการให้ผู้ป่วยอยู่นิ่ง
ทันตแพทย์ ทีมงานทันตแพทย์ หรือผู้ปกครองจับยืดหรือรัดตรึงผู้ป่วยบางส่วนหรือทั้งตัว เพื่อให้ผู้ป่วยอยู่นิ่งเพียงพอที่จะให้การรักษา โดยใช้หรือไม่ใช้อุปกรณ์ช่วย และควรใช้การจัดการพฤติกรรมเชิงการสื่อสาร (communicative behavior management) ร่วมด้วย แต่ในกรณีที่ใช้เครื่องมือช่วยเหล่านี้ ถ้าเด็กต่อต้านหรือดิ้นมาก ก็อาจจะมีรอยแดงรอยรัดต่างๆ เกิดขึ้นได้ หมอจึงต้องแจ้งผู้ปกครองให้ทราบไว้ล่วงหน้า แต่เมื่อเทียบกันแล้วปลอดภัยกว่าปล่อยให้โดนเครื่องมือหมอบาด ดิ้นสะบัดจนเครื่องมือหมอไปโดนอวัยวะสำคัญอื่นๆ หรือบางทีอาจจะดิ้นจนตกเก้าอี้ทำฟันแน่ๆ ค่ะ
การทำให้ สงบ / สลบ
คือ การปรับพฤติกรรมผู้ป่วยโดยการใช้ยาหรือสารที่มีฤทธิ์ทางยา เช่น ก๊าซ ยา ที่มีผลลดความกังวล สงบระงับ หรือยาสลบ จำเป็นต้องมีผู้ให้การักษาที่มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ในด้านนี้โดยเฉพาะ ในต่างประเทศทำกันมานานแล้ว ในประเทศไทยสถานที่ที่สามารถทำแบบนี้ได้ก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่จะใช้ในกรณีที่จำเป็นสุดๆ และทำในสถานที่ที่มีความพร้อมจริงๆ เท่านั้น ไม่สามารถทำกันโดยทั่วไปได้ค่ะ
ทั้งหมดนี้คือวิธีการที่หมอฟันจะนำมาใช้ในการปรับพฤติกรรมเด็ก ซึ่งพฤติกรรมของเด็กๆ นั้นเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากมาก ในคนเดียวกันแท้ๆ บางวันดี บางวันไม่ดี แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไหน หมอฟันทุกคนก็พยายามงัดทุกกลเม็ดมาใช้ล่ะค่ะ หมอฟันทุกคนทราบดีค่ะว่า คนเป็นพ่อแม่ทุกคนรักลูกเป็นที่สุด ไม่อยากให้ลูกร้อง ไม่อยากให้ลูกเจ็บ ซึ่งหมอเองก็ไม่อยากเห็นเด็กร้องไห้เช่นกัน หมออยากเห็นเด็กๆ ทุกคนเดินเข้าออกห้องฟันอย่างมีความสุขค่ะ สิ่งสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยกันนะคะ ช่วยแปรงฟันทำความสะอาดช่องปากให้ลูก พามาหาหมอฟันเพื่อตรวจฟันเป็นประจำ แค่นี้เด็กๆ ทุกคน ก็จะมีความสุขเวลามาหาหมอฟันแล้วค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง
ทันตแพทยสภา, คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ทพญ.กิตติลักษณ์ จุลลัษเฐียร
ทันตแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)