
© 2017 Copyright - Haijai.com
คาวา
คาวา (Piper methysticum) เป็นพืชสมุนไพรที่พบในแถบเอเชียแปซิฟิก สาระสำคัญของคาวาคือ “คาวาแลคโตน” ซึ่งมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อและสงบระงับ สมุนไพรชนิดนี้จึงนำมาใช้รักษาอาการวิตกกังวล อาการข้างเคียงจากการรับประทานคาวา ได้แก่ ผิวแห้งเหลืองบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และหลัง ระคายเคืองทางเดินอาหาร ปวดศีรษะ ง่วงนอน เนื่องจากคาวามีความเป็นพิษต่อตับ และมีปฏิกิริยากับยาอื่นหลายชนิด ดังนั้น ก่อนใช้สารสกัดจากคาวาจึงต้องปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง
คาวา เป็นพืชสมุนไพรที่พบในแถบเอเชียแปซิฟิค จัดอยู่ในตระกูลพริกไทย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Piper methysticum Forst. โดยมากมักใช้ในทางการแพทย์และการเสพสุข สามารถแบ่งออกเป็นเกรดต่างๆ เช่น คาวาป่า คาวาสำหรับการแพทย์ คาวาสำหรับการเสพสุข ซึ่งแต่ละเกรดอาจมีสาระสำคัญและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่แตกต่างกันบ้าง โดยคาวาที่ใช้ในทางการแพทย์จัดเป็นคาวาในเกรดชั้นสูง (Nobel kava cultivar) โดยเป็นต้นไม้ที่มีอายุมากกว่า 5 ปี การสกัดต้องใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย ไม่ควรใช้แอลกอฮอล์หรือเหล้าร่วมในการสกัด ส่วนของคาวาที่ใช้คือเหง้าที่ลอกเปลือกแล้วและส่วนราก โดยจะให้สารออกฤทธิ์ที่สำคัญคือ คาวาแลคโตน (ได้แก่ kavain, dihydrokavain, methysticin, dihydromethysticin, yangonin และ desmethoxyyangonin) ในปัจจุบันยังไม่มีองค์การทางอาหารกำหนดขนาดสูงสุดของคาวาแลคโตนที่รับประทานได้ในแต่ละวัน อย่างไรก็ตามขนาดของคาวาแลคโตนที่ใช้สำหรับการวิจัยอยู่ในช่วงระหว่าง 105-240 มิลลิกรัมต่อวัน โดยใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5-7 สัปดาห์
ผลของสารสกัดจากคาวาต่อสุขภาพ
เนื่องจากคาวาแลคโตนไม่ใช่สารอาหาร จึงไม่มีความจำเป็นต่อร่างกาย สารคาวาแลคโตนมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ ทำให้ชา และฤทธิ์สงบระงับ ในทางการแพทย์สารสกัดจากคาวา ถูกใช้เพื่อการรักษาอาการวิตกกังวล อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพดังกล่าวไม่ได้แตกต่างไปจากยาต้านซึมเศร้า หรือยาในกลุ่ม benzodiazepines ซึ่งเป็นยาหลักที่ใช้รักษาความวิตกกังวลในปัจจุบัน ที่ผ่านมายังไม่มีงานวิจัยยืนยันประสิทธิภาพของคาวาสำหรับการรักษาโรคหรืออาการอื่นๆ
การรับประทานคาวาในขนาดสูงเกินกว่าขนาดที่แนะนำ ทำให้เกิดอาการเหมือนเมาสุราได้ นอกจากนี้คาวายังมีอาการข้างเคียงอื่นๆ ได้แก่ ความผิดปกติทางผิวหนัง โดยจะมีอาการผิวแห้งเหลืองบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และหลัง ซึ่งเป็นอาการที่หายไปเอง อาการข้างเคียงที่รุนแรงจากากรใช้คาวาคือพิษต่อตับ โดยขนาดของคาวาแลคโตนที่ทำให้เกิดพิษต่อตับอยู่ในช่วง 45-1200 มิลลิกรัมต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ -1 ปี อาการข้างเคียงอื่นๆ ที่ไม่รุนแรงจากการใช้สารสกัดคาวา ได้แก่ ระคายเคืองทางเดินอาหาร ปวดศีรษะ ง่วงนอน
ปฏิกิริยาระหว่างยา
คาวามีพิษต่อตับจึงต้องหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาที่มีพิษต่อตับ เช่น พาราเซตามอล แอลกอฮอล์ ยาฆ่าเชื้อราบางชนิด (เช่น ketoconazole) ยาต้านวัณโรคบางชนิด (เช่น isoniazid) สารสกัดจากคาวาออกฤทธิ์คลายความกังวลผ่านระบบประสาทส่วนกลาง จึงไม่ควรใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง จึงไม่ควรใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยานอนหลับ ยาคลายกังวล คาวารบกวนการหลั่งโดปามีนได้ จึงอาจรบกวนการออกฤทธิ์ของยา levodopa ได้ เนื่องจากสารเคมีในคาวาถูกเปลี่ยนแปลงผ่านเอนไซม์สำคัญ ที่ตับใช้ทำลายยา (cytochrome P450) และยังถูกขนส่งโดยโปรตีนขนส่งยาที่สำคัญ (P-glycoprotein) จึงเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นได้หลายชนิดมาก ดังนั้น ก่อนใช้สารสกัดจากคาวา จึงต้องปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง
ข้อแนะนำ
คาวาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์ทางยาและสามารถก่ออาการข้างเคียง ที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ผู้ที่มีโรคตับ โรคพาร์กินสัน โรคซึมเศร้า หรือโรคประจำตัวอื่นๆ ไม่ควรใช้สารสกัดจากคาวา เพื่อบรรเทาอาการวิตกกังวลหรือ เพื่อสันทนาการ เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตรไม่ควรรับประทานสารสกัดจากคาวา เนื่องจากไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยรองรับ ควรตระหนักว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิด สามารถเกิดพิษหรือทำให้ร่างกายแพ้ได้ ไม่แตกต่างจากการใช้ยา
ภก.ณัฐวุฒิ ลีลากนก
(Some images used under license from Shutterstock.com.)