Haijai.com


ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านการพูดและภาษา


 
เปิดอ่าน 4324

แก้ไขการพูด

 

 

ปัญหาด้านสุขภาพที่พบได้บ่อยอีกปัญหาหนึ่งในผู้สูงอายุ คือ ปัญหาความผดปกติด้านภาษาและการพูดโดยส่วนใหญ่มักพบในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง มีพบบ้างในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง มีพบบ้างในกลุ่มผู้ป่วยโรคพาร์กินสันและอัลไซเมอร์ ดังนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้ ผู้ป่วยจึงควรได้รับการฟื้นฟูทางด้านภาษาและการพูดให้เร็วที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยมีความภาคภูมิใจในตนเอง และลดการเป็นภาระของญาติและผู้ดูแลนอกจากนี้ ความรวดเร็วในการเข้ารับการฟื้นฟูยังส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาอีกด้วย กล่าวคือ หากผู้ป่วยเริ่มรักษาได้เร็วภายใน 3-6 เดือนแรก หลังเกิดความผิดปกติ ผลของการรักษาจะออกมาดีกว่าผู้ป่วยที่มารับการรักษาหลังจากเป็นมาแล้วปีหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด

 

 

ลักษณะความผิดปกติ

 

ความผิดปกติทางด้านภาษาและการพูดที่พบนั้น มีหลายลักษณะ หนึ่งในนั้นคือความบกพร่องทางภาษาหรืออะเฟเซีย (Aphasia) หมายถึง ความผิดปกติของกระบวนการในการเข้าใจภาษา และการใช้ภาษาเพื่อการสื่อความหมาย เนื่องจากมีพยาธิสภาพในสมองบริเวณส่วนที่เกี่ยวกับภาษา เป็นผลทำให้ผู้ป่วยมีความบกพร่องทางด้านภาษาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน เช่น ความสามารถในการฟังเข้าใจ การพูดเอง การพูดตาม การอ่านหรือการเขียน เป็นต้น การพูดเอง การพูดตาม การอ่านหรือการเขียน เป็นต้น ตัวอย่างปัญหาความบกพร่องทางภาษาในผู้ป่วยอะเฟเซียที่พบ เช่น

 

 ปัญหาการออกเสียงพยัญชนะและสระต่างๆ

 

 

 ผู้ป่วยอะเฟเซียบางรายพูดคำต่างๆ ไม่ชัดเจน หรือพูดแล้วคนอื่นฟังไม่รู้เรื่อง

 

 

 พูดไม่คล่อง ตะกุกตะกัก ทำให้ไม่สามารถพูดเป็นประโยคยาวๆ ได้

 

 

 มีปัญหาในการนึกคิดคำพูด หรือคำศัพท์ต่างๆ ใช้เวลานานในการนึกชื่อสิ่งต่างๆ

 

 

 ในรายที่รุนแรงจะพูดสิ่งที่เรียงตามลำดับอย่างมีระเบียบได้อย่างลำบาก เช่น นับเลข ไล่วันเดือน ไม่ถูกต้อง

 

 

 มีปัญหาในการฟังเข้าใจคำพูด ในรายที่เป็นรุนแรง จะไม่สามารถชี้สิ่งต่างๆ ตามที่ผู้อื่นบอกได้ เช่น ถามว่าดินสออยู่ไหน กางเกงอยู่ไหน ก็จะทำไม่ได้ แต่ถ้ามีปัญหาในระดับปานกลาง ผู้ป่วยจะเข้าใจคำสั่งต่างๆ ได้พอสมควร แต่ถ้าประโยคที่พูดนั้น ยาวหรือซับซ้อนมากขึ้น ผู้ป่วยจะฟังไม่เข้าใจ

 

 

สำหรับความคาดหวังในการรักษาขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ ในรายที่เป็นรุนแรงมากจนไม่สามารถสอนพูดหรือเขียนได้ การรักษาจะตั้งเป้าไปที่การช่วยให้ผู้ป่วยฟังรู้เรื่อง สามารถสื่อสารโต้ตอบด้วยลักษณะท่าทาง เช่น พยักหน้า ส่ายหน้าได้

 

 

ปัจจัยที่ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ

 

 ทัศนคติของผู้ป่วย มีความสำคัญมาก ผู้ป่วยที่มีทัศนคติเชิงบวก คือ อยากหาย อยากดีขึ้น จะให้ความร่วมมือในการฝึกฝนเป็นอย่างดี ทำให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้เร็ว อย่างไรก็ตามพบว่าสัดส่วนของผู้ป่วยที่ให้ความร่วมมือและไม่ให้ความร่วมมือนั้น มีจำนวนเท่าๆ กัน คือ ในผู้ป่วย 100 คน จะพบผู้ที่ให้ความร่วมมือ 50 คน ที่เหลืออีก 50 คือ กลุ่มที่ไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความไม่พร้อมด้านจิตใจ ยังรับกับสภาพของตัวเองที่เป็นแบบนี้ไม่ได้

 

 

 ญาติและผู้ดูแล มีส่วนสำคัญในการช่วยฝึกฝนผู้ป่วยตามวิธีที่นักแก้ไขการพูดแนะนำ เพราะผู้ป่วยจะใช้เวลาอยู่กับญาติ และผู้ดูแลมากกว่าผู้ทำการรักษาที่อาจเจอกันเพียงแค่สัปดาห์ละครั้งเท่านั้น

 

 

 ความถี่ในการรักษา การมารับการฝึกอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ เพราะการเข้ารับการฝึกแต่ละครั้ง ผู้ป่วยจะได้แบบทดสอบที่ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ ในกรณีที่ผ่านการทดสอบบทเรียนเดิมแล้ว

 

 

วิธีปฏิบัติตนต่อผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านภาษาและการพูด

 

 ผู้ป่วยที่มีปัญหาการพูดมักมีภาวะซึมเศร้าและเครียดมากกว่าผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต ที่ไม่มีปัญหาการพูด เพราะเขารู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจเขา ไม่มีใครฟังเขา บางรายถึงขั้นไม่ยอมพูดหรือสื่อสารอะไรเลย ซึ่งการกระทำเช่นนี้จะยิ่งทำให้พัฒนาการด้านภาษาและการพูดถดถอยลงไปอีก ญาติจึงควรเข้าใจผู้ป่วย แบ่งเวลาให้กับเขา ชวนคุยเรื่องที่เขาสนใจ หรือทำกิจกรรมที่เขาชื่นชอบ เช่น ฟังเพลง ซึ่งผู้ป่วยบางคนอาจจะร้องคลอไปด้วย เป็นการฝึกการออกเสียงเพลิดเพลินอีกวิธีหนึ่ง

 

 

 ผู้ป่วยบางรายมักคำนึงถึงแต่เรื่องของตนเอง ผู้ดูแลจึงควรระวังในการเลือกเรื่องสนทนา อย่าให้เขาหมกมุ่นกับเรื่องของตนเองมากนัก

 

 

 อย่าปฏิบัติต่อผู้ป่วยเหมือนผู้ป่วยเป็นเด็ก ควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน และให้ความเคารพเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติมารวมทั้งให้โอกาสผู้ป่วยได้ช่วยเหลือตนเองบ้าง

 

 

 สังเกตความสามารถในการสื่อภาษาของผู้ป่วยโดยละเอียด รู้จักที่จะชมและให้กำลังใจ ถ้าผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แม้เพียงเล็กน้อย แต่ไม่ควรชื่นชมจนเกินจริง และไม่ควรแสดงความกังวลใจ เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถทำได้ เพราะจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกดดัน ข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างอาจข้ามผ่านไปบ้างก็ได้

 

 

 ช่วยเหลือฝึกทักษะด้านภาษาและทำตามคำแนะนำของนักแก้ไขการพูด ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ ผู้ดูแลควรหาจังหวะช่วงที่ผู้ป่วยอารมณ์ดีๆ ค่อยๆ เข้าไปหาและชวนเขาฝึก แต่ถ้าผู้ป่วยกำลังอยู่ในอารมณ์หงุดหงิด ก็ไม่ควรไปรบกวน

 

 

 ควรพูดกับผู้ป่วยช้าๆ ใช้คำศัพท์ที่ง่ายๆ พูดคำสั้นๆ ฟังเข้าใจง่าย เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้บางครั้งมีปัญหาการฟังเข้าใจ ไม่สามารถจับใจความประโยคยาวๆ ได้

 

 

สุดท้ายนี้สิ่งที่อยากจะฝากไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านภาษาและการพูดคือ อยากให้ผู้ป่วยพยายามสื่อสารตามปกติ แม้จะพูดไม่ชัดก็ไม่เป็นไร เพราะการพูดในชีวิตประจำวัน นับว่าเป็นการฝึกฝนทักษะทางภาษาอย่างหนึ่งด้วย นอกจากนี้ผู้ป่วยควรมารับการฝึกจากนักแก้ไขการพูดอย่างต่อเนื่อง และควรฝึกฝนเป็นประจำสม่ำเสมอ ซึ่งตรงจุดนี้ญาติและผู้ดูแลจะมีส่วนช่วยได้มาก หากปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว เชื่อได้ว่าผู้ป่วยจะต้องมีพัฒนาการด้านการพูดและการใช้ภาษาที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

 

 

สมจิต รวมสุข

นักแก้ไขการพูด

(Some images used under license from Shutterstock.com.)