Haijai.com


มะเร็งกล่องเสียง


 
เปิดอ่าน 1858

มะเร็งกล่องเสียง

 

 

มะเร็งกล่องเสียง หมายถึง เนื้องอกร้ายที่เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อบุผิวของกล่องเสียง เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่งของคนทั่วโ,ก (พบได้ประมาณร้อยละ 2 ของมะเร็งทั้งหมด) ถึงแม้ยังไม่ติด 1 ใน 10 ของมะเร็งที่พบบ่อยก็ตาม แต่ถ้านับเฉพาะมะเร็งของ หู คอ จมูก มะเร็งกล่องเสียงจะอยู่ในอันดับที่ 3 รองลงมาจากมะเร็งหลังโพรงจมูก และโรคมะเร็งโพรงจมูก

 

 

กล่องเสียงเป็นอวัยวะที่อยู่ด้านหน้าของลำคอ ขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร ประกอบด้วยกล้ามเนื้อสองแถบที่ทำหน้าที่เป็นสายเสียง และมีกระดูกอ่อนอยู่ทางด้านหน้า โดยอาจแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนบน ส่วนกลาง และส่วนล่าง มีหน้าที่ในการออกเสียง ช่วยการหายใจ และช่วยการกลืนอาหาร การเปิด-ปิดของกล่องเสียงจะสัมพันธ์กับการหายใจ การพูด และการกลืนอาหาร

 

 การหายใจ เมื่อกลั้นหายใจ สายเสียงจะปิดแน่น แต่เมื่อมีการหายใจ สายเสียงจะผ่อนคลายและเปิดออก

 

 

 การพูด เวลาพูดจะมีการเคลื่อนไหวของสายเสียงเข้าหากัน ลมจากปอดจะผ่านสายเสียง และทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของสายเสียง แรงสั่นสะเทือนนี้เอง ที่ทำให้เกิดเสียงขึ้น

 

 

 การกลืน กล่องเสียงจะป้องกันไม่ให้อาหารและน้ำสำลักลงไปในหลอดลมและปอด

 

 

กล่องเสียงแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ

 

 ส่วนที่อยู่เหนือสายเสียง ส่วนนี้มีทางเดินน้ำเหลืองมากมาย เมื่อเกิดมะเร็งของกล่องเสียงส่วนนี้ จึงกระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองได้สูง

 

 

 ส่วนสายเสียง ส่วนนี้ไม่ค่อยมีทางเดินน้ำเหลือง เมื่อเกิดมะเร็งของกล่องเสียงส่วนนี้ จึงมักไม่ค่อยกระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง

 

 

 ส่วนที่อยู่ใต้สายเสียง ซึ่งเป็นส่วนที่ติดต่อกับท่อลมและมีทางเดินน้ำเหลืองติดต่อกันส่วนช่องอก ดังนั้น เมื่อเกิดมะเร็งของกล่องเสียงส่วนนี้จึงกระจายเข้าท่อลม และต่อมน้ำเหลืองในช่องอกได้สูง

 

 

อุบัติการณ์ของมะเร็งกล่องเสียง

 

มะเร็งกล่องเสียงพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 10 เท่า และพบบ่อยในผู้สูงอายุที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน โดยเฉลี่ยอายุของผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 50-70 ปี ในสหรัฐอเมริกาพบมะเร็งกล่องเสียงได้ประมาณ 5 รายต่อประชากร 100,000 คน (รวมทั้งผู้หญิงและผู้ชาย) ต่อปี ส่วนในประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ.2544-2546 พบโรคนี้ในผู้หญิง 0.3 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คน และในผู้ชาย 2.5 รายต่อประชากรชาย 100,000 คน มะเร็งกล่องเสียงสามารถเกิดได้กับกล่องเสียงในทุกตำแหน่ง โดยในคนไทยพบมะเร็งที่กล่องเสียงส่วนที่อยู่เหนือสายเสียงมากที่สุด รองลงไปคือกล่องเสียงส่วนสายเสียง และกล่องเสียงส่วนที่อยู่ใต้สายเสียงตามลำดับ

 

 

สาเหตุและกลุ่มเสี่ยง

 

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของมะเร็งกล่องเสียง แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งกล่องเสียง ได้แก่

 

 การสูบบุหรี่ การเผาไหม้ของบุหรี่สามารถทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง นอกจากนั้นควันบุหรี่จะทำให้ขนกวัดของเยื่อบุกล่องเสียงหยุดการเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวช้าลง มีสารคัดหลั่งหรือสารระคายเคืองค้างอยู่ ทำให้เยื่อบุของกล่องเสียงหนาตัวขึ้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพเซลล์กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ พบว่าปัจจัยนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด

 

 

 การดื่มสุรา แอลกอฮอล์สามารถไปกระตุ้นเยื่อบุของกล่องเสียง เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพเซลล์กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

 

 

 การอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุกล่องเสียง เช่น จากคอหรือหลอดลมที่อักเสบเรื้อรัง

 

 

 มลพิษทางอากาศ การสูดดมอากาศที่เป็นพิษ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่น ควัน สารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรม

 

 

 การติดเชื้อไวรัส เชื้อไวรัสสามารถทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงและแบ่งเซลล์ผิดปกติได้ ไวรัสยังสามารถ่ายทอดยีนทางพันธุกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งในคนรุ่นต่อไปได้ ซึ่งการติดเชื้อ human papilloma virus (HPV)-16 และ 18 มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเกิดมะเร็งกล่องเสียง

 

 

 การฉายรังสี การรักษาโดยการฉายรังสีก้อนเนื้อบริเวณคอ สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้

 

 

 ฮอร์โมนเพศ ผลการทดลองที่เกี่ยวข้องแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงจะมีเซลล์ตัวรับสัญญาณ เอสโรเจนรีเซบเตอร์ (Estrogen receptor, ER) เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

 

อาการของมะเร็งกล่องเสียง

 

 เสียงแหบเรื้อรัง ซึ่งหากมะเร็งเกิดที่กล่องเสียงส่วนสายเสียง จะแสดงอาการนี้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก แต่หากเป็นที่กล่องเสียงส่วนอื่น อาการเสียงแหบที่เกิดขึ้นมักจะแสดงว่ามะเร็งอยู่ในระยะที่ลุกลามแล้ว

 

 

 กลืนอาหารลำบาก กลืนติด กลืนแล้วเจ็บ หรือสำลัก

 

 

 มีเสมหะปนเลือด

 

 

 หายใจไม่ออก หายใจติดขัด หายใจลำบาก

 

 

 เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

 

 

 มีก้อนโตที่คอ (ก้อนมะเร็งที่ลุกลามออกมา หรือต่อมน้ำเหลืองที่มะเร็งแพร่กระจายมา) อาจมีเพียงก้อนเดียวหรือหลายๆ ก้อนได้พร้อมกัน

 

 

 เจ็บคอเรื้อรัง มีความรู้สึกเหมือนก้างติดคอ

 

 

 ปวดหูหรือไอเรื้อรัง

 

 

เมื่อผูป่วยมีอาการดังข้างต้น ซึ่งอาจจะบ่งบอกว่าเป็นมะเร็งกล่องเสียง ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยสาเหตุของอาการดังกล่าว

 

 

การดำเนินโรคของมะเร็งกล่องเสียง

 

ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง มักจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิต มักเกิดจากากรลุกลามแพร่กระจายของมะเร็ง จนอุดกล่องเสียงทำให้หายใจไม่สะดวก หรือลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง ได้แก่ หลอดเลือดแดงใหญ่ของลำคอทำให้เกิดเลือดออกมากผิดปกติ หรือกดหลอดอาหารทำให้ไม่สามารถกลืนอาหารได้ เป็นต้น แต่หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ก็สามารถช่วยให้ขาดและพูดได้เป็นปกติ หรือแม้แต่ในรายที่เป็นระยะลุกลาม และได้รับการผ่าตัดกล่องเสียง ก็มักจะมีชีวิตยืนยาว และสามารถฝึกพูดจนสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้

 

 

รูปแบบการแพร่กระจายและลุกลามของมะเร็งกล่องเสียง

 

 การแพร่กระจายโดยตรง โรคมะเร็งกล่องเสียงระยะสุดท้าย มักจะแพร่กระจายโดยแทรกซึมลงไปในชั้นเยื่อบุกล่องเสียง ไปยังอวัยวะข้างเคียง เช่น ต่อมไทรอยด์ ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ติดกับกล่องเสียงทางด้านหน้า และหลอดอาหารซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ติดกับกล่องเสียงทางด้านหลัง

 

 

 การลุกลามไปยังน้ำเหลือง ตำแหน่งที่มีการลุกลามบ่อย จะอยู่ที่บริเวณหลอดเลือดแดงส่วนบนของคอต่อมา จะแพร่กระจายขึ้นไปตามหลอดเลือดดำในลำคอ และบริเวณเนื้อเยื่อน้ำเหลืองของคอ

 

 

 การแพร่กระจายทางหลอดเลือด มะเร็งสามารถแพร่กระจายไปตามการไหลเวียนของเลือดทั่วทั้งร่างกาย เช่น ไปปอด ตับ ไต กระดูก สมอง เป็นต้น

 

 

มะเร็งกล่องเสียงจัดเป็นโรคที่มีความรุนแรงปานกลาง แต่รักษาหายได้ โดยโอกาสในการรักษาหายนั้น ขึ้นกับระยะโรค ส่วนของกล่องเสียงที่เกิดโรค (เมื่อเกิดโรคที่กล่องเสียงส่วนสายเสียงจะมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่า ความรุนแรงของโรคจะสูงขึ้น เมื่อเกิดโรคที่กล่องเสียงส่วนที่อยู่เหนือสายเสียง และความรุนแรงของโรคจะสูงมากเมื่อเกิดโรคที่กล่องเสียงส่วนที่อยู่ใต้สายเสียง) อายุ และสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย

 

 

ระยะของมะเร็งกล่องเสียง

 

 ระยะที่ 1 มะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในกล่องเสียงเพียงส่วนเดียว

 

 

 ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามเข้ากล่องเสียงตั้งแต่ 2 ส่วนขึ้นไป

 

 

 ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามจนสายเสียงไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ และ/หรือ มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ซึ่งมีขนาดเล็กไม่เกิน 3 เซนติเมตรเพียง 1 ต่อม

 

 

 ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามเข้าผิวหนัง และ/หรือ ต่อมไทรอยด์ และ/หรือ หลอดอาหาร และ/หรือ มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตหลายต่อม และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองที่คอมีขนาดโตมากกว่า 6 เซนติเมตร และ/หรือ แพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ห่างจากต้นกำเนิดของมะเร็ง เช่น ปอดตับ กระดูก และสมอง เป็นต้น

 

 

โดยทั่วไปอัตรารอดที่ 5 ปี ในระยะที่ 1 ประมาณร้อยละ 70-90 ในระยะที่ 2 ประมาณร้อยละ 60-70 ในระยะที่ 3 ประมาณร้อยละ 40-60 ในระยะที่ 4 กลุ่มที่ยังไม่มีการแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต ประมาณร้อยละ 20-40 ถ้ามีการแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตแล้ว โอกาสที่จะอยู่ได้ 2 ปี ประมาณร้อยละ 30-50

 

 

การวินิจฉัย

 

การวินิจฉัยโรคมะเร็งกล่องเสียงสามารถทำได้โดย

 

 การใช้กระจกส่องลงไปตรวจที่กล่องเสียง เพื่อตรวจดูว่ามีเนื้องอกบริเวณกล่องเสียงหรือไม่

 

 

 การส่องกล้องตรวจที่กล่องเสียง และการตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยไปตรวจทางพยาธิวิทยาว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่

 

 

 การตรวจเลือด ปัสสาวะ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ป่วย สำหรับการดมยาสลบและส่องกล้องตรวจที่กล่องเสียง และการตัดชิ้นเนื้อ

 

 

 การตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น เอกซเรย์ปอด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อให้ทราบว่า เป็นมะเร็งระยะที่เท่าไร และมีการแพร่กระจายไปที่ใดบ้าง

 

 

รศ.นพ.ปารยะ อาสนะเสน

โสต ศอ นาสิก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจมูกและภูมิแพ้

(Some images used under license from Shutterstock.com.)