© 2017 Copyright - Haijai.com
ตรวจโรคด้วยตนเอง
ปัจจุบันเทคโนโลยีและความรู้ทางการแพทย์ได้เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้โรคภัยไข้เจ็บได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างทันท่วงที ผู้คนจึงมีอายุยืนยาว นอกเหนือจากการดูแลสุขภาพในเรื่องการรับประทานอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพบแพทย์ ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี การดูแลตัวเองและหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงเมื่ออยู่ที่บ้าน ก็นับว่ามีความสำคัญ เพราะเราสามารถตรวจหาความผิดปกติให้ตัวเองและคนรอบข้างได้ทุกวัน
การวัดดัชนีมวลกาย
การดูแลรูปร่างและน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน การวัดดัชนีมวลกาย สามารถทำได้ง่าย เพียงแค่ชั่งน้ำหนักและส่วนสูงอยู่เป็นประจำ ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) เป็นค่าดัชนีที่คำนวณจากน้ำหนักและส่วนสูง เพื่อใช้เปรียบเทียบความสมดุลระหว่างน้ำหนักตัวต่อความสูงของมนุษย์
โดยปกติ ให้ใช้น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม และส่วนสูงเป็นเมตร จะได้หน่วยเป็น กก./ม.(ยกกำลัง2) เกณฑ์ของดัชนีมวลกายมีดังนี้
• น้อยกว่า 18.5 (<18.5) แปลผลว่า ผอมเกินไป
• มากกว่าหรือเท่ากับ 18.5 แต่น้อยกว่า 25 (มากกว่าหรือเท่ากับ 18.5 แต่ < 25) แปลผลว่า เหมาะสม
• มากกว่าหรือเท่ากับ 25 แต่น้อยกว่า 30 (มากกว่าหรือเท่ากับ 25 แต่ < 30) แปลผลว่า น้ำหนักเกิน
• มากกว่าหรือเท่ากับ 40 แปลผลว่า อ้วนมากและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
การประเมินค่าดัชนีมวลกายนั้น จะต้องคำนึงถึงตัวแปรอื่นๆ เช่น มวลกล้ามเนื้อ มวลไขมัน ดังนั้นค่าดัชนีมวลกายจะไม่สามารถนำไปใช้ได้กับผู้ที่มีมวลกล้ามเนื้อมาก เช่น นักกีฬา นักเพาะกาย ที่มีน้ำหนักมากเกิน 100 กิโลกรัม แต่ไม่จัดอยู่ในขั้นอ้วนหรืออันตรายมาก
การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ (ชีพจร)
ชีพจรเป็นแรงสั่นสะเทือนของกระแสเลือด เมื่อกระทบผนังหลอดเลือดในขณะที่หัวใจบีบตัว ทำให้ผนังของหลอดเลือดแดงขยายออกเป็นจังหวะ ค่าปกติของชีพจรในผู้ใหญ่ คือ 60-100 ครั้งต่อนาที โดยมีความแรงและจังหวะของชีพจรที่สม่ำเสมอทุกครั้ง
ตำแหน่งและวิธีการวัดชีพจร
ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของผู้ตรวจวางตรงตำแหน่งเส้นเลือดแดง โดยตำแหน่งที่นิยมมากที่สุด คือ บริเวณข้อมือด้านใน (บริเวณเส้นเลือดแดง Radial) เพราะเป็นที่ที่จับได้ง่ายและไม่รบกวนผู้ป่วย ให้กดหรือสัมผัสแรงพอประมาณจนได้ความรู้สึกของการเต้นของชีพจร นับจำนวนครั้งของชีพจรใน 1 นาที หลีกเลี่ยงการใช้นิ้วหัวแม่มือสัมผัส เพราะนิ้วหัวแม่มือมีชีพจรที่เต้นแรง อาจทำให้สับสนกับชีพจรที่วัดได้ และควรนับชีพจรในขณะพัก
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อชีพจร
• เมื่ออายุเพิ่มขึ้นอัตราการเต้นของชีพจรจะลดลง ในผู้ใหญ่อัตราการเต้นของชีพจรโดยเฉลี่ย 80 ครั้งต่อนาที
• ค่าเฉลี่ยของชีพจรในผู้ชายจะต่ำกว่าหญิงเล็กน้อย
• อัตราการเต้นของชีพจรจะเพิ่มขึ้น เมื่อมีปัจจัยดังนี้ ทำกิจกรรมต่างๆ หรือออกกำลังกาย มีไข้ มีอารมณ์เครียด ตื่นเต้น หรือตกใจ ใช้ยาหรือสารเสพติดบางชนิด
• ท่าทางมีผลต่อชีพจร คือ เมื่ออยู่ในท่ายืนหรือนั่ง ชีพจรจะมากขึ้น ส่วนท่านอนชีพจรจะลดลง
• โรคบางชนิด เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ จะทำให้ชีพจรเต้นเร็ว
ควรรีบไปพบแพทย์เมื่อใด
• ควรรีบไปพบแพทย์เมื่อวัดค่าชีพจรได้ไม่สม่ำเสมอ หรือค่าที่วัดได้ต่ำกว่า 60 หรือมากกว่า 120 ครั้งต่อนาที ร่วมกับมีอาการเหงื่อออก ใจสั่น แน่นหน้าอก เป็นลมหมดสติ
การตรวจการตั้งครรภ์
การทดสอบการตั้งครรภ์ใช้หลักการวัดระดับฮอร์โมน hCG ซึ่งจะเพิ่มระดับสูงขึ้นในขณะกำลังตั้งครรภ์ โดยปกติจะใช้ระยะเวลาประมาณ 6 วันหลังจากการปฏิสนธิของไข่และอสุจิ การทดสอบการตั้งครรภ์นั้นมีอยู่ 2 แบบ คือ
• การตรวจปัสสาวะ ชุดทดสอบการตั้งครรภ์จะให้ผลแม่นยำที่สุด เมื่อทำการทดสอบหลังจากรอบเดือนขาดไปแล้ว 1 สัปดาห์และทดสอบด้วยน้ำปัสสาวะแรกหลังจากตื่นนอน อย่างไรก็ตามผลการทดสอบอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ เพราะโอกาสที่ตัวอ่อนจะฝังตัวบนผนังมดลูกหลังจากประจำเดือนไม่มาวันแรก มีสูงถึงร้อยละ 10 ซึ่งในกรณีนี้ ระดับฮอร์โมน hCG อาจจะยังไม่สูงพอที่จะวัดได้
• การตรวจเลือด วิธีการเจาะเลือดสามารถทดสอบการตั้งครรภ์ได้แม้ฮอร์โมน hCG มีระดับต่ำ การทดสอบเลือดนี้ สามารถทดสอบได้ตั้งแต่ช่วงวันที่ 6-8 หลังจากไข่ตก ขณะที่การทดสอบปัสสาวะนั้น ปกติจะทำการทดสอบหลังจากไข่ตกแล้วประมาณ 14-21 วัน
ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยน้ำปัสสาวะ
ส่วนใหญ่จะมีช่องแสดงผล 2 ช่อง คือ “ควบคุม” และ “ผลการทดสอบ” เมื่อปรากฏแถบสีหรือสัญลักษณ์บนช่อง “ควบคุม” นั่นแสดงให้เห็นว่า ชุดทดสอบนี้ทำงานปกติ ถ้าในช่อง “ควบคุม” ไม่ปรากฏแถบหรือสัญลักษณ์ใดๆ ที่ระบุไว้ตามคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์แล้ว หมายความว่าชุดทดสอบนั้นเสีย
ถ้าช่อง “ควบคุม” แสดงแถบสีปกติแล้วและมีแถบหรือสัญลักษณ์อีกอันหนึ่งปรากฏขึ้นมาที่ช่อง “ผลการทดสอบ” หมายความว่าผลการทดสอบเป็นบวก แสดงว่ากำลังตั้งครรภ์ ถ้าไม่ปรากฏแถบสีหรือสัญลักษณ์ในช่อง “ผลการทดสอบ” ตามคู่มือการทดสอบส่วนใหญ่แล้วผลคือไม่ตั้งครรภ์ แต่เพื่อให้เป็นที่แน่ใจที่สุดว่า ไม่ตั้งครรภ์ท่านควรทำการทดสอบอีกครั้ง หลังจากการทดสอบครั้งแรก 2-3 วัน หรือพบแพทย์เพื่อทำการทดสอบเลือดเพื่อยืนยัน
• ผลบวกปลอม เกิดจากการที่ฮอร์โมน hCG ถูกสร้างขึ้นมามากผิดปกติแม้ไม่ได้กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งอาจจะเกิดจากถุงน้ำที่รังไข่ การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือเข้าสู่วัยทอง
• ผลลบปลอม เกิดจากทดสอบการตั้งครรภ์ที่เร็วเกินไปหรือทดสอบด้วย น้ำปัสสาวะที่เจือจาง ส่วนการรับประทานยาคุมกำเนิดหรือยาปฏิชีวนะไม่ส่งผลกระทบต่อการทดสอบการตั้งครรภ์
อาการที่แสดงว่ากำลังครรภ์
• ขาดประจำเดือน
• เวียนศีรษะ คลื่นไส้และอาเจียน
• คัดตึงเต้านม
• ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
การมีสุขภาพดีนั้นไม่ใช่เรื่องที่ฝากไว้ที่บุคลากรทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องอาศัยการเอาใจใส่ของประชาชนด้วย ทั้งการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติและการหมั่นสังเกตตนเอง ตามวิธีที่ได้กล่าวไว้แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ด้วยตนเองอย่างง่ายดาย เมื่อทำเช่นนี้การมีสุขภาพที่ดีและมีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมย่อมไม่ใช่เรื่องยาก
นพ.คมน์สิทธิ์ เดชะรินทร์
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)