
© 2017 Copyright - Haijai.com
หัวใจขาดเลือด
โรคหัวใจขาดเลือด หรือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย-ขาดเลือด เป็นโรคหนึ่งในห้าโรคที่เป็นสาเหตุการป่วย พิการและตายมากที่สุดของชาวโลกและชาวไทย “โรคยาห้าโรค” ได้แก่ เบาหวาน ความดันเลือดสูง หลอดเลือดหัวใจตีบตัน หลอดเลือดสมองตีบ-อัมพฤกษ์-อัมพาต และมะเร็ง คำขวัญของวันหัวใจโลก ปีนี้ (พ.ศ.2557-2558) คือ “Heart Choices, not Hard Choices” หรือแปลไทยว่า “ทางเลือกรักษ์หทัย ไม่ยากอย่างที่คิด” เรามาลองทดสอบตนเองว่าเรารู้จักโรคหัวใจขาดเลือดมากน้อยแค่ไหน เราดูแลตนเองถูกต้อง เหมาะสมมากน้อยเพียงใด
หลอดเลือดหัวใจตีบตันแล้ว แม้ขยายหลอดเลือดหัวใจให้ไม่ตีบหรือผ่าตัดต่อหลอดเลือดที่ตีบตัน ให้หัวใจหายขาดเลือดก็ยังถือว่า “ไม่หายขาด” เพราะหลอดเลือดหัวใจตีบตันใหม่ได้อีก ถ้าปัจจัยเสี่ยงยังมีอยู่ แล้วจะทำอย่างไรดี
• A.ลด ละ เลิก ปัจจัยเสี่ยง/ปัจจัยกระตุ้น
• B.หาอาหารเสริมมากินป้องกันไม่ให้หลอดเลือดตีบ
• C.กินยาที่แพทย์ให้มาอย่างสม่ำเสมอ
คำตอบคือ ข้อ A
ยังไม่พบการศึกษาใดที่น่าเชื่อถือเพียงพอ และแสดงให้เห็นว่าอาหารเสริมช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดหัวใจตีบตัน การกินยาอย่างเดียวโดยไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยง/ปัจจัยกระตุ้น ไม่อาจป้องกันการเกิดหลอดเลือดตีบได้
ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกด้านซ้าย (ที่เคยเป็นมาก่อน) ร้าวไปแขนซ้ายขณะเดินขึ้นบันได ควรจะทำอย่างไร
• A.ขับรถไปโรงพยาบาลด้วยตนเอง
• B.รีบโทรศัพท์บอกญาติให้พาไปโรงพยาบาล
• C.อมยาใต้ลิ้นหลังจากนั่งพักแล้วไม่หายแน่นหน้าอก
คำตอบคือ ข้อ C
เมื่อผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหมือนที่เคยเป็นมาก่อน ขณะที่หัวใจเต้นเร็วเต้นแรง ไม่ต้องให้ญาติพาไปโรงพยาบาลทันที แต่ให้หยุดกิจกรรมที่ทำอยู่และนั่งพักสัก 3-5 นาที หายใจเข้าออกช้าๆ ยาวๆ ให้สบาย ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรอมยาใต้ลิ้น 1 เม็ด จากนั้นรอ 10 นาที ถ้าไม่ดีขึ้นให้อมอีก 1 เม็ด รออีก 10 นาที ถ้าไม่มียาอมใต้ลิ้น อาการไม่ดีขึ้น อาการมากขึ้นหรือมีอาการอื่น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อแตก ใจสั่น จะเป็นลมร่วมด้วย ให้รีบโทรศัพท์หมายเลข 1669 (สายด่วนฉุกเฉินทางสุขภาพใช้ได้ทั่วประเทศ) แจ้งอาการให้เจ้าหน้าที่ทราบและทำตามคำแนะนำต่อไป ไม่ควรขับรถมาโรงพยาบาลเอง ไม่ต้องรอจนถึงเช้าหรือจนถึงเวลาญาติมาหา
โรคหัวใจขาดเลือดอาจเกิดอาการหมดสติ เสียชีวิตเฉียบพลันได้ ถ้าเราเห็นคนที่กำลังหมดสติค่อยๆ ล้มตัวลงนอน เขย่าตัว เรียกก็ไม่ตอบสนอง เราควรจะทำอะไร
• A.กรอกน้ำหวานใส่ปากคนที่นอนอยู่
• B.รีบโทรศัพท์หมายเลข 1669
• C.รีบเป่าปากช่วยหายใจ
คำตอบคือ ข้อ B
ถ้าเราพบผู้ที่หมดสตินอนอยู่ สิ่งที่ต้องประเมิน คือ ผู้ป่วยมีการบาดเจ็บที่บริเวณคอหรือไม่ เพราะอาจมีกระดูกคอหักกดทับไขสันหลัง จึงควรให้บริเวณคอขยับน้อยที่สุดขณะกู้ชีวิต หรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วย แต่ถ้าเราเห็นว่าผู้ป่วยหมดสติไม่ได้รับการกระทบกระแทกบริเวณคอ ให้รีบโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือที่หมายเลข 1669 หรือสายด่วน 191 ไม่ควรใส่สิ่งใดๆ เข้าปากผู้หมดสติ เพราะอาจสำลักลงหลอดลมหรืออุดกั้นการหายใจ และไม่จำเป็นต้องเป่าปากช่วยหายใจ ถ้าไม่หยุดหายใจ แต่ควรกดนวดบริเวณหัวใจ (ปั๊มหัวใจ) ถ้าทำเป็น (ดูวิธีการกู้ชีวิตผู้ป่วยหมดสติจาก Youtube: Thai BLS CPR 2010 ช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหัวใจขาดเลือด คือ ความดันเลือดสูง ผู้ป่วยความดันเลือดสูง 2 คนเพศเดียวกัน วัยเดียวกัน ปัจจัยเสี่ยงเหมือนกัน ความดันเลือดที่วัดได้ 150/80 เท่ากัน คนหนึ่งกินยาความดันฯ 2 ตัว อีกคนหนึ่งไม่กินยา ถามว่าโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดของ 2 คนนี้เป็นอย่างไร
• A.ทั้ง 2 คนมีโอกาสเสี่ยงเท่ากัน
• B.คนไม่กินยาเสี่ยงน้อยกว่าคนกินยา
• C.คนกินยาเสี่ยงน้อยกว่าคนไม่กินยา
คำตอบคือ ข้อ B
การประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดตลอดชีพที่เรียกว่า QRISK (www.qrisk.org/lifetime/index.php) หรือ ประเมินโอกาสเสี่ยงฯ 30 ปี (Framingham 30-year CV risk score) พบว่าการกินยาลดความดันฯ เป็นปัจจัยหนึ่งในการเพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาวมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้กินยาลดความดันฯ แต่ให้กินยาลดความดันฯ จนคุมระดับความดันฯ พอเหมาะ (ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป) แล้วปรับเปลี่ยนพฤติกรรม “การกินอยู่” ลดความดันฯ ด้วยจนไม่กินยาได้เลย และคุมความดันฯ ได้จะดีที่สุดครับ (กินยาดีกว่า ไม่กิน แต่ “ทำเอง” ดีกว่า กินยาอย่างเดียว)
การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ไม่ว่าจะเป็นแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ผู้ป่วยดังกล่าวจึงควรหยุดสูบบุหรี่ด้วยวิธีอะไร
• A.หักดิบ กำหนดวัน เวลาหยุดสูบบุหรี่แล้วหยุดทันที
• B.เปลี่ยนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า (e-cigarette) แทน
• C.ค่อยๆ ลดการสูบลงทีละมวน
คำตอบคือ ข้อ A
การหยุดสูบบุหรี่จะหยุดสูบได้ก็ต่อเมื่อ “การหยุดสูบบุหรี่” เพิ่มความสุข ลดความทุกข์ของผู้ป่วยได้มากขึ้นกว่าตอนสูบบุหรี่ (ความสุขที่คุณสูบได้) การลดการสูบบุหรี่ทีละมวนหรือใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทน ไม่มีหลักฐานทางวิชาการว่าช่วยลดโอกาสโรคหัวใจขาดเลือด แต่การหักดิบ หยุดสูบบุหรี่ทันที ทำให้โอกาสเสี่ยงดังกล่าวค่อยๆ ลดลงจนเท่าคนที่ไม่ได้สูบในเวลาประมาณ 5 ปี
โรคเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกประการของโรคหัวใจขาดเลือด การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้พอเหมาะวิธีใดน่าจะดีที่สุด
• A.กินยาเบาหวานอย่างเดียว
• B.ฉีดยาเบาหวานอย่างเดียว
• C.เดินหรือออกกำลังกายปานกลางจนแพทย์ให้หยุดยาเบาหวานได้
คำตอบคือ ข้อ C
ยาตัวแรกที่คุณหมอจะสั่งให้ผู้ป่วยเบาหวาน คือ เมทฟอร์มิน ไม่ช่วยลดอัตราการตาย การตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ในขณะที่การออกกำลังกายปานกลาง หรือการเดินช่วยลดการตายดังกล่าวได้ ส่วนการฉีดยาอินซูลีนอาจเพิ่มโอกาสการตาย เพราะเป็นเบาหวานมานาน หรือรุนแรงกว่ากลุ่มที่ไม่ต้องฉีด
จากการศึกษาที่ผ่านมา อาหารชาติใดที่ช่วยลดการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด
• A.อาหารชาวกรีกโบราณ
• B.อาหารชาวญี่ปุ่น
• C.อาหารชาวไทย
คำตอบคือ ข้อ A
อาหารเมดิเตอร์เรเนียน หรืออาหารชาวกรีกโบราณประกอบด้วยอาหาร 9 ประเภทใหญ่ๆ คือ ผัก ผลไม้ ปลา ธัญพืช ไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (น้ำมันมะกอก) มากกว่าไขมันอิ่มตัว (ไขมันสัตว์) ดื่มแอลกอฮอล์ (ไวน์) ปานกลาง เนื้อสัตว์น้อยมาก (ไม่เกินสัปดาห์ละ 2 ครั้ง) เนย นม ไข่ น้อย ทุกๆ 2 ประเภท ที่กินเพิ่มขึ้นจะลดโอกาสตายทุกสาเหตุร้อย 9 ลดการตายจากมะเร็งร้อยละ 6 ลดการเกิดโรคอัลไซเมอร์และพาร์กินสันร้อยละ 13 ส่วนอาหารไทยและอาหารญี่ปุ่นยังไม่มีการศึกษาที่มากพอที่จะสรุป
สรุปว่าโรคหัวใจขาดเลือดเป็นโรคที่พบได้บ่อยและมีเหตุปัจจัยมาจากากรกินอยู่ที่ “อร่อยเกิน สบายเกิน เครียดเกิน หลงอยาก หลงยึดเกิน” การรักษาทางตะวันตก ช่วยเพิ่มโอกาสที่เราจะดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้มากขึ้น การดูแลการกินอยู่ ซึ่งเป็นการป้องกัน จึงสำคัญมากกว่าการรักษาเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน ดังคำกล่าวว่า “กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน” ครับ
ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด
(Some images used under license from Shutterstock.com.)